พระพุทธรูปอีสาน : ตัวตนคนอีสาน พระวรกายผิดหลัก พระพักตร์แสดงอารมณ์

(ซ้าย) พระไม้ งานช่างที่สะท้อนตัวตนคนอีสาน งานช่างที่อยู่นอกกระแสของสังคมไทย (ขวา) พระประธานปูนปะทายสกุลช่างพื้นบ้านพื้นเมืองในสิม ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กุมภาพันธ์ 2555

พระพุทธปฏิมา หมายถึง รูปตัวแทนหรือรูปเปรียบองค์พระพุทธเจ้า พระพุทธปฏิมาจึงเป็นรูปจำลองของพระพุทธรูป และก็เป็นรูปจำลองของพระพุทธปฏิมาที่จำลองสืบต่อๆ กันมา ดังเห็นได้จากการที่พระพุทธปฏิมาจำนวนมากมีพุทธลักษณะที่คล้ายกัน โดยมูลเหตุที่ทำให้คล้ายกันนั้น มิได้มาจากการสร้างพระพุทธรูปในแต่ละยุคสมัย

แต่ทว่ามาจากความต้องการของพุทธศาสนิกชนที่จะจำลองพุทธลักษณะของพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์และมุ่งสืบทอดพุทธลักษณะของพระพุทธรูปซึ่งเป็นต้นแบบไว้ให้ได้มากที่สุด ดังเช่นการจำลองพระพุทธรูปแก่นจันทน์ (พิริยะ ไกรฤกษ์. ลักษณะไทย 1. 2551, .20.) นอกจากนี้ด้านคตินิยมของการสร้างพระพุทธรูปยังถือเป็นอุทเทสิกเจดีย์อีกประเภทหนึ่งตามกรอบแนวคิดทฤษฎีของการจำแนกหมวดอุทเทสิกเจดีย์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพระพุทธรูปสามารถพิจารณาในความหมายถึง

1. เป็นรูปเปรียบแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา

2.คุณลักษณะแห่งพุทธศิลป์ หมายถึงพุทธลักษณะในเชิงช่างด้านกายภาพที่ประกอบกันเป็นองค์พระพุทธรูปอันมีระบบสัญญะความหมายเพื่อเพิ่มคุณค่าความหมายตามกรอบบริบททางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น พระพุทธรูปในประเทศไทยนั้น ได้มีผู้รู้ศึกษาไว้อย่างมากมายหลากหลายในแต่ละสกุลช่าง แยกตามยุคตามสมัยของแนวทางศิลปะและโบราณคดี

โดยมากจะมุ่งเน้นไปที่รูปแบบทางพุทธศิลป์ในกระแสหลักอันได้แก่ พระพุทธรูปสมัยยุคต้นประวัติศาสตร์ไทย เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในปัจจุบันซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบเรียนฉบับสร้างชาติของระบบการศึกษาไทยทุกระดับในวัฒนธรรมกระแสหลัก ซึ่งล้วนมีนัยยะความหมายทางการเมืองสอดแทรกไว้อยู่เสมอ อย่างกรณีเรื่องพระพุทธรูป โดยเราถูกสั่งสอนให้ยอมรับนับถือในสุนทรียภาพความงดงามของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยอันมีคุณสมบัติประการสำคัญคือความสัมพันธ์อันวิจิตรที่มีอยู่ระหว่างรูปทรงทางด้านกายวิภาค

๓-๔ พระประธานปูนปะทายสกุลช่างพื้นบ้านพื้นเมืองในสิม
๓-๔ พระประธานปูนปะทายสกุลช่างพื้นบ้านพื้นเมืองในสิม

ดังที่ ท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวไว้ในศิลปะสุโขทัย ว่าเศียรพระพุทธรูปแบบที่ดีที่สุดของสมัยสุโขทัยนั้น ปั้นขึ้นอย่างวิจิตรงดงามยิ่ง ทำใหบังเกิดความรู้สึกนึกคิดคล้ายภาพทิพย์ในสรวงสวรรค์ ซํ้ายังเน้นให้เห็นความมีชีวิตจิตใจของพระพุทธรูปเด่นชัดยิ่งขึ้นด้วยเส้นขนานอันพวยพุ่งอ่อนหวานของรอยริ้วพระโอษฐ์ฐานพระนาสิก และเส้นขอบพระเนตรซึ่งกล่าวได้ว่าความอ่อนหวานทางรูปแบบตามกรอบแนวคิดแห่งเพศสรีระคล้ายสตรีเพศ และเช่นกันหากกล่าวถึงพระพุทธรูปในสมัยอู่ทองจะนึกถึงพระพักตร์อันเคร่งเครียด มีเส้นสายรอบนอกแห่งรูปทรงที่แข็งกระด้างเป็นเหลี่ยม ซึ่งทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของลักษณะงานพุทธศิลป์ในกระแสหลัก

แต่สำหรับสังคมแบบ “พื้นบ้านพื้นเมือง” ของอีสานในอดีตซึ่งมีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็น “เอกลักษณ์เฉพาะของพระพุทธรูปแบบที่เรียกว่าพื้นบ้านพื้นเมืองอีสาน” ซึ่งมักไม่ได้รับความสนใจด้านคุณค่า ความหมายในวัฒนธรรมกระแสหลัก ซึ่งส่งผลต่อโลกทรรศน์และรสนิยมทางศิลปะของคนอีสานเองหรือคนอื่นๆ นอกวัฒนธรรม อย่างเช่น ในมิติทางด้านประวัติศาสตร์มีบันทึกในพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 4 ที่น่าสนใจกล่าวว่า มีกลุ่มเสนาบดีตำหนิพระพุทธรูปลาว (พระเสริมพระไส) ว่าไม่คู่ควรกับบ้านเมืองกรุงเทพฯ ว่า

เพราะพระพุทธรูปเป็นแต่ของหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ย่อมๆ ไม่เป็นที่เห็นเป็นประหลาดอัศจรรย์อะไรนักนั้นก็ไม่ควรแก่พระบารมีเลยพระพุทธรูปอย่างนี้ถึงอยู่ในกรุงเทพมหานครก็ไม่เป็นที่ออกอวดแขกบ้านแขกเมืองได้เหมือนพระแก้วมรกตและพระแก้วผลึก… (อภิศักดิ์ โสมอินทร์. โลกทัศน์อีสาน. 2537, น.35.)

หรือในวงการนักเลงพระเครื่องอย่างที่ สมเกียรติ โล่เพชรรัตน์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพระพุทธรูป กล่าวว่าในวงการนักสะสมพระพุทธรูปในเมืองไทยจะนิยมเรียกพระพุทธรูปที่ไม่งดงามหรือมีความอ่อนด้อยทางทักษะฝีมือว่าเป็นพระพุทธรูปลาวเช่น เรียกว่า พระเชียงแสนลาว หรือพระอยุธยาลาว ฯลฯ โดยทั้งหมดมีนัยยะที่มีพื้นฐานมาจากความมีอคติทางชาติพันธุ์ จากคำว่า ลาว ในฐานะผู้ตํ่าต้อยโดยเฉพาะพระพุทธรูปที่อยู่ในกลุ่มสายสกุลช่างพื้นบ้าน โดย สมเกียรติ โล่เพชรรัตน์ กล่าวต่ออีกว่าแท้จริงแล้ว ศิลปะพระพุทธรูปล้านช้างแบบช่างเมืองหลวงนั้นมีความสวยงามความประณีตไม่แพ้ศิลปะของประเทศใดในโลก เป็นความงามแบบอุดมคติและมีความเป็นเอกลักษณ์ลาวอย่างแท้จริง (สมเกียรติ โล่เพชรรัตน์.ประวัติศาสตร์การสร้างพระพุทธรูปล้านช้าง. 2543, น. 257.)

๕ พระประธานพื้นบ้านสกุลช่างมุกดาหาร, ๖ พระสำริดสกุลช่างพื้นบ้านอีสาน
๕ พระประธานพื้นบ้านสกุลช่างมุกดาหาร, ๖ พระสำริดสกุลช่างพื้นบ้านอีสาน
๗ หลวงตากับพระไม้ดุลยภา ภาพแห่งวิถีวัฒนธรรมสกุลช่างพื้นเมือง
๗ หลวงตากับพระไม้ดุลยภา ภาพแห่งวิถีวัฒนธรรมสกุลช่างพื้นเมือง

เอกลักษณ์ในเชิงช่างของพระพุทธรูปอีสาน

หากพิเคราะห์พิจารณาตามหลักเกณฑ์มหาปุริสลักษณะ หมายถึง คุณลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ ประการ เป็นความงามอันประณีตที่เป็นปทัสถานของสังคม ตามขนบนิยมแล้ว พระพุทธรูปอีสานก็ดูจะด้อยค่าลงในทันที โดยมีปฐมเหตุเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยแวดล้อมทางสังคมในมิติแห่งบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีเครื่องมือและอุปกรณ์ตลอดจนวัสดุนอกจากนี้ยังมีตัวแปรที่สำคัญคือ คติความเชื่อของวัฒนธรรมพื้นถิ่น ก่อเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอีสาน” โดยจำแนกตามคุณลักษณะดังนี้ คือ

พระวรกายที่ผิดหลักกายวิภาค กล่าวคือจะมีคุณลักษณะของพระวรกายที่ผิดหลักกายวิภาคในธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปโดยทั่วไป เช่น สัดส่วนที่ดูขาดๆ เกินๆซึ่งพระพุทธรูป (บางแบบ) พระหัตถ์พระบาท จะมีลักษณะที่ใหญ่กว่าพระพุทธรูปโดยทั่วไป ซึ่งสะท้อนถึงสังคมอีสาน ซึ่งเป็นวิถีสังคมเกษตรกรรมที่ทำไร่ ทำนา ต้องใช้มือเท้าเป็นสำคัญดังนั้นมือเท้าต้องแข็งแรง

