“สิมอีสาน” ในยุคประชาธิปไตยและความเป็นไทย ช่วงพ.ศ. 2475-2500

สิมสกุลช่างญวนลักษณะเดิมก่อนดัดแปลงเทิบด้านหน้าของวัดบ้านค้อแขม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสิมที่สร้างราว พ.ศ. ๒๔๗๖-๗๙ สันนิษฐานว่าเป็นอีกผลงานหนึ่งของช่างนา เวียงสมศรี โดยเริ่มมีการผสมผสานความเป็นไทยผ่านลักษณะซุ้มหน้าต่างแบบอย่างซุ้มบันแถลงไทย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นครั้งแรกที่รัฐมีนโยบายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยผ่านผู้แทนราษฎร หากพิเคราะห์ในมิติด้านสภาพเศรษฐกิจ สังคมอีสานในช่วงนี้ รัฐบาลให้ความสนใจต่อภาคอีสานด้วยเพราะกลัวจะกลายเป็นของฝรั่งเศส โดยสรุปได้ว่า การขยายตัวของรัฐในช่วงนี้เป็นไปเพื่อเสริมกระบวนการสร้างชาติของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยเฉพาะนโยบายที่เน้นการผลิตเพื่อขายนั้นมีผลกระทบต่อภาคอีสานอย่างมาก และในมิติทางสังคมการเมืองในช่วง 25 ปีดังกล่าวนี้ศาสนาคารโดยเฉพาะสิมและอาฮาม (วิหาร)

ในยุคนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากวัฒนธรรมลาวล้านช้างมาสู่วัฒนธรรมราชสำนักกรุงเทพฯ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงไปกับปัจจัยสังคมการเมืองในขณะนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครองอำนาจทางการเมืองตลอดระยะเวลาในช่วง 15 ปี ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ 1. ช่วง พ.ศ. 2481-87 และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2491-2500 ห้วงเวลาดังกล่าวสภาพสังคมวัฒนธรรมอีสานในขณะนั้น ได้มีการปรับตัวมาแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยทางการพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสาร เช่น มีการขยายเส้นทางการรถไฟ ผลที่ตามมาประการหนึ่งของการขยายการคมนาคมจากส่วนกลางเข้าไปในภาคอีสานนี้ ทำให้คนในภาคอีสานได้รับการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับคนในภาคกลางมากขึ้น ก่อให้เกิดความรู้สึกว่ากรุงเทพฯ คือศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง (สุเทพ สุนทรเภสัช. หมู่บ้านอีสานยุคสงครามเย็น. 2521, น. 13.)

ปัจจัยแวดล้อมด้านการคมนาคมเหล่านี้มีส่วนอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนรสนิยมความชอบต่อรูปแบบศิลปะศาสนาคารอย่างสิม โดยเฉพาะประเด็นสำคัญอย่างการเข้าถึงวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้าง ผ่านวิถีวัฒนธรรมการค้าแบบใหม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้วัฒนธรรมงานช่างแบบเครื่องไม้ ปรับเปลี่ยนมาสู่วัฒนธรรมงานก่ออิฐถือปูน

ค่อนข้างเข้มข้นชัดเจนมากขึ้นควบคู่ไปกับสกุลช่างอื่นๆ ในลักษณะผสมผสานทั้งวัฒนธรรมภายนอกและของท้องถิ่น เช่น สิมแม้จะมีกลุ่มช่างญวนเป็นนายช่างใหญ่ในการก่อรูปศิลปะศาสนาคาร แต่ช่างท้องถิ่นในชุมชนก็ยังมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นงานไม้แกะสลักบานประตู หน้าต่าง คันทวย เครื่องลำยอง อย่างช่อฟ้าปราสาทหางหงส์ หรืออย่างงานตกแต่งอย่างฮูปแต้มหรืองานจิตรกรรมอย่างกรณีของวัดสนวนวารีพัฒนาราม เมืองขอนแก่น วัดโพธิ์ชัยโคกใหญ่ เมืองกาฬสินธุ์ วัดโพธิ์คำ เมืองนครพนม เป็นต้น

สิมวัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ศิลปะเชิงช่างหลวงล้านช้างผสานกับสกุลช่างหลวงกรุงเทพฯ ยุคต้น ซึ่งมีการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นสิมต้นแบบของสกุลช่างเมืองอุบลที่มีลักษณะไทย ก่อนการเข้ามาของโบสถ์มาตรฐาน ก ข ค ในยุควัฒนธรรมการเมืองเรื่องความเป็นไทยแห่งชาติ

โดยระยะแรกกลุ่มช่างญวนมักเน้นรูปทรงและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างง่ายๆ (ซึ่งเป็นหลักพัฒนาการพื้นฐานทางศิลปะ) นอกเหนือจากในบางพื้นที่ที่เปิดโอกาสการให้กลุ่มช่างญวนเหล่านั้นแสดงออกในเชิงศิลปะญวนได้อย่างเต็มที่ ดังกรณีสิมวัดบ้านเซเป็ด วัดบ้านกระเดียน อำเภอตระการพืชผล (มีหอแจกและสิมและธาตุ) วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก (มีหอธรรมาสน์และหอแจกที่มีการตกแต่งรูปทรงและลวดลายด้วยศิลปะอย่างญวน) จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะการแสดงออกแบบอย่างศิลปะญวนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการใช้รูปลวดลายประดับ เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลอื่นแม้แต่ในเขตพื้นที่ที่มีกลุ่มคนญวนอยู่หนาแน่นอย่างนครพนม สกลนคร มุกดาหาร

แม้ในช่วงต้น 15 ปีแรกรูปแบบอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก ด้วยเพราะลักษณะเฉพาะของสังคมวัฒนธรรมอีสาน ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เข้าถึงลำบากและรวมถึงมีจำนวนประชากรมาก ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดความหลากหลายและมีอิสระในการสร้างสรรค์ทั้งกลุ่มที่ต้องการสืบสานรูปแบบวัฒนธรรมล้านช้างแบบอนุรักษนิยม และกลุ่มสกุลช่างญวน หรือกลุ่มที่ผสมผสานวัฒนธรรมพื้นเมืองกับรูปแบบภายนอก ดั่งกรณีสิมวัดบ้านเอียด เมืองมหาสารคาม ที่มีการบูรณาการเชิงช่างหรือบางส่วนก็สอดแทรกกรอบแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ร่วมของผู้คนในสังคมให้มีความหวังในโลกหน้าอย่างแน่นแฟ้น คือ การอดออม อดทน สร้างบุญบารมีชาตินี้เพื่อเสวยสุขในโลกหน้า (โลกพระศรีอาริย์)

แต่ท้ายที่สุด ทุกสายสกุลช่างต่างๆ ก็ปรับตัวยอมรับ เข้าหารูปแบบสายสกุลช่างราชสำนักกรุงเทพฯ ที่ทรงพลัง อย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก จากนโยบายรัฐนิยมแห่งความเป็นไทย ที่เริ่มเข้มข้นตั้งแต่ พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา ดั่งที่มีการผลิตสร้างแบบโบสถ์ สำเร็จรูป ก ข ค ของกรมศิลปากรซึ่งออกแบบโดยพระพรหมพิจิตร

แต่ในพื้นที่อีสานช่วงแรกๆ อิทธิพลดังกล่าวก็ยังถือว่าเข้ามามีบทบาทไม่มากนัก สำหรับวัดชนบทรอบนอกโดยความเข้มข้นจะเกิดกับวัดในเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่ตามสายการปกครองคณะสงฆ์ไทยที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งกลไกลการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมประดิษฐที่ว่า ลักษณะไทย และทั้งหมดได้กลืนกลายรสนิยมจากวัฒนธรรมงานช่างล้านช้างมาสู่สกุลช่างญวน มาสู่สายสกุลช่างแบบอย่างศิลปะไทยราชสำนักกรุงเทพฯ

