ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2555 |
---|---|
ผู้เขียน | ติ๊ก แสนบุญ |
เผยแพร่ |
“เกวียน” ถือได้ว่าเป็นพาหนะซึ่งมีอยู่ทุกวัฒนธรรม โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งแพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างมาก จึงทำให้ “เกวียนอีสาน” ที่ ชาวอีสาน ผลิตขึ้นมีลักษณะแตกต่างและโดดเด่นยิ่งกว่าภาคอื่น
เกวียนอีสาน พาหนะคู่ชีวิต
วิถีสังคมเก่า “ชาวอีสาน” เป็นสังคมที่นิยมใช้เส้นทางการค้าการขนส่งหรือสัญจรโดยทางบกมากกว่าทางน้ำ ด้วยเพราะวิถีการผลิตของชาวอีสาน ต้องทำไร่นาตลอดช่วงฤดูฝนจนสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยว แล้วจึงเริ่มออกเดินทางในช่วงหน้าแล้ง ไม่เกินเดือน 6 การขนส่งหรือเดินทางทางน้ำจึงไม่สะดวก เนื่องด้วยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นหน้าแล้งที่น้ำลดมากไม่เหมาะแก่การเดินเรือ เพราะจะติดแนวหินตามแก้งหรือแก่ง
ทั้งหมดจึงเป็นสาเหตุให้ ชาวอีสาน นิยมเดินทางในเส้นทางบก ซึ่งการเดินทางลักษณะดังกล่าว ต้องอาศัยพาหนะที่เรียกกันทั่วไปว่า เกวียน ซึ่งมีอยู่ทุกวัฒนธรรม เหมือนเป็นพาหนะคู่ชีวิตของผู้คนในทุกสังคมเพื่อใช้บรรทุกพืชผลทางการเกษตร และการเดินทางขนส่งทางบก รวมถึงประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ในโอกาสพิเศษ ในฐานะพาหนะบรรทุกเครื่องพิธีร่วมขบวนแห่ในงานบุญ ประเพณีต่าง ๆ หรือแม้แต่เป็นพาหนะเคลื่อนศพ-แห่ศพด้วย
ระหว่างการเดินทาง ยังเป็นเสมือนที่พักอาศัยชั่วคราวขนาดย่อมเคลื่อนที่ได้ ดั่งมีคำเก่าในล้านนาที่เรียกเกวียนว่า ล้อเฮือน โดยเมื่อปลดวัวควายออกและใช้ไม้ค้ำหัวเกวียน เกวียนก็จะกลายเป็นที่อาศัยหลับนอนทั้งด้านบนและด้านล่าง โดยเฉพาะแบบที่มีประทุน เกวียนจะช่วยบังหมอกและน้ำค้างในยามค่ำคืนหรือกันแดดฝนในช่วงเวลากลางวัน อย่างในกองคาราวานการค้าวัวควายเกวียนยังทำหน้าที่เป็นแนวปราการป้องกันไม่ให้วัวควายหนีหรือถูกขโมย
นอกจากนี้ยังมีบทกวีที่ อาจารย์ วิโรฒ ศรีสุโร ได้รจนาสะท้อนให้เห็นถึงเกวียนกับวิถีชีวิตชาวนาอีสานไว้อย่างน่าฟังว่า
“…จอดเกวียนบังกินข้าวงาย (ข้าวเช้า) พอหายเหนื่อย ลมพัดเอื่อยกลางทุ่งกว้างห่างเมืองหลวง เพียรปักดำตรำแดดรอแตกรวง เป็นผลพวงจากหยาดเหงื่อเพื่อพวกเรา…มีลูกชายสามคนขนใส่เกวียน ฤดูเปลี่ยนวันผ่านสังขารถอย ยังดำปลูกจนลูกโตเดินตามรอย ชาวนาเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างเดียว…ได้นั่งเกวียนไปเรียนหนังสือถือว่าโก้ เปลี่ยนเป็นโตโยมิตซูดูน่าขัน ไร้มลพิษรถติดไร้กลิ่นควัน ปั๊มน้ำมันฉันไม่สนคนกับควาย…ปลดเกษียณเกวียนจอดนิ่งเคยวิ่งแล่น เพื่อนดีแสนรู้ลำบากรู้ยากเข็ญ เป็นชาวนาอยู่อีสานผ่านลำเค็ญ ไร้ผู้เห็นความเป็นคน…จนวันนี้…” (วิโรฒ ศรีสุโร. บันทึกอีสานผ่านเลนส์, 2543, น. 102-110.)
ในมิติทางภาษาอีสานจะเรียกเกวียนว่า เกียน ตามสำเนียงเสียงของคนอีสาน รวมทั้งคนภาคใต้ก็ใช้คำเรียกทั้งเกียนและเกวียนด้วย และบางแห่งก็ใช้คำว่า ล้อ ซึ่งหมายถึงเกวียนได้ด้วย (อย่างทางภาคเหนือเรียกเกวี๋ยน บางทีเรียกล้อก็มี ซึ่งในอดีตเคยมีเรียกว่าล้อเฮือน)
ส่วนคำว่า ระแทะ เป็นคำเรียกเกวียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะในอีสานเมื่อมีการถอดประทุน ซึ่งทำหน้าที่เป็นหลังคาและผนังปิดล้อมในตัว บางทีเรียกกระทุน เขมรเรียกประตุล โบราณอีสานเรียกพวงเกวียน
ภายนอกเป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่ กว้างยาวขนาดเรือนเกวียน รูปโค้งสูงขนาดคนเข้าไปนั่งได้ มักทาด้วยยางรักขมุกสีดำ ผนังด้านในแต่เดิมจะใช้ใบตาลรองกรุ แล้วปิดขนาบด้วยฮางพวงเกวียนที่ทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นตาราง แล้ววางไม้ทาบ และผูกมัดให้แข็งแรง ใช้วางครอบเกวียนเวลานำสิ่งของจำนวนมากเดินทางไกล เมื่อเอาประทุนออกจากตัวเกวียนแล้วชาวบ้านจะเรียกเกวียนของตนว่าระแทะ (ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์. อีสานเมื่อวันวาน. 2534, น. 123.)
บางทีก็เรียกรันแทะ หรือกระแท บางแห่งเรียกกระแทะ เป็นคำเรียกที่รับมาจากภาษาเขมร คือระแตะ หรือระเต็ฮ นอกจากนี้ยังมีพาหนะอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า สาลี ซึ่งท้องถิ่นอีสานในอดีตจะใช้เรียกยานพาหนะที่มีลักษณะเหมือนเกวียน
สาลี มีไว้ใช้บรรทุกของหนัก เช่น ต้นไม้ทั้งต้น มีทั้งขนาดใหญ่ที่ใช้ควายหรือวัวลาก และขนาดเล็กที่ใช้คนหลายสิบคนลากไปในทางราบ ต่อมาภายหลังมักเรียกกันทั่วไปว่า สาลี่ ซึ่งมักจะเรียกรวมถึงล้อพ่วงด้วย ในวัฒนธรรมภาคใต้จะเรียกว่าหนวน หรือหลวน ที่ใช้เรียกพาหนะคล้ายเกวียนแต่ไม่มีล้อ ซึ่งทั่วไปจะหมายถึงเลื่อนที่ใช้บรรทุกของหนัก
เกวียน กับบทบาท “วัตถุ” ทางวัฒนธรรม
เกวียน ยังถูกบันทึกไว้ในฐานะวัตถุทางวัฒนธรรมที่มีความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตอย่างหลากหลายมิติ เช่น ในงานภาษาทางวรรณกรรมแบบนิทาน ตำนาน ประวัติศาสตร์ และในรูปของผญา ภาษิต คำพังเพยต่าง ๆ หรือการละเล่นของเด็ก
อย่างนิทานพื้นบ้านอีสาน ที่กล่าวถึงเกวียนชัดเจนคือเรื่อง “คันธนามโพธิสัตว์ชาดก” หรือท้าวคันธนาม ด้านภาษิตคำสอนที่รู้กันทั่วไปเรื่องกฎแห่งกรรม ในคำสอนทางพุทธศาสนา คือ “กงกรรม กงเกวียน” ส่วนคำสอนทางโลกที่รู้กันกว้างขวางเกี่ยวกับผู้หญิงก็คือ “มายาหญิง มี 100 เล่มเกวียน” หรือ อย่าไปขวางทางเกวียนของผู้อื่น ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากการขัดเกลาทางสังคมที่สืบทอดกันมา
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการละเล่นของเด็กอีสาน คือ การเล่น “โค้งตีนเกวียน” ในเวลามีงานบุญข้าวสาก, ตรุษ-สงกรานต์ ฯลฯ ซึ่งในจังหวัดนครราชสีมาเรียกระวงตีนเกวียน ที่เมื่อเล่นร่วมกันแล้วจะมีลักษณะคล้ายตีนเกวียน (ล้อเกวียน) กำเกวียน (ซี่ล้อเกวียน) นอกจากนี้ ในอดีตก็ยังมีการทำเข้าหนม (ขนม) บางอย่างที่มีลักษณะคล้ายกงเกวียน และตีนเกวียนอยู่ด้วย เรียกชื่อขนมว่าขนมสาระวงและขนมกง เป็นต้น (สมชาย นิลอาธิ, สัมภาษณ์ 2554)
เกวียนอีสาน กับนิเวศวัฒนธรรมชาวนา
เกวียน ถือเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมผลิตภัณฑ์ที่สัมพันธ์ไปกับสภาพนิเวศวัฒนธรรมพื้นถิ่นในสังคมชาวนา โดยประเภทของเกวียนและลักษณะของเกวียนที่รู้กันทั่วไป มีอยู่ 2 ชนิด คือ
1. เกวียนเทียมด้วยวัว และ 2. เกวียนเทียมด้วยควาย ซึ่งมักเรียกง่าย ๆ ว่า เกวียนวัวและเกวียนควาย และยังมีพาหนะลักษณะคล้ายเกวียนอยู่อีกชนิดหนึ่ง คือ เกวียนสาลี หรือ เกวียนสาลี่ ดังที่กล่าวถึงในเบื้องต้นแล้ว
เกวียนในภาคอีสานนั้น อาจารย์ วิโรฒ ศรีสุโร (ปราชญ์ศิลปินผู้ล่วงลับ) ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เกวียนแห่งแรกของเมืองไทยอยู่ที่ด่านเกวียนโคราช ได้กล่าวถึงในมิติแห่งศิลปะเชิงช่างที่สัมพันธ์กับบริบทสภาพแวดล้อมไว้ว่า
“เกวียนทางภาคอีสาน จะค่อนข้างขนาดเล็กและเป็นเกวียนวัว เนื่องจากพื้นดินอีสานนั้นเป็นดินทรายและเป็นที่ราบ ไม่ต้องใช้แรงงานในการลากจูงเกวียนมากนัก อีกทั้งการนำเกวียนมาใช้ประโยชน์ของคนอีสาน มักจะใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ มากกว่าจะนำมาเป็นพาหนะแบกสัมภาระ เกวียนอีสานจึงมีรูปร่างลักษณะสวยงามกว่าเกวียนภาคอื่น ๆ ด้วยคนอีสานเป็นคนชอบงานศิลปะทางด้านการแกะสลักลวดลาย เกวียนจึงถูกนำมาออกแบบแกะสลักลายเสียสวยงามตามไปด้วย” (วิโรฒ ศรีสุโร. สยามอารยะ. ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 สิงหาคม 2535, น. 68.)
ตามลักษณะภูมิภาคของอีสาน เกวียนจะแบ่งออกเป็นสกุลช่าง คือ
1. กลุ่มสกุลช่างอีสานตอนบน ในกลุ่มจังหวัดอุดรธานี-หนองคาย ลักษณะทูบอีสานเรียกว่าทวก ใช้ประกบตัวเรือนแคบแล้วผายขึ้น อีสานเรียกเกวียนโซงแลง ล้อมีกงโป่งกลาง เหมือนกับมีลมอยู่ภายใน
2. กลุ่มสกุลช่างอีสานตอนล่าง ในกลุ่มจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ โดยเฉพาะเกวียนของชุมชนไทยเขมร มีการแกะสลักที่สวยงาม จนกล่าวได้ว่าลวดลายนี้เป็นต้นแบบให้แก่เกวียนอีสานในที่อื่น ๆ จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของเกวียนอีสาน
นอกจากนี้ยังรวมถึงประทุนเกวียนที่มีเอกลักษณ์ในเชิงศิลปะและประโยชน์ใช้สอยที่ลงตัว ดั่งที่ สมเด็จครูหรือกรมพระนริศฯ นายช่างใหญ่แห่งสยามประเทศได้กล่าวชมไว้ว่า “…ยังมีอีกอย่างเดียวที่ประทุนซึ่งยังไม่ได้ตรัสถึง เป็นความคิดอันดีมากเหมือนกันที่ทำหน้าท้ายเตี้ยหลังก่งสูงเพราะว่ารอดกิ่งไม้ได้สะดวก แล้วครู่ยกกิ่งไม้ไปได้ในตัวเอง…” (ธนาคารกรุงเทพ. ลักษณะไทย 4. 2551, น. 158.)
ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าการแกะสลักลวดลายต่าง ๆ จะนิยมทำลงในส่วนแปรกหรือแพด, หัวทวก, แอก, แป้นชาน, หัวโถน, หัวเต่า แม้ก้องเพลาที่อยู่ใต้ท้องเกวียนลึก ก็ยังแกะสลักอย่างประณีต โดยเฉพาะตัวลายกนก มีลักษณะแบบกนกใบผักกูดอย่างในวัฒนธรรมลวดลายของเขมรที่ถูกปรุงแต่งใหม่โดยช่างไทยอีสาน
รูปร่างโดยรวมของ “เกวียนอีสาน”ทั่วไปจะมีลักษณะเล็ก เตี้ย ส่วนความกว้างอาจจะกว้างกว่าเกวียนควายบ้างเล็กน้อย อย่างช่วงความยาวของเกวียนวัวอาจแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักเท่า ๆ กัน โดยประมาณ คือ
1. ส่วนเทียมวัว อยู่ด้านหน้าของเกวียน ตั้งแต่แอกเกวียนถึงคานหน้ารับเรือนเกวียน
2. ส่วนเรือนเกวียน คือแนวตัวเรือนเกวียน ตั้งแต่คานหน้าถึงคานหลังของเรือนเกวียน เหตุที่เกวียนวัวที่มีขนาดเล็กและค่อนข้างเตี้ย เพราะวงล้อเล็กนี้ถูกสร้างขึ้นให้เหมาะสมกับกำลังแรงของวัวเทียม ที่มีกำลังน้อยกว่าควาย และที่สำคัญยิ่งคือ ถูกสร้างให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ภูมิประเทศที่ดอนสูง ป่าโคก ป่าดง และพื้นที่ทางราบที่ไม่เป็นหล่มโคลนแบบที่ราบลุ่ม ซึ่งจะช่วยทำให้การใช้เกวียนวัวมีความคล่องตัว เช่น พื้นที่ในภาคอีสานและภาคกลางตอนบน (สมชาย นิลอาธิ, สัมภาษณ์ 2554)
เกวียนอีสานกับการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย
เกวียนได้เริ่มหายไปจากเส้นทางการสัญจรทางบกของอีสานมาเป็นระยะ ตั้งแต่การเข้ามาของ “เส้นทางรถไฟ” จากกรุงเทพฯ-โคราช ใน พ.ศ. 2443 และโคราช-อุบลราชธานี พ.ศ. 2473 และใน พ.ศ. 2498 ที่รัฐบาลมีการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ
สุดท้ายคือในยุคที่เรียกว่าสงครามเย็น มีการสร้างถนนมิตรภาพจากสระบุรี ผ่านโคราชเข้าถึงหนองคายเป็นสายหลักเข้าสู่อีสาน มีการสร้างถนนเชื่อมหมู่บ้านตำบล ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 ที่เริ่มใน พ.ศ. 2504 และยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อรถยนต์ รถบรรทุก เข้ามามีบทบาทในการบรรทุกขนส่งและการเดินทางมากขึ้น จนทำให้เลิกใช้เกวียนกัน
บรรดาช่างเกวียนที่เคยมีต่างก็หันไปประกอบอาชีพอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกวียนสลักลายบ้านนาสะไมย์ หยุดทำกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 บรรดาช่างเกวียนบ้านนาสะไมย์ เมืองยโสธร (ที่มีชื่อเสียงด้านฝีมือในการสลักลายอย่างวิจิตรประณีต) ต่างก็ปรับเปลี่ยนไปรับทำงานแกะสลักไม้บานประตู-หน้าต่างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ แทนการทำเกวียนสลักลาย
เกวียนที่เคยเป็นพาหนะคู่ชีวิตในสังคมของชาวนาจึงถึงจุดสลายตัวในยุคการพัฒนาประเทศ นับแต่หลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ปัจจุบันเกวียนได้สลายตัว กลายรูปเป็นของใช้งานช่างต่าง ๆ นานา เช่น ชุดเก้าอี้สนาม เครื่องเรือนเครื่องใช้ ม้าโยก ฯลฯ หรือจอดโชว์อยู่ตามพิพิธภัณฑ์
การสลายตัวไม่ได้เกิดจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว หรือรูปแบบของเกวียน แต่เป็นที่การเปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างของสังคมวัฒนธรรมที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าสังคมในอดีต ทั้งหมดส่งอิทธิพลต่อรสนิยม ทั้งผู้สร้างและผู้เสพ
อ่านเพิ่มเติม :
- ทุ่งกุลาร้องไห้ บนเส้นทางการค้า กับโลกของชาว “กุลา” พ่อค้าเร่แห่งอีสาน
- กำเนิด “รถไฟสายอีสาน” เมื่อ “สนธิสัญญาเบาริ่ง” ทำให้เกิดทุนนิยมในพื้นที่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “‘เกวียนอีสาน’ : วิถีชีวิต ภูมิปัญญาลีลาช่าง ในสังคมชาวนา” เขียนโดย ติ๊ก แสนบุญ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564