ประวัติ “ฮูปแต้มอีสาน” สกุลช่างโสภา ปางชาติ ณ สิมเก่า วัดหนองเหล่า เมืองอุบล

ฮูปแต้ม อีสาน อุบลราชธานี วัดหนองเหล่า
ตำแหน่งฮูปแต้มที่สิม โดยใช้ฮูปแต้มประดับผสานตามโครงสร้างอาคารที่มีต่อเทิบหลังคาด้านหน้า

พาไปศึกษา ฮูปแต้ม วัดหนองเหล่า ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองเหล่า อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ชุมชนแห่งนี้เป็นเมืองเก่ามาก่อน ดังปรากฏหลักฐานด้านโบราณคดีจากกลุ่มใบเสมาโบราณจำนวนมาก รวมถึงข้อมูลจากคนในพื้นที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมชื่อว่า “เมืองคอนสวรรค์” โดยเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีผู้นำ 2 คนมาสร้างบ้านแปลงเมือง คนหนึ่งคือพระ ชื่อหลวงพ่อศิลา และผู้ติดตามคือ นายบุญ ได้นำชาวบ้านจากบ้านโพนเมืองจำนวน 7-8 ครอบครัวมาตั้งรกรากที่บ้านหนองเหล่า เมื่อปี พ.ศ. 2250 โดยตั้งบ้านและวัดขึ้นพร้อมกัน

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2400-30 มีประชากรเพิ่มขึ้นถึง 70-80 หลังคาเรือน จนได้ขยายบ้านเรือนออกไป ดังนั้น ศิลปวัตถุที่สำคัญของวัด อย่างสิมวัดแห่งนี้ เดิมน่าจะมีการซ่อมสร้างมาเรื่อย ๆ จนมาถึงในยุคหลังที่มีการซ่อมสร้างและได้มีการบันทึกการสร้างครั้งสำคัญดั่งที่มีหลักฐานจารึก ปรากฏอยู่เหนือธรณีประตูทางเข้าด้านหน้าสิมว่า

Advertisement

“พระพุทธศักราช 2470 ข้าพเจ้า พระครูสา บ้านหนองเหล่า ได้พร้อมสานุศิษย์ภิกษุ 17 รูป สามเณร 9 รูป ทั้งอุบาสกอุบาสิกา และพระครูวันดี อุปัฌาย์บ้านผักแว่นเป็นต้น ได้สร้างโบสถ์หลังนี้เมื่อปีเถาะจึงสำเร็จมะโรง พ.ศ. 2471 และมีผู้ใหญ่เคนผู้ใหญ่ยู่เป็นประธาน”

ฮูปแต้ม อีสาน อุบล
ส่วนเรือนผนังที่มุขเสาเทิบ แต้มเป็นเรื่องสังข์สินไชย มีการใช้ลวดลายเขียนสีเป็นส่วนประดับตกแต่งซุ้มประตู กรอบตกแต่งช่องเปิด

สิมหรือโบสถ์หลังนี้ เป็นรูปแบบสิมสกุลช่างพื้นบ้านที่มีขนาดเล็ก ๆ แบบอย่างเดียวกันกับวัดหลาย ๆ แห่งอย่างวัฒนธรรมลาวทั่วไป โดยที่อยู่ใกล้กัน ก็มีแบบอย่างเดียวกันกับวัดบ้านผักแว่น หากแต่สิมหลังนี้มีความโดดเด่นแตกต่าง อยู่ที่วัดหนองเหล่ามีการใช้ ฮูปแต้ม ประดับตกแต่งผิวผนังภายนอก ด้านหน้าและส่วนบริเวณสีหน้าหรือหน้าบันของอาคาร (ด้านในไม่มีฮูปแต้ม)

สำหรับประเด็นประวัติความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับผลงานฮูปแต้ม ที่แต้มอยู่ที่สิมหลังนี้ น่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงหลังปี พ.ศ. 2471 หลังจากสร้างสิมหลังนี้แล้วเสร็จ แต่บันทึกดังกล่าวมิได้กล่าวถึงช่างที่มาเขียนว่าคือใคร มาจากไหน หรือเขียนขึ้นเมื่อไร แต่เมื่อสืบข้อมูลต่อในพื้นที่ จึงได้ความว่าคือช่างโสภา ปางชาติ และจากการติดตามสืบค้นจากลูกหลานท่าน ทำให้ทราบว่าช่างโสภาเป็นช่างเขียนรูปที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับมากในยุคนั้น โดยน่าจะร่วมสมัยกับกลุ่มช่างรุ่น ๆ ช่างนา เวียงสมศรี หรืออาจเป็นศิษย์พระครูวิโรจน์ รัตโนบล แห่งสำนักช่างวัดทุ่งศรีเมือง ยุคเดียวกันกับ ช่างคำหมา แสงงาม ช่างหล้า จันทรวิจิตร

ฮูปแต้ม อีสาน อุบล วัดหนองเหล่า
ภาพตัวละครเอก ท้าวสินไชย และตัวสีโห เรื่องสังข์สินไชย

แต่ที่แตกต่างคือช่างโสภา มีความโดดเด่นด้านการเขียนฮูปแต้มมากกว่าการออกแบบสร้างศาสนาคารอย่าง สิม วิหาร โดยท่านเน้นหนักความเชี่ยวชาญไปด้านเขียนรูป โดยรับจ้างเขียนรูปที่ผืนผ้าผะเหวด (และน่าจะเขียนรูปฮูปแต้มตามวัดวาต่าง ๆ ด้วย) ดั่งปรากฏหลักฐานจากผืนผ้าผะเหวดที่วัดท่าโพธิ์ศรี ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีชาวต่างชาติติดตามมาศึกษาและนำผลงานผ้าผะเหวดของท่านไปจัดแสดงต่างประเทศและพิมพ์เผยแพร่ผลงานในหนังสือเรื่อง BUDDHIST STORYTELLING IN THAILAND AND LAOS  By Leedom Lefferts and Sandra Cate

โดยหนังสือเล่มดังกล่าว มีข้อมูลรูปถ่ายของท่านคือช่างโสภา ปางชาติ ว่าเป็นช่างมาจาก บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยระบุว่ารับเขียนภาพทุกเรื่องจากโบสถ์ วิหาร เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการติดตามผลงานอื่น ๆ ของท่านมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป

ฮูปแต้ม อีสาน อุบล วัดหนองเหล่า
ภาพเรื่องราวในนรกภูมิ แสดงผลของการกระทำผิดในเรื่องต่างๆ ภาพกระทะทองแดง กับคนบาปที่ทำผิดกำลังถูกลงโทษให้ปีนต้นงิ้ว มีพระมาลัยมาโปรดสัตว์ในนรกภูมิ

พัฒนาการในภาพรวมกล่าวได้ว่า ฮูปแต้ม นั้นมีพัฒนาการมาจากการวาดฮูปบนผืนผ้าผะเหวด ต่อมาได้พัฒนามาสู่ผืนผนังศาสนาคาร ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้าง ก่ออิฐถือปูน อันเป็นสิ่งนำเข้าจากวัฒนธรรมการค้าขายของชาวจีนที่เข้ามามีบทบาททางการค้าในอีสานโดยนำเข้าเทคโนโลยีการสร้างตึกดิน โดยช่างพื้นบ้านอีสานได้เรียนรู้และนำเทคนิคดังกล่าวมาปรับประยุกต์ใช้กับอาคารทางศาสนา อย่าง สิม ธาตุ รวมถึงเทคนิคการทำช่องเจาะด้วยลักษณะซุ้มวงโค้ง ที่มักเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเป็นเอกลักษณ์หรือเทคโนโลยีนำเข้าจากช่างญวน

ซึ่งในความเป็นจริงจากข้อมูลภาคสนามหลายแห่ง พบว่าช่างชาวอีสานได้ใช้รูปแบบนี้มาก่อนแล้ว ตามที่ได้อธิบายไว้ในเบื้องต้น ดั่งที่ปรากฏอยู่ตามสิมพื้นบ้านหลายแห่งในอีสาน หรือแม้แต่ที่เมืองอุบลโดยเฉพาะในเขต อำเภอเขื่องใน ก็ล้วนแล้วแต่พบคตินิยมการสร้างสิมในลักษณะเดียวกับวัดหนองเหล่า ที่มีการทำช่องเปิดผนังก่อเชื่อมระหว่างเสาด้วยซุ้มวงโค้ง และซุ้มโค้งกลีบบัว โดยทั้งหมดไม่มีประวัติเกี่ยวเนื่องกับการว่าจ้างช่างญวนมาสร้างแต่อย่างใด

ฮูปแต้ม อีสาน อุบล วัดหนองเหล่า
ภาพเรื่องราวในนรกภูมิ แสดงผลของการกระทำผิดในเรื่องต่างๆ ภาพกระทะทองแดง กับคนบาปที่ทำผิดกำลังถูกลงโทษให้ปีนต้นงิ้ว มีพระมาลัยมาโปรดสัตว์ในนรกภูมิ

ฮูปแต้ม นอกจากจะนิยมเขียนอยู่ตามผนังสิม (โบสถ์) บางแห่งก็เขียนไว้บริเวณคอสองของผนังหอแจก หรือวิหาร รวมถึงผนังตัวเรือนของหอธรรมาสน์ ก็มีปรากฏด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ฮูปแต้มอีสานแตกต่างจากพื้นที่วัฒนธรรมอื่น ๆ คือ ช่างแต้มนิยมเขียนฮูปแต้มไว้ตามผนังด้านนอกตัวอาคาร โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี (แต่ทั้งนี้ก็มีบางส่วนที่นิยมเขียนอยู่ภายในสิม หรือเขียนทั้งภายนอกและภายในก็มีปรากฏอยู่เช่นกัน)

คตินี้น่าจะสอดคล้องกับจารีตอีสานที่ไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปในสิม และหากพิจารณาในด้านของประโยชน์ใช้สอยแล้วถือว่ามีความเหมาะสมในการเผยแพร่ ที่ใกล้ชิดในการดูภาพ เพื่อเข้าถึงเนื้อหาเรื่องราวในรูปเขียน ที่ต้องการให้ทุกคนทุกเพศทุกวัยสามารถเดินชมฮูปแต้มได้อย่างสะดวก โดยมีหลังคากันสาดหรือหลังคาปีกนกปกคลุมป้องกันแดดฝนโดยรอบฮูปแต้ม

ดังกรณีฮูปแต้มที่ปรากฏอยู่ที่บริเวณมุขหลังคาที่เป็นเทิบยื่นออกมาภายนอกบริเวณโถงของสิมวัดบ้านหนองเหล่า ซึ่งมีฮูปแต้มเฉพาะภายนอก ส่วนภายในไม่มีการเขียนแต่อย่างใด ทั้งหมดก็สะท้อนกรอบแนวคิดทางสังคมแบบปิตาธิปไตp (ผู้ชายเป็นใหญ่) นี้ได้เป็นอย่างดี

ฮูปแต้ม กับสังคมวัฒนธรรม

ฮูปแต้มอีสาน (ในอดีต) สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะโครงสร้างสังคมแบบเสมอภาคโดยเฉพาะเรื่องราววิถีที่เกี่ยวกับชาวบ้าน สะท้อนให้เห็นค่านิยมบางอย่างของความเป็นกันเองมาก แตกต่างจากสังคมที่มีกฎเกณฑ์หรือถูกครอบงำอย่างภาคกลาง (ศรีศักร วัลลิโภดม. “สภาพสังคมที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนัง,” ใน สิ่งที่แฝงเร้นในจิตรกรรมฝาผนังอีสาน. เอกสารประกอบการประชุม, 2526, น. 81-84.)

โดยเฉพาะสาระในรูปแม้จะเป็นเรื่องชาดกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รามเกียรติ์หรือรามายณะ ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญคือการสดุดีพระเจ้าแผ่นดินในฐานะของพระนารายณ์อวตารมาปราบยุคเข็ญแก่มวลมนุษย์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในราชสำนักของอินเดียและเป็นที่นิยมมาก

ฮูปแต้ม อีสาน อุบล วัดหนองเหล่า
ภาพเรื่องราวในนรกภูมิ แสดงผลของการกระทำผิดในเรื่องต่างๆ ภาพกระทะทองแดง กับคนบาปที่ทำผิดกำลังถูกลงโทษให้ปีนต้นงิ้ว มีพระมาลัยมาโปรดสัตว์ในนรกภูมิ

โดยเฉพาะเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดกเวสสันดร อดีตพระพุทธเจ้า พระมาลัย นรกภูมิ ตลอดจนนิทานประโลมโลกย์หรือนิทานม่วนซื่นพื้นบ้าน สินไซ สุริวงศ์ อรพิม พระลักพระลาม และที่สำคัญที่สุดคือ การบอกเล่าประเพณีศิลปวัฒนธรรมผู้คนท้องถิ่น เช่น ประเพณีฮดสรง งานบุญผะเหวด พิธีเผาศพ ประเพณีสู่ขวัญ การละเล่นหมอลำหมอแคน ประเพณีการลงข่วง รสนิยมลักษณะการแต่งกายทั้งคนพื้นเมืองและคนต่างวัฒนธรรม รวมถึงการแสดงออกทางเรื่องเพศอย่างซื่อตรง ด้วยเส้นสายลายสือที่เน้นความเรียบง่ายตรงไปตรงมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มช่างพื้นบ้านจะเห็นได้อย่างชัดเจนเฉกเช่น ที่วัดสงวนวารีพัฒนาราม วัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

สาระสำคัญที่พบอยู่ในงานฮูปแต้มอีสานที่โดดเด่นมากของวัดหนองเหล่าแห่งนี้ นอกเหนือจากจะเป็นการค้นพบแหล่งข้อมูลฮูปแต้มอีสานแหล่งใหม่ ๆ แล้ว สาระรูปเรื่องราวต่าง ๆ ยังสะท้อนโลกทรรศน์ทางสังคมในยุคนั้น อย่างเทคนิควิธีการเขียน (ใช้การตัดเส้นด้วยสีดำ โดยมีสีฟ้าและสีเหลืองเป็นโทนสีหลัก) อย่างตัวพระตัวนางลักษณะเสื้อผ้าหน้าผมมือเท้าต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานศิลปะในเชิงช่างหลวงกรุงเทพฯ หากแต่ยังคงเทคนิครูปแบบการเขียนลักษณะช่างพื้นบ้าน โดยเฉพาะการเลือกใช้สีพื้นฉากหลังรูปด้วยสีพื้นขาว ซึ่งแตกต่างจากขนบช่างหลวงที่นิยมใช้สีพื้นฉากหลังด้วยสีทึบหนัก โดยรูปเรื่องราวยังคงเป็นเรื่องพระมาลัย นรกภูมิ นิทานม่วนซื่น สังข์สินไชย โดยเฉพาะผนังด้านประตูทางเข้า

นายช่างโสภา ปางชาติ สมัยบวชเรียน (ภาพโดย Leedom Lefferts and Sandra Cate)
พระครูใบฎีกา สังข์ทอง อายุ ๖๘ ปี พระสงฆ์ผู้ให้ข้อมูล

ในภาพรวมจะเน้นเรื่องที่เกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษของศีล 5 อันที่เป็นหลักพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน อย่างภาพตอนนรกภูมิ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการต้องการปลุกจิตสำนึกในเรื่องบาปบุญคุณโทษ เรื่องกฎแห่งกรรม โดยสอดแทรกวิถีการแสดงออกอย่างชาวบ้านเข้าไปในเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมความบันเทิงการละเล่นที่สนุกสนานที่โป๊ ๆ เปลือย ๆ หัวล้านชนกัน อย่างในวิถีชาวบ้านที่ซื่อ ๆ ไร้มารยาดัดจริต โดยมีการรับหรือเลียนแบบวัฒนธรรมบางอย่างตามรสนิยมจากภายนอกเข้ามา

อย่างภาพทวารบาลรูปทหารยาม ผสมผสานกับวัฒนธรรมของตนเองอย่างเป็นเอกลักษณ์ผ่านการเล่าเรื่องด้วยภาพแบบฉบับสกุลช่างชาวบ้านและสกุลช่างชาวเมืองที่รับอิทธิพลจากช่างหลวงทั้งสายราชสำนักลาวและราชสำนักกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่รับวัฒนธรรมหลวงกรุงเทพฯ ค่อนข้างมากเช่นเดียวกับ วัดทุ่งศรีเมือง วัดบ้านนาควาย ของเมืองอุบล วัดตะคุที่โคราช วัดหัวเวียงรังสี วัดโพธิ์คำ วัดพุทธสีมา เมืองนครพนม วัดโพธาราม วัดป่าเรไรย์ ที่มหาสารคาม เป็นต้น

ฮูปแต้มอีสาน ณ วัดหนองเหล่า ถือเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ ๆ ด้านสิมและฮูปแต้มศึกษา ที่เพิ่งได้รับการค้นพบกล่าวถึงในกลุ่มคนที่สน ในวงแคบ ๆ หากในวงกว้างหรือวงวิชาการ ยังไม่เป็นที่รู้จักรับรู้มากนัก ถือเป็นงานช่างที่มีคุณค่า ผ่านการแสดงออกโดยไม่จำเป็นต้องมีความประณีตบรรจงเสมอไป

ช่างแต้มอาจทำงานอย่างหยาบและรวดเร็ว แต่เปี่ยมด้วยอารมณ์และความมีชีวิตจิตใจ อีกทั้งคุณลักษณะทางความงามที่ผสมผสานกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมภายในแห่งที่ว่างทางสถาปัตยกรรมขนาดเล็กในแบบฉบับ “ศิลปะพื้นบ้าน” ที่สัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับงานสถาปัตยกรรม และที่สำคัญคือ สามารถสื่อสารกับชาวบ้านได้อย่างเป็นธรรมชาติตามฐานานุรูปทางสังคมและวัฒนธรรม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2560 และปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 19 มีนาคม 2566