แม้การสร้างในความเป็นจริงจะไม่ได้ลอกเลียนลักษณะโบสถ์แบบ ก ข ค ทั้งหมดแต่อย่างใด หากแต่เป็นการผสานผสมในรสนิยมเชิงช่างร่วมกัน ที่อาจอธิบายได้ว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะด้วยข้อจำกัดด้านเทคนิควัสดุการก่อสร้างหรือแม้แต่ฝีมือช่างที่มีข้อจำกัดของความถนัดเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน และสำคัญจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ช่างพื้นถิ่นอีสานก็เรียนรู้พัฒนาฝีมือกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสายสกุลช่างของตนเอง แม้แต่กลุ่มช่างญวนส่วนใหญ่ก็สามารถเรียนรู้ความเป็นไทยในเชิงศิลปะมากขึ้น จนสามารถจัดอยู่ในกลุ่มช่างราชสำนักเช่นสายสกุลช่างญวนที่มีฝีมือที่โดดเด่นมากในแถบอีสานเหนืออย่าง องแมด จันดี หรือที่เรียกกันว่า องแมด ก็สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเช่นวัดกลาง และอีกหลายแห่งในจังหวัดนครพนม หรือในแถบอุดรธานีก็มี องกู่วันฝ่อ ซึ่งมีผลงานสำคัญในการสร้างศาลากลางหลังเก่าของจังหวัดอุดรธานี เป็นต้น

ลวดลายรูปทรงลักษณะไทยที่ด้านหลังสิมสกุลช่างญวน ณ วัดแก้วรังสี อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ฝีมือ องนา เวียงสมศรี

โดยศิลปะไทยมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วง พ.ศ. 2487 เป็นต้นมาและแพร่หลายมากในช่วง พ.ศ. 2491-2500 ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้ายของการครองอำนาจทางการเมืองสูงสุดของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับบทบาททางการเมือง

กลุ่มสกุลช่างญวนถือเป็นสกุลช่างสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างนวัตกรรมด้านศาสนาคารอีสาน ผ่านปัจจัยตัวแปรจากการกดขี่ด้านการนับถือศาสนาหรือการเคลื่อนย้ายหนีภัยการเมืองภายในและปัจจัยการเมืองภายนอกจากภาวะสงคราม ในยุคสมัยการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส การเข้ามาของกลุ่มชาวญวนในหลายช่วงเวลา ซึ่งในแถบอีสานใต้มีนายช่างญวนที่มีชื่อเสียงและผลงานที่โดดเด่นมากท่านหนึ่งที่ชื่อ องนา เวียงสมศรี ดั่งปรากฏหลักฐานผลงานออกแบบก่อสร้างชิ้นสำคัญอย่างน้อยตั้งแต่ในพ.ศ. 2473 ดังผลงานที่ปรากฏอยู่ที่สิมและธาตุวัดโพนเมือง (มีลักษณะศิลปะไทย) และวัดบ้านกระเดียน เมืองอุบลราชธานี สร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2477 (มีลักษณะศิลปะแบบญวนผสมตะวันตก) และในแถบอีสานเหนือจะมี องแมด จันดี ที่มีผลงานอยู่มากมายในแถบนครพนม

ในส่วนช่างท้องถิ่น จะมีนายช่างคำหมา แสงงาม และ นายช่างหล้า จันทรวิจิตร ซึ่งเป็นศิษย์เอกแห่งสำนักพระครูวิโรจน์ รัตโนบล ช่างพระที่มีชื่อเสียงในงานช่างซึ่งได้ไปบูรณะองค์พระธาตุพนม จุดเด่นของสายสกุลช่างสำนักนี้คือมีรูปแบบที่รับอิทธิพลจากราชสำนักกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก จากข้อมูลทำให้เห็นว่ากลุ่มช่างท้องถิ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้เคยร่วมงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงช่างซึ่งกันและกัน เช่น สายสกุลช่างหล้า จันทรวิจิตร ได้เคยร่วมงานกับ องนา เวียงสมศรี เป็นต้น และในด้านเทคนิคการก่อสร้างที่โดดเด่นในยุคนี้คือการประดับรูปลวดลายปูนปั้นสด แบบนูนต่ำ ซึ่งเป็นลักษณะร่วมกันที่สำคัญ ส่วนเทคนิคงานไม้แกะสลักและงานโครงสร้างไม้เป็นบทบาทของช่างพื้นถิ่น

สามารถอ่านเพิ่มเติม “สิมอีสาน” ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ตามลิงค์นี้ “สิมอีสาน” ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

โปรดรอติดตามอ่าน สิมในแต่ละยุคสมัยอีก 2 ช่วงสำคัญ ยุคสงครามเย็น (พ.ศ. 2500-34) และยุคอีสานพัฒนาและความเสมอภาค (พ.ศ. 2534-ปัจจุบัน) ในเร็วๆ นี้


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 10 ธันวาคม พ.ศ.2560