เผยฉาก “แม่นากพระโขนง” ครอสโอเวอร์ โผล่ใน “ขุนช้างขุนแผน” ฉบับครูแจ้ง

ลายเส้น แม่นาก
[ซ้าย] ภาพลายเส้น แม่นากพระโขนง โดย ศรีสมิต ประกอบเรื่อง "นางนาคพระโขนง" ของ "ประภาศรี" ในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่วันจันทร์ ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 (ภาพจาก "เปิดตำนานแม่นากพระโขนง" โดย เอนก นาวิกมูล พ.ศ. 2549) [ขวา] นางพิมพิลาไลย จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. 2550

เรื่อง แม่นาก [1] พระโขนงเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยแม้ในปัจจุบันอย่างกว้างขวาง ย้อนหลังกลับไปประมาณ 10 ปี วงการบันเทิงของไทยก็มีกิจกรรมเกี่ยวกับแม่นากในหลายรูปแบบ เช่น ละคร ภาพยนตร์ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ทำรายได้ให้แก่ผู้จัดทำอย่างงดงาม และในอนาคตหากมีกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คงได้รับความนิยมเหมือนเช่นเคย ความสนใจเรื่องแม่นากพระโขนงมีผู้ค้นคว้า เรียบเรียง หลายท่านด้วยกัน เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายเอนก นาวิกมูล เป็นต้น

ในบทความนี้ผู้เขียนใคร่นำเสนอเกร็ดเรื่อง แม่นากพระโขนง ในเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน สำนวนครูแจ้ง ซึ่งแทบจะไม่มีผู้รู้จัก หรือเคยอ่านสำนวนนี้มาก่อนเลย ก่อนที่จะเข้าเรื่องผู้เขียนขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน สำนวนครูแจ้ง พอสังเขป เพื่อเป็นการปูพื้นฐานของผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

Advertisement
ศาล แม่นาก
ศาลแม่นาก เอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 (ภาพจาก “เปิดตำนานแม่นากพระโขนง” โดย เอนก นาวิกมูล. พ.ศ. 2549)

ครูแจ้งมีประวัติตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า

“เป็นครูเสภาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รุ่นหลัง มีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ 5 บ้านอยู่หลังวัดระฆังฯ แต่เดิมมีชื่อเสียงในการเล่นเพลง ถึงอ้างชื่อไว้ในบทเสภาตอนทำศพวันทองว่าหานายแจ้งมาว่าเพลงกับยายมา คือครูแจ้งคนนี้เอง มีเรื่องเล่ากันมาว่าครูแจ้งกับยายมานี่เป็นคนเพลงที่เลื่องลือกันในรัชกาลที่ 3 อยู่มาไปเล่นเพลงครั้งหนึ่งซึ่งครูแจ้งแก้ไม่ตก ขัดใจจึงเลิกเพลง หันมาเล่นเสภา และเป็นนักสวดด้วย ได้แต่งเสภาไว้หลายตอน” [2]

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ครูแจ้งแต่ง มีทั้งหมด 7 ตอน ดังนี้

1. ตอนกำเนิดกุมารทอง คือตอนที่ 16 ในฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ

2. ตอนขุนแผน พลายงาม ตีเชียงใหม่แก้พระท้ายน้ำ คือตอนที่ 29

3. ตอนแต่งงานพระไวย ตอนนี้ได้เคยตีพิมพ์เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในงานกฐินพระราชทาน ของราชบัณฑิตยสถาน ในปี พ.ศ. 2478

4-6. ตอนสร้อยฟ้าทำเสน่ห์ ตอนขุนแผนจับเสน่ห์ ตอนพระไวยรบกับพลายชุมพล

7. ตอนจระเข้เถรขวาด

เรื่องแม่นากพระโขนงนี้ปรