รีวิว “ส้มสื่อรัก” และ “สาวส้ม” กับชีวิตเด็กชายที่เปลี่ยนไปตลอดกาล โดยผู้เขียน “โลกของโซฟี”

โยสไตน์ กอร์เดอร์ ผู้เขียน โลกของโซฟี และ ส้มสื่อรัก
(ซ้าย) โยสไตน์ กอร์เดอร์ Jostein Gaarder ตอบคำถามระหว่างงานที่ Millenaris Culture Center เมื่อ 21 เมษายน 2016 ภาพจาก ATTILA KISBENEDEK / AFP (ขวา) ภาพประกอบเนื้อหา ภาพผลส้ม

โยสไตน์ กอร์เดอร์ (Jostein Gaarder) ผู้สอนวิชาปรัชญาที่เมืองเบอร์เกนหลายปี เมื่อ โลกของโซฟี ถูกแปลมากกว่า 45 ภาษา ก็หันมาเขียนนิยายอย่างจริงจัง เขาคือผู้เขียน ส้มสื่อรัก อีกหนึ่งผลงานนิยายรักโรแมนติคที่แตกต่างออกไป กับเรื่องของ สาวส้ม จดหมาย และเด็กชายรายหนึ่ง

“คุณไม่ได้ดั้นด้นมาถึงเซวิลล์เพื่อตามหา ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ เพราะในยุโรปก็มีผู้หญิงเป็นล้านๆ ไม่เห็นจะต้องมาหาถึงนี่เลย คุณมาตามหาฉัน…ซึ่งมีแค่คนเดียวในโลกนี้ ส่วนฉัน…ฉันไม่ได้ส่งโปสการ์ดถึง ‘ผู้ชายคนหนึ่ง’ ฉันส่งถึงคุณโดยเฉพาะ…”

ไม่น่าเชื่อว่าประโยคหวานซึ้งราวกับภาพรักเกาหลีแบบนี้จะเป็นถ้อยคำของ โยสไตน์ กอร์เดอร์ ผู้เขียนนิยายสอนประวัติปรัชญาเรื่อง “โลกของโซฟี” เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งอธิบายแนวความคิดทางปรัชญาของแต่ละยุคสมัยผ่านตัวละครคือโซฟี อามุนด์เซ่น และครูสอนปรัชญาผู้ทำตัวลึกลับ โดยเริ่มต้นจากคำถามเบื้องต้น คือตัวเราเป็นใคร? และโลกมาจากไหน?

โยสไตน์ กอร์เดอร์ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1952 สอนวิชาปรัชญาอยู่ที่เมืองเบอร์เกนอยู่หลายปี เมื่อ “โลกของโซฟี” ถูกแปลออกไปมากกว่า 45 ภาษา ก็หันมาเขียนนิยายอย่างจริงจัง โดยมากเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่แฝงแง่คิดทางปรัชญาเล็กๆ ซึ่งก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน อาทิ ปราสาทกบ สวัสดีชาวโลก

เมื่อได้อ่าน “ส้มสื่อรัก” เล่มนี้จึงรู้สึกได้ถึงความแตกต่างอย่างยิ่ง เพราะเป็นนิยายรักโรแมนติค

ส้มสื่อรักเด่นที่กลวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ ไม่ต้องสลับฉากซับซ้อน แต่อาศัยการเดินเรื่องโดยการอ่านจดหมาย และการบรรยายผ่านจิตสำนึกของยอร์จ เรอร์ด หนุ่มน้อยวัย 14

ยอร์จกำพร้าพ่อตั้งแต่เด็ก และแทบไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับพ่อเลย แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้สร้างปมด้อยให้เขาแต่อย่างใด

จู่ๆ วันหนึ่งเขาก็ได้อ่านจดหมายปึกใหญ่ที่พ่อเขียนซ่อนไว้ และเมื่ออ่านจบลงชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ราวกับว่าตลอดเวลาที่พ่อของเขาลาโลกไปได้กลับมาทีละน้อยภายในห้วงเวลาที่เขาอ่านจดหมายฉบับนั้น ทำให้เด็กหนุ่มธรรมดาคนหนึ่งเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น

