“สิมอีสาน” ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

วัฒนธรรมงานช่างประเภทศาสนาคาร สิม หรือที่เรียกกันตามสมัยนิยมยุคปัจจุบันว่าโบสถ์ หรือพระอุโบสถ ตามคำเรียกในวัฒนธรรมงานช่างภาคกลาง หากในรากศัพท์สำเนียงไท-อีสานโบราณนิยมเรียกกันอย่างสามัญว่าสิม ซึ่งสันนิษฐานกันว่ากร่อนมาจากคำว่า สีมา โดยสิมหรือโบสถ์ถือเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของวัดในอีสาน แม้จะไม่มีระเบียบแบบแผนการวางผังที่ชัดเจนมากนัก

วิหารยุคอีสานเก่าในวัฒนธรรมลาว ณ วัดหลวง วัดแรกสร้างของเมืองอุบล (สร้างราว พ.ศ. ๒๓๓๗ เมื่อชำรุดได้รื้อไปราว พ.ศ. ๒๔๙๒ (ภาพโดย คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ปราชญ์เมืองอุบลผู้ล่วงลับ) ศิลปะสถาปัตยกรรมที่สืบต่อสายสกุลช่างหลวงล้านช้าง ในบริบทพื้นที่การเมืองอีสานของกลุ่มเจ้านายพื้นเมืองที่สืบทอดรูปแบบในเชิงช่างมาจากวัฒนธรรมหลวงล้านช้าง
สิม ยุคอีสานเก่าวัฒนธรรมลาว วัดกลางมิ่งเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด (ภาพจากหอจดหมายเหตุ) สิมสกุลช่างหลวงหลังนี้มีประวัติว่าเจ้าอนุวงศ์มาสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ โดยมีช่างจากราชสำนักเวียงจันทน์และสยามมาร่วมสร้าง และมีการบูรณะซ่อมสร้างครั้งสำคัญในยุคอุดมการณ์สร้างความเป็นไทย พ.ศ. ๒๔๘๓-๘๔ โดย นายช่างคำหมา แสงงาม

สิมอีสานในยุคก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ นโยบายของรัฐช่วงนี้จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองภาพรวมมีลักษณะมุ่งเน้นการควบคุมส่วนภูมิภาคมากกว่าการให้บริการ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่รัฐใช้เพื่อผนึกภูมิภาคนี้ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกรอบของพื้นที่การเมืองรัฐไทย โดยภาพรวมพื้นที่การเมืองในภาคอีสานมีอิทธิพลศิลปะสถาปัตยกรรมแบบอย่างวัฒนธรรมลาวล้านช้างเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก โดยสิมอีสานล้วนมีรูปแบบลักษณะแบบอย่างศิลปะลาวล้านช้างในรูปแบบสายสกุลช่างพื้นบ้าน ซึ่งมีเหตุปัจจัยมาจากความมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองร่วมกัน โดยเฉพาะมิติทางด้านเชื้อชาติ ดั่งตัวอย่างร่องรอยศิลปะสถาปัตยกรรมสกุลช่างหลวงล้านช้าง

สิมในยุคอีสานเก่า ณ วัดไตรภูมิ บ้านผือฮี จังหวัดร้อยเอ็ด โดดเด่นด้วยเอวขันเอกลักษณ์สกุลช่างเมืองร้อยเอ็ด ที่ได้รับการบูรณะคืนชีวิตรูปแบบเดิมอีกครั้ง

ดั่งที่ปรากฏหลักฐานอยู่ตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ เช่น กลุ่มการเมืองสายพระวอพระตาแห่งเมืองเวียงจันทน์ ที่แยกตัวและสถาปนาเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองใหม่ในพื้นที่อีสาน ดั่งที่ปรากฏหลักฐานการสร้างวิหารวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดแรกในการตั้งเมืองอุบลราชธานี (สร้างราว พ.ศ. ๒๓๓๗ และเมื่อชำรุดทรุดโทรมจึงได้รื้อทิ้งใน พ.ศ. ๒๔๙๒) หรือจะเป็นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ดั่งปรากฏหลักฐานที่รูปแบบสิมของวัดกลางมิ่งเมือง แห่งเมืองร้อยเอ็ด และในแหล่งพื้นที่การเมืองสำคัญอื่นๆ เช่น สิมวัดพระเหลาเทพนิมิต สิมวัดมหาธาตุ วัดศรีคุณเมือง เมืองเลย วิหารวัดมโนภิรมย์ เมืองมุกดาหาร ทั้งหมดล้วนมีอิทธิพลศิลปะแบบอย่างสายสกุลช่างหลวงล้านช้างทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยในยุคสมัยนี้หากมองด้วยกรอบแนวคิดล้านช้างนิยม จะถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองในงานช่างแขนงนี้ ที่ผู้เขียนเรียกว่าศิลปะสถาปัตยกรรมยุคอีสานเก่า

ในบทความนี้ผู้เขียนยังนำเสนอสิม หรือวิหารในอีสาน ในมิติแห่งห้วงกรอบของเวลาแต่ละยุคสมัย โดยได้แบ่งพัฒนาการตามปัจจัยเงื่อนไขทางสังคมออกเป็น ๓ ช่วงสำคัญ คือ

๑. ช่วงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๐ (ยุคประชาธิปไตยและความเป็นไทย)

๒. ช่วงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐๓๔ (ยุคสงครามเย็น)

และ ๓. ช่วงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔-ปัจจุบัน (ยุคอีสานพัฒนาและความเสมอภาค)

โปรดรอติดตามอ่าน สิมในแต่ละยุคสมัยอีก ๓ ช่วงสำคัญ ในเร็วๆ นี้


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 10 ธันวาคม พ.ศ.2560