ฉาก Y ในวรรณคดี เมื่อน้องชาย รูปงามเหมือนพี่สาว “อิเหนา” ก็ห้ามใจไม่ไหว

อิเหนา ฉาก Y ในวรรณคดี

ฉาก Y ในวรรณคดี เมื่อน้องชาย รูปงามเหมือนพี่สาว “อิเหนา” ก็ห้ามใจไม่ไหว

ในวรรณคดี “อิเหนา” เป็นที่รับรู้กันดีว่า “อิเหนา” ตัวเอกของเรื่องมีนิสัย “เจ้าชู้” จนเป็นเหตุนำมาซึ่งความวุ่นวายในแดนชวา อิเหนาหลงรักสาวงาม ไม่ต่างจากพระเอกในวรรณคดีเรื่องอื่น แต่อิเหนาก็หลงใหลความงามจากผู้ชายด้วย

จึงปรากฏฉาก Y ในวรรณคดี (Yaoi – ชายรักชาย) หรือฉากรัก ๆ ใคร่ ๆ ระหว่างอิเหนากับ “สังคามาระตา” และ “สียะตรา”

Advertisement

สังคามาระตา

เมื่อครั้งที่อิเหนาปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ “มิสาระปันหยี” อิเหนาพร้อมด้วยไพร่พลได้ทำสงครามสู้รบกับกองทัพของสามกษัตริย์พี่น้อง นามว่า ท้าวปันจะรากัน, ท้าวปักมาหงัน และท้าวบุศสิหนา จนท้าวบุศสิหนาถูกอิเหนาสังหารจนสิ้นชีพ

ท้าวปันจะรากันกับท้าวปักมาหงันจึงคิดแก้แค้น แต่เมื่อทราบความจริงจากพระฤาษีว่า มิสาระปันหยีคืออิเหนาปลอมตัวมา ซึ่งอิเหนาสืบเชื้อวงศ์อสัญแดหวาอันสูงส่ง “ใครอาจหาญต้านต่อรอฤทธิ์ จะสุดสิ้นชีวิตอาสัญ”

ท้าวปันจะรากันกับท้าวปักมาหงันจึงยอมอ่อนน้อม และมอบบรรณาการถวายอิเหนา ซึ่งรวมถึงพระธิดาและพระโอรสของทั้งสองพระองค์ คือ “สการะวาตี” (พระธิดาของท้าวปันจะรากัน), “มาหยารัศมี” (พระธิดาของท้าวปักมาหงัน) และ “สังคามาระตา” (พระโอรสของท้าวปักมาหงัน พระอนุชาของมาหยารัศมี)

สังคามาระตานั้น อิเหนารับเอามาเป็นเสมือนพระอนุชา ไว้รับใช้ใกล้ตัว

แล้วตรัสเรียกสังคามาระตา   มานั่งใกล้พี่ยาอย่าเดียดฉันท์

จะเลี้ยงเจ้าเท่าน้องร่วมครรภ์   รักร่วมชีวันคุ้งบรรลัย

ครั้นเวลาผ่านไปไม่กี่วัน อิเหนาก็เสน่หานางทั้งสอง แต่ก็เกรงกลัวว่า “จินตะหรา” คนรักของตนจะไม่พอใจ จึงยับยั้งใจไว้ก่อน

เมื่อนั้น   พระโฉมยงวงศ์อสัญแดหวา

แลตามทรามวัยจนลับตา   เสนหาพูนเพิ่มพันทวี

คิดจะใคร่ภิรมย์สมสวาท   ด้วยสองราชธิดามารศรี

กลัวเกลือกจินตะหราวาตี   จะว่ามีชู้เมียสิเสียการ

จำเป็นจะเงือดงดสะกดใจ   อุตส่าห์อดส้มไว้กินหวาน

อย่าให้เคืองขุ่นหมองพ้องพาน   แต่คิดอ่านครวญใคร่ไปมา ฯ

แต่ถึงค่ำวันหนึ่ง อิเหนาหวนคำนึงคิดถึงสการะวาตีกับมาหยารัศมี แต่จะเรียกหาสองนางก็กลัวจะกระทำผิดต่อนางจินตะหรา อิเหนาจึงเรียกสังคามาระตามาหาแทน