โยสไตน์ กอร์เดอร์ ยังคงเสน่ห์หลักอยู่ที่การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทั้งยังบรรยายความกระมิดกระเมี้ยนของเด็กหนุ่มต่อหญิงคนรักได้อย่างสมจริงอย่างยิ่ง อ่านแล้วทำให้นึกถึงการจีบสาวครั้งแรก ที่มักกล้าๆ กลัวๆ และคิดไปเองต่างๆ นานา จินตนาการถึงหญิงสาวที่ตัวเองหลงรักว่า ตอนนี้เธอทำอะไรอยู่นะ ไปกับใครคนอื่นหรือเปล่า เวลาเจอกันจะทักเธออย่างไรให้ดูดี

การเล่าเรื่องช่วงนี้อธิบายจิตสำนึกของเด็กหนุ่มออกมาได้เป็นอย่างดี จนรู้สึกแปลกๆ ว่าเด็กหนุ่มคนนั้นป่วยทางจิตหรือเปล่า เพราะเขาจะคิดวิเคราะห์เหตุการณ์เล็กๆ จนขยายใหญ่ออกไปมหาศาล เหมือนคนย้ำคิดย้ำทำ

แต่พอมองอีกมุมหนึ่งกลับพบโลกเสมือนจริงที่ดึงเราให้กลับไปสู่วัยหนุ่มสาว จึงไม่แปลกเลยที่ตัวพ่อในเรื่องซึ่งเหตุการณ์ที่เล่าอยู่ในวัยใกล้เคียงกับยอร์จจึงสื่อความรู้สึกถึงกันได้เป็นอย่างดี เพราะท้ายที่สุด ยอร์จก็สามารถรวบรวมความกล้าที่จะพูดคุยกับสาวนักสีไวโอลินเพื่อนร่วมชั้นได้ เพราะได้บทเรียนจากการตามหาสาวส้มของพ่อ

โครงเรื่องส้มสื่อรักเล่มนี้สามารถเป็นแบบเรียนให้ผู้ที่เริ่มต้นเขียนหนังสือได้เป็นอย่างดี เพราะมันเป็นสูตรสำเร็จที่สามารถเดินตามได้ไม่ยาก

เช่นพระเอกกับนางเอกรู้จักกันตั้งแต่เด็ก แต่มาพบกันอีกครั้งเมื่อโตแล้ว แต่ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องจำกันไม่ได้ มีด่านพิสูจน์รักแท้ แล้วได้ครองคู่กันในที่สุด นี่คือโครงใหญ่ที่อาจดูสำเร็จรูปเกินไป ดาษดื่นเกินไป

แต่ผู้เขียนได้เสริมพล็อตย้อนอดีตโดยการอ่านจดหมายเข้าไป บวกกับแก่นเรื่องที่ต้องการเพิ่มประสบการณ์ชีวิต และแนะให้วัยรุ่นตั้งคำถามเกี่ยวกับสาระชีวิต ทำให้เรื่องไม่เฉิ่มเชย แต่กลับโดดเด่นขึ้นมา

แม้ช่วงแรกจะหนืดเนือยไปบ้าง แต่ก็วางไม่ลง เพราะผู้เขียนได้ทิ้งร่องรอยปริศนาไว้ตลอดเรื่อง ทำให้เกิดความใจจดใจจ่อเฝ้าติดตามว่า “สาวส้ม” เป็นใคร ทำไมซื้อส้มจำนวนมากทุกครั้ง ทำไมพบแล้วก็หายไป เธอรู้ที่อยู่ของเขาได้อย่างไร ทำไมเธอต้องให้เขารอ และยอร์จจะคิดอย่างไรกับพ่อที่คุยกับเขาผ่านตัวหนังสือ ในห้วงเวลาที่ห่างกันจนแทบไม่เหลือความทรงจำระหว่างกัน

ส้มสื่อรักนับเป็นเรื่องที่แหวกแนวยิ่งกว่างานชิ้นใดที่โยสไตน์ กอร์เดอร์ เคยเขียนมา แต่ก็ยังคงสไตล์ แฝงแนวคิดเชิงปรัชญาให้ผู้อ่านได้ขบคิดเช่นเคย

นอกจากนี้ยังได้นักแปลฝีมือชั้นเยี่ยมอย่างจิรนันท์ พิตรปรีชา มาถ่ายทอดเรื่องราวความรักสุดแสนโรแมนติคตามความถนัดที่แฟนนักอ่านคุ้นเคยกันดี…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “จดหมายที่ทำให้เด็กชายคนหนึ่งเปลี่ยนตัวเองไปทั้งชีวิต ส้มสื่อรัก” เขียนโดย เพื่อนน้ำมิตร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2564 โปรยเพิ่มเติมในย่อหน้าแรกโดยกองบรรณาธิการ