ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ทุ่งกุลาร้องไห้” บนเส้นทางการค้า กับโลกของชาว “กุลา” พ่อค้าเร่แห่งอีสาน
คำว่า “กุลา” นั้น ชาวอีสานใช้เรียกคน “ตองสู้” หรือ “ไทยใหญ่” ที่เข้ามาค้าขายในภาคอีสาน แต่เอกสารราชการเรียกว่า “ต้องสู้” หรือ “ตองสู” หรือ “ตองสู้” หรือ “ตองซู่” มีภูมิลำเนาอยู่ในเมืองมะละแหม่ง ทางตอนใต้ของพม่า เดินทางเข้ามาค้าขายผ่านเมืองตาก เมืองระแหง เมืองกำแพงเพชร ผ่านเพชรบูรณ์ หรือสระบุรี ขึ้นไปภาคอีสาน
หลักฐานเอกสารที่บันทึกเรื่องราวของชาวกุลานี้เก่าที่สุดพบว่า สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปี 2381 มีบันทึกพวกกุลาเดินทางค้าขายในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ตาก สวรรคโลก และกําแพงเพชร
ส่วนภาคอีสานนั้น ปรากฏเอกสารเก่าที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกเรื่องความขัดแย้งระหว่างกุลากับเจ้าเมืองร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ และขอนแก่น กรณีโคประมาณ 600 ตัว โดนเจ้าเมืองยึดโคทั้งหมดไว้
ชาวกุลาคงจะเดินทางเร่ขายสินค้าในภาคอีสานนานแล้ว จนมีชื่อเรียกทุ่งกุลาร้องไห้ (ซึ่งเป็นทุ่งที่กว้างใหญ่มีพื้นที่ติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์) การเร่ขายสินค้าของชาวกุลาหรือต้องสู้นี้ จะเดินทางเป็นกองพ่อค้าวัวต่างจํานวนมาก บางคณะอาจจะมีถึง 100 คน มีทั้งปืนและดาบเป็นอาวุธ
ในปี 2423 พ่อค้ากุลาที่เห็นโดยทั่วไปและเป็นประจําในภาคอีสาน ไม่เหมือนพ่อค้าชาวจีนคือ กุลาไม่ตั้งร้านค้า แต่จะนําสินค้าเร่ขายจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ระหว่างทางพักอาศัยอยู่ตามศาลาวัด โดยนําสินค้าใส่ถุงพาดหลังโคห้อย 2 ข้าง เรียกว่าโคต่าง หรือไม่ก็หาบ มักจะเดินทางไปด้วยกันในหมู่เครือญาติ ขณะเดียวกันมีลูกจ้างลาวไปด้วย
ตัวอย่างเช่น บันทึกของพระพิเรนทรเทพ นครราชสีมา ลงวันที่ 24 พฤษภาคม ปี 2434 ว่า “คณะพ่อค้าของคําผิวซึ่งเป็นนายฮ้อย (หัวหน้า) มีลูกจ้างลาว 26 คน คําแสนเป็นนายฮ้อย มีลูกจ้างลาว 35 คน คําใสและคําที่เป็นนายฮ้อยและผู้ช่วย มีลูกจ้างลาว 78 คน ทุกคนรวมเป็นคณะเดินทางด้วยกัน คําผิวและคณะมาจากหนองคาย ซื้อโค 8 ตัว และกระบือ 141 ตัว คําแสนและคณะมาจากกุมภวาปีซื้อโค 50 ตัว และกระบือ 250 ตัว คําใสและคณะซื้อโค 36 ตัว และกระบือ 580 ตัว และม้า 2 ตัว ในหมู่บ้านเขตเมืองชนบท”
สินค้าของชาวกุลาปกติก็จะเป็นผ้าไหมชนิดต่าง ๆ และไหมดิบ ดาบและมีด เครื่องเงิน เช่น เต้าปูน เครื่องประดับ เช่น แหวน เงิน แหวนทอง สร้อยเงิน สร้อยทอง ทับทิม สินค้าเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เช่น เข็ม ขี้ผึ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ การค้าช้าง โค กระบือ และมีม้าบ้าง (การค้าสัตว์เหล่านี้ โดยเฉพาะโค กระบือ เป็นปัญหาของกุลากับชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ทุกระดับ)
สำหรับระบบการเงิน พ่อค้ากุลาอาจจะยืมจากเครือญาติที่ไปด้วยกัน ระหว่างการเดินทางก็ต้องช่วยงานซึ่งกันและกัน ส่วนมากเงินตราที่ใช้เงินบาทของสยาม แต่ก็มีบางครั้งที่ใช้เงินแท่ง, เงินลาว และเงินรูปี
เมื่อการค้าโค, กระบือ เติบโตมีกำไร เพื่อแก้การลักขโมยปัญหาโค, กระบือ ที่มักจบลงที่กุลารับซื้อของที่ถูกขโมยไป ในปี 2414 ทางการไทยได้จัดทำหนังสือรูปพรรณโคกระบือทุกตัว และบันทึกชื่อกุลาและพม่าที่ทำการค้า บันทึกเจ้าของโคกระบือเจ้าใหม่และเก่าที่กำนันผู้ใหญ่บ้าน ส่วนทางการก็พิมพ์ “แบบตั๋วพิมพ์รูปพรรณ” ออกมาจำนวน 4,000 ชุด มอบให้ฝ่ายบ้านเมืองนครราชสีมาดำเนินการ ขณะเดียวกันกุลาก็มีปัญหาในการค้าสัตว์เหล่านี้เช่นกัน บ่อยครั้งที่คณะของกุลาโดนปล้นฆ่า
