“ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” อิเหนาว่าใคร แล้วอิเหนาเป็นเหมือนใคร

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดโสมนัสราชวรวิหาร ในภาพนี้เป็นตอนอิเหนารบกับท้าวกะหมังกุหนิง (ภาพจาก http://www.watsomanas.com)

สำนวน “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายสำนวนนี้ว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง (สำ) ก. ตำหนิผู้อื่นเรื่องใดแล้วตนก็กลับทำเรื่องนั้นเสียเอง”

ที่มาของสำนวนนี้ มาจากวรรณคดีเรื่อง “อิเหนา”

อิเหนาเป็นนิทานจากชวามลายูที่เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะในราชสำนัก อิเหนา พระเอกของเรื่อง เป็นโอรสท้าวกุเรปันที่ได้ตกลงกับท้าวดาหาบิดาของบุษบาว่า จะให้โอรสธิดาของตนหมั้นหมายกันไว้ (ซึ่งทั้งท้าวกุเรปันและท้าวดาหาคือ 2 ใน 4 เมืองที่เป็นวงศ์เทวา) แต่อิเหนาเกิดไปหลงรักจินตรา จึงขอยกเลิกการหมั้นหมายทั้งที่ยังไม่เคยเห็นหน้าบุษบา

ท้าวดาหาโกรธและเสียหน้าจึงประชดด้วยการยกบุษบาให้จรกา ขณะที่เทวดาผู้ทรงเป็นต้นวงศ์เทวาต้องการสั่งสอนอิเหนาจึงบันดาลให้วิหยาสะกำโอรสท้าวผู้ครองเมืองกะหมังกุหนิงได้เห็นรูปของบุษบาจนเกิดความหลงใหลได้ส่งทูตมาขอนางบุษบา แต่ถูกปฏิเสธอเพราะได้ยกให้จรกาไปก่อนหน้าแล้ว จึงเกิดศึกชิงนางบุษบา

อันเป็นที่มาของอินเหนาในตอน “ศึกกะหมังกุหนิง”

อิเหนาเองก็ต้องมาช่วยเมืองดาหารบกับวิหยาสะกำแบบไม่เต็มใจ เพราะไม่อยากจากจินตรา แต่ขัดคำสั่งพระบิดาไม่ได้ ทั้งตำหนิวิหยาสะกำและจรการ ว่า

ครั้นอ่านสารเสร็จสิ้นพระทรงฤทธิ์   ถอนฤาทัยให้คิดสงสัย

บุษบาจะงามสักเพียงไร   จึงต้องใจระตูทุกบุรี

หลงรักรูปนางอยู่อย่างนั้น   จะพากันมอดม้วยไม่พอที่

แม้งามเหมือนจินตะหราวาตี   ถึงจะเสียชีวีก็ควรนัก

แล้วตรัสกับดะหมังเสนา   เราจะยกโยธาไปโหมหัก

มิให้เสียวงศาสุรารักษ์   งดสักเจ็ดวันจะยกไป

เมื่อการศึกสงครามเสร็จสิ้น อิเหนาเป็นฝ่ายชนะวิหยาสะกำ ก็เข้าเมืองดาหามาเฝ้าท้าวดาหาและประไหมสุหรี และได้พบนางบุษบาเป็นครั้งแรกก็ถึงกับเพ้อออกอาการ ดังว่า

……………….   เมื่อระเด่นมนตรีเรืองศรี

เหลียวไปรับไหว้นางเทวี   ภูมีดูนางไม่วางตา

งามจริงยิ่งเทพนิมิตร์   ให้คิดเสียดายหนักหนา

เสโทไหลหลั่งทั้งกายา   สะบัดปลายเกศาเนืองไป

กรถอดอนุชาก็ตกลง   จะรู้สึกพระองค์ก็หาไม่

แต่เวียนจูบสียะตรายาใจ   สำคัญพระทัยว่าเทวี

ความรักรุมจิตต์พิศวง   จนลืมองค์ลืมอายนางโฉมศรี

ไม่เป็นอารมณ์สมประดี   ภูมีหลงขับขึ้นฉับพลัน

และนี่คือที่มาของสำนวนที่ว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พระบาทสมเด็จพระพุทธหล้านภาลัย. คำกลอนอิเหนา ศึกกะหมังกุหนิง, กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2467


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2562