ครั้นราตรีเข้าที่ไสยาสน์   ถวิลถึงนุชนาฏขนิษฐา

จึงตรัสเรียกสังคามาระตา   เข้ามาบรรทมชมชิด

สังคามาระตานั้นมีรูปร่างหน้าตาอรชรอ้อนแอ้นเหมือนมาหยารัศมีผู้เป็นพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ทำให้อิเหนาหักห้ามใจแทบไม่ไหว

พิศดูรูปทรงส่งศรี   เหมือนมาหยารัศมีไม่เพี้ยนผิด

พระเชยปรางพลางอุ้มขึ้นจุมพิต   ฤทัยคิดสำคัญว่ากัลยา

เอวองค์อรชรอ้อนแอ้น   เหมือนแม้นพี่นางเป็นหนักหนา

พิศทรงขนงเนตรอนุชา   ละม้ายเหมือนนัยนานางเทวี

ชมพลางพิศวงหลงโลม   นึกว่าโฉมมาหยารัศมี

สัพยอกแย้มสรวลชวนพาที   จนเข้าที่บรรทมหลับไป ฯ

เมื่อ “ดาวเดือนเคลื่อนลับเมฆา สุริยาแย้มเยี่ยมเหลี่ยมไศล” เช้าวันถัดมา อิเหนาก็ตื่นนอน อาบน้ำ และแต่งตัวตามปกติ แม้อิเหนาจะหลงใหลในเรือนร่างของสังคามาระตา แต่ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์เกินเลยมากกว่านั้น

ฉากอิเหนาได้นางบุษบา ภาพโดย จักรพันธุ์ โปษยะกฤต จากหนังสือ อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ โดยนายตำรา ณ เมืองใต้

สียะตรา

ไม่เพียงแต่สังคามาระตาเท่านั้น ชายอีกคนที่มีฉาก Y กับอิเหนาคือ “สียะตรา” พระอนุชาของ “บุษบา” (คู่หมั้นของอิเหนา) โดยสียะตราคอยช่วยเหลืออิเหนาง้อและเกี้ยวบุษบา จนทำให้อิเหนาสนิทสนมชมชอบสียะตรามาก เมื่ออิเหนายังไม่อาจได้บุษบามาครอบครอง อิเหนาจึงเข้าหาสียะตราไปพลางก่อน

เมื่อนั้น   ระเด่นมนตรีเกษมศานต์

กอดประทับรับขวัญพระกุมาร   แสนสำราญภิรมย์ชมเชย

พาไปให้บรรทมบนแท่นทอง   เอนแอบแนบประองเคียงเขนย

เสสรวลชวนพลอดกอดก่ายเกย   พระชื่นเชยชมต่างนางบุษบา

ครั้นพระกุมารหลับสนิท   พระโอบอุ้มจุมพิตขนิษฐา

โลมเล้าลูบไล้ไปมา   สำคัญว่าบุษบานารี

พิศพักตร์พักตร์ผ่องดังเดือนฉาย   พิศทรงทรงคล้ายนางโฉมศรี

พิศปรางเหมือนปรางพระบุตรี   รัศมีสีเนื้อละกลกัน

ทั้งโอษฐ์องค์ขนงเนตรนาสา   ละม้ายแม้นบุษบาทุกสิ่งสรรพ์

พระกอดจูบลูบไล้เกี่ยวพัน   จนบรรทมหลับสนิทไป ฯ

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อยามที่อิเหนาไม่สามารถเข้าหาสตรีนางใดได้ ก็จะปรากฏฉาก Y เช่นนี้ เมื่อตอนอิเหนาคิดถึงสการะวาตีกับมาหยารัศมี แต่ไม่อยากทำลายน้ำใจจินตะหรา อิเหนาจึงเข้าหาสังคามาระตาแทน ครั้นเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับบุษบา แต่ก็หาได้มาเชยชมเสียทีไม่ ก็เลยเข้าหาสียะตราแทน

ฉากอิเหนาพบนางบุษบา สองคนด้านบนคือท้าวดาหากับประไหมสุหรีดาหา นั่งข้างอิเหนาคือสียะตรา ภาพโดย จักรพันธุ์ โปษยะกฤต จากหนังสือ อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ โดยนายตำรา ณ เมืองใต้