สุนทรียภาพการแสดงออกทางอารมณ์ของพระพักตร์ (ใบหน้า) พระพักตร์ของพระพุทธรูปอีสานเป็นลักษณะเฉพาะที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้ผู้พบเห็นเกิดสะเทือนอารมณ์ทั้งในบุคลิกที่เคร่งครึมดุดัน หรือผ่อนคลายด้วยสีหน้าอารมณ์ที่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่พระพักตร์จะมีลักษณะที่ยิ้มแย้มสดใสแลดูอบอุ่น สร้างความรู้สึกที่เป็นกันเองดูผ่อนคลายไม่ตึงเครียดบางแห่งช่างได้จำหลักส่วนพระพักตร์มีลักษณะแบบเด็กๆ ซึ่งแลดูเด๋อๆ ด๋าๆ น่ารัก แบบซื่อๆ

เส้นสายรายละเอียดของรูปทรงและผิวสัมผัสอันมีลักษณะดิบๆ แข็งๆ หยาบๆ มีทักษะฝีมือที่ไม่อ่อนหวานละเอียดอ่อน อันเกิดจากสัญชาตญาณในสุนทรียะที่ใช้ความรู้สึกซึ่งให้อารมณ์ที่มีคุณค่าสูงยิ่งในศิลปะ จนลบล้างข้อด้อยอื่นๆ ซึ่งคุณลักษณะนี้เองที่ช่วยก่อเกิด “อัตลักษณ์เฉพาะ”

เอกลักษณ์และภาพสะท้อนในงานช่าง

การใช้สีสันตกแต่งในโทนสีที่ฉูดฉาดรุนแรง หรืออาจจะโชว์เนื้อแท้ของสัจวัสดุ (อยู่ในกลุ่มช่างพื้นบ้าน)

ขนาดสัดส่วนที่เหมาะสมกับงานสถาปัตยกรรมที่ประดิษฐาน เช่น ขนาดองค์พระกับส่วนฐานชุกชีที่สัมพันธ์กับขนาดสิมซึ่งมีขนาดเล็ก

คุณลักษณะทางความงามที่ผสมผสานกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมภายในแห่งที่ว่าง เช่น ฮูปแต้ม กับองค์พระประธาน จะมีความกลมกลืนผสมผสานทางด้านฝีมือในแบบฉบับ “ศิลปะพื้นบ้าน”

ความหลากหลายทางด้านการออกแบบรวมถึงการนำวัสดุจากธรรมชาติมาสร้างสรรค์ เช่น เขาควายที่ถูกฟ้าผ่า หินจำหลัก งา หรือ เขาสัตว์ เนื้อว่าน เช่น ว่านจำปาสัก และพระแก้วต่างๆ เป็นต้น

เบ้าหลอมแห่งความเป็น“อีสานในศิลปะพระพุทธรูป”

ด้วยลักษณะสังคม ยืดหยุ่น จริงใจ ซื่อตรง อย่างในวิถีชาวบ้านที่มีโครงสร้างทางสังคมที่มีความเสมอภาค นี่เองที่เป็นปฐมเหตุอันสำคัญก่อให้เกิดคุณลักษณะความงามอย่างในวิถีชาวบ้าน ที่ปรากฏอยู่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในงานศิลปะพื้นบ้านอีสานทุกแขนง โดยเฉพาะคุณลักษณะเสรีที่เป็นหัวใจของการสร้างสรรค์ที่สร้างคุณค่าทางศิลปะอันปรากฏอยู่ในพระพุทธรูปอีสาน ซึ่งมีความแปลกและแตกต่างจากสกุลช่างอื่นๆ (แม้ในวัฒนธรรมล้านช้างซึ่งเป็นวัฒนธรรมแม่) ด้วยลักษณะงานช่างอย่างลักษณะศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีสังคมวัฒนธรรมชาวบ้าน ดังนั้น คุณค่า ความงามไม่งาม จึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์โดยตรงกับสังคมวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องศิลปะโดดๆ

ดังบทกวีที่ อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร ได้รจนาไว้ว่า “…นั่งเลี้ยงควายหาไม้มาแซะเป็นพระ ไม่สวยสะแต่สวยซื่อคือ พระพุทธ แทนคุณค่าความดีความบริสุทธิ์ใจผ่องผุดเกิดพุทธ…ปฏิมากร” (บันทึกอีสานผ่านเลนส์, 2543, น. 1.) อย่างวัฒนธรรมอีสานซึ่งมีเบ้าหลอมจากวิถีแห่งความลำบากอย่างปากกัดตีนถีบ ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้ง และสภาวะที่ถูกทำให้เป็นอื่น คือเบ้าหลอมให้วิถีแห่งอีสาน “ง่ายและงดงาม” คุณค่าความงามเป็นเรื่องของมายาจริตของคอกความคิด แต่พลังศรัทธาเป็นเรื่องของจิตวิญญาณความรู้สึกซึ่งข้าพเจ้าค้นพบแล้วในงานช่างวิถีแห่งอีสานโบราณ

แต่ทำไม เพราะอะไรพวก…จึงดูถูก ดูแคลน เย้ยหยัน รื้อๆ และอยากอายๆ มูนมังของเจ้าของ!?

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2559 จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