ปี 2437 นายกริททิน วิศวกรรถไฟ สํารวจทางระหว่างโคราชกับหนองคาย ตั้งข้อสังเกตว่า “ขณะนี้โคกระบือ 7,000 ถึง 8,000 ตัว ถูกต้อนมาลพบุรีจากเมืองชนบท ส่วนกระบือจํานวนมากมาจากเมืองหนองคายส่งไปโคราช”
เส้นทางที่พ่อค้าโคกระบือ และพ่อค้าทางเกวียน ใช้เดินทางระหว่างอีสานกับที่อื่น ๆ จะมีประมาณ 5 เส้นทางคือ 1. เส้นทางดงพญาไฟ ไปยังปากเพรียว และสระบุรี 2. เส้นทางดงพญากลาง ไปยังหมู่บ้านสนามช้างในลพบุรี 3. เส้นทางช่องตะโก ไปยังกบินทร์บุรี พนัสนิคม พนมสารคาม และนครนายก 4. เส้นทางมะละแหม่ง ผ่านเพชรบูรณ์ และระแหง (ตาก) 5. เส้นทางเขมร ผ่านช่องจอมในสุรินทร์ ไปยังพื้นที่ศรีโสภณ
เพราะกุลาเป็นพ่อค้าเร่เดินทางไปทั่วภาคอีสานเช่นนี้ จึงมีนิทาน “ทุ่งกุลาร้องไห้”
เมื่อทะเลกลายสภาพมาเป็นท้องทุ่งกว้างใหญ่ ทําให้มองเห็นดินจรดขอบฟ้ามาแล้วเป็นเวลานาน คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลายร้อยปีมาแล้ว ได้มีการไปมาค้าขายติดต่อกับพ่อค้าต่างบ้านต่างเมือง ที่มาค้าขายในเขตทุ่งนี้ บรรดาพ่อค้าที่มาค้าขายมีพ่อค้าพม่าเผ่าหนึ่งคือ “เผ่ากุลา” ได้นําสินค้ามาเร่ขาย และมากันเป็นหมู่ หมู่ละ 20-30 คน
สินค้าที่นํามาขายได้แก่ สีย้อมผ้า เข็ม เสื้อผ้า ยาสมุนไพร เครื่องถมสานด้วยไม้ไผ่ทารักลงสี ฯลฯ เวลาเดินทาง พวกพ่อค้าจะนําสินค้าใส่ถุงใบใหญ่ ที่เรียกว่า “ถุงกระเทียว” หาบร่อนรอนแรมขายไปเรื่อย ๆ ขายหมดที่ใดจะซื้อสินค้าหาบขายไปเรื่อย ๆ
ครั้งหนึ่ง ได้มีกุลาพวกหนึ่งเที่ยวเร่ขายสินค้าจากอุบลราชธานี ศรีสะเกษ เรื่อยมาจนถึงสุรินทร์ พอมาถึงท่าตูม พวกกุลาได้พากันซื้อครั่งเป็นจํานวนมาก เพื่อจะนําไปทําสีย้อมผ้ามาขายอีกต่อหนึ่ง พวกกุลาต่างพากันหาบครั่งข้ามแม่น้ำมูล พอเดินทางได้สักพักก็ถึงท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ หมายใจว่าจะเดินตัดทุ่งไปสู่เมืองป่าหลาน (อําเภอพยัคฆภูมิพิสัย) มหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี ขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ
ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยังไม่เคยใช้ จึงไม่ทราบระยะทางที่แท้จริง เพราะมองเห็นเมืองป่าหลานอยู่หลัด ๆ แต่เป็นแบบสำนวนอีสานที่ว่า “ใกล้ตาแต่ไกลตีน” คือมองเห็นดูเหมือนว่าใกล้ ๆ แต่ที่จริงต้องเดินไกล
ขณะที่เดินข้ามทุ่ง พ่อค้าชาวกุลาต่างรู้สึกเหนื่อย สองข้างทางไม่มีร่มเงา ไม่มีน้ำดื่ม ครั่งที่หาบมาก็หนักจะทิ้งก็เสียดาย เมื่อท้อก็คิดว่าคงเอาชีวิตมาทิ้งในทุ่งนี้เสียแล้ว จึงพากันร้องไห้ แต่ก็ยังเดินทางต่อไปอีก โดยทิ้งครั่งไปบ้างเล็กน้อย ต่อมากลายเป็นหมู่บ้านครั่งน้อย อําเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อเดินต่อไปอีกระยะ รู้สึกอิดโรยมาก ครั้นไปถึงกลางทุ่งจึงตัดสินใจเทครั่งทั้งหมดทิ้ง คงเหลือไว้แต่อาหารเท่านั้น บริเวณที่กุลาเทครั่งทิ้งทั้งหมดนี้ ต่อมาได้ชื่อว่า บ้านครั่งใหญ่ อําเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
พอเดินทางมาพ้นทุ่งแล้ว เข้าสู่หมู่บ้านมีคนมามุง ดูจะขอซื้อสินค้าเป็นจํานวนมาก แต่พวกกุลาไม่มีสินค้าจะขายให้แก่ ชาวบ้าน พ่อค้ากุลาเสียใจและเสียดายสินค้าที่ตนได้เททิ้งที่กลางทุ่ง จึงพากันร้องไห้อีกเป็นครั้งที่สอง ทําให้เกิดเป็นชื่อ เรียกทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้”
อ่านเพิ่มเติม :
- ทุ่งกุลา “ไม่ร้องไห้” ใครกล่าวไว้คนแรก?
- “ข้าวหอมมะลิ” เกิดจากนาภาคกลาง แต่ไปเติบโตไกลถึงทุ่งกุลาร้องไห้
ข้อมูลจาก :
สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหมอ, สำนักพิมพ์มติชน 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2563