อิเหนาเชยชาย

ภายหลังเสร็จศึกกะหมังกุหนิง ท้าวดาหา เจ้าเมืองดาหา พระราชบิดาของบุษบาและสียะตรา จะเสด็จไปเขาวิลิศมาหรา จึงโปรดให้อิเหนาตามเสด็จเป็นทัพหน้า พระราชมารดาของสียะตราคงจะเห็นว่าการจัดเตรียมทัพวุ่นวาย จึงให้นางกำนัลไปตามสียะตรากลับมาประทับที่พระราชวัง ไม่ให้ประทับอยู่กับอิเหนา และในคืนนั้นอิเหนาก็คงรู้สึกเปล่าเปลี่ยว เมื่อไม่มีสียะตรา ก็เลยเรียกหาสังคามาระตามาแทน

เมื่อนั้น   พระโฉมยงทรงสวัสดิ์รัศมี

สถิตเหนือแท่นรัตน์รูจี   ครั้นสิ้นแสงสุริย์ศรีสนธยา

ให้คิดถึงสียะตราหนึ่งหรัด   เคยชมโฉมโสมนัสเสนหา

เชยต่างพี่นางบุษบา   วันนี้อนุชาจากไป

พระจึงชวนสังคามาระตา   เข้าที่ไสยาพิสมัย

บรรทมบนแท่นแก้วแววไว   สองกษัตริย์ชาญชัยก็นิทรา ฯ

จากนั้นก็บังเกิดฉาก Y ขึ้น ดังนี้

เวลาเงียบสงัดกำดัดดึก   พระรู้สึกขึ้นแล้วก็คว้าหา

ประสบองค์สังคามาระตา   พระราชาอุ้มสะพักใส่ตักไว้

กรเกี่ยวเกลียวกลมชมเชย   ตามเคยทุกวันไม่สงสัย

พลางพลอดกอดจูบลูบไล้   มิได้ลืมเนตรขึ้นแลดู ฯ

แต่เมื่ออิเหนารู้สึกตัว ก็รีบผละออกจากสังคามาระตา แก้เก้อทำเป็นนอนหลับ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

พอได้ยินสรวลขิกก็ได้คิด   จึงลืมเนตรขึ้นพิศอยู่เป็นครู่

เห็นสังคะมาระตาโฉมตรู   พระอดสูทิ้งลงเสียฉับพลัน

ให้ขวยเขินสะเทินวิญญาณ์   เอนองค์นิทราผินผัน

คิดละอายฤทัยพระทรงธรรม์   ทำบรรทมหลับนิ่งไป ฯ

สังคามาระตาก็คงอดขำไม่ได้ ทำเป็นเงียบไว้ ไม่คิดทักท้วงถามไถ่อิเหนา กลัวผู้เป็นพระเชษฐาจะโกรธเคือง

เมื่อนั้น   สังคามาระตาอัชฌาสัย

สรวลพลางทางปิดโอษฐ์ไว้   ด้วยกลัวภูวไนยจะโกรธา ฯ

สรุปแล้ว อิเหนาคงไม่ได้หลงรักผู้ชายเสียทีเดียว น่าสังเกตุที่ ฉาก Y ในวรรณคดีครั้งแรกสุด ระหว่างอิเหนากับสังคามาระตา สังคามาระตาน่าจะยังมีอายุน้อย เวลาต่อมา เมื่อปรากฏฉาก Y ในวรรณคดีครั้งแรกสุด ระหว่างอิเหนากับสียะตรา สียะตราก็ยังมีอายุน้อยเช่นกัน (ในเรื่องเล่าว่าสียะตรายังเล่นของเล่นอยู่)

ฉะนั้น ด้วยความที่อยู่ในช่วงอายุน้อย ยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว อาจเป็นช่วงวัยรุ่นตอนต้นที่ความเป็นชายชาตรียังไม่ปรากฏชัด และก็มีความงามอย่างสตรีอยู่ด้วย คงจะทำให้อิเหนาหักห้ามใจในความงดงามของสังคามาระตากับสียะตราแทบไม่ไหว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บทละครเรื่องอิเหนา จาก https://vajirayana.org/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2/

นายตำรา ณ เมืองใต้. (2545). อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิชย์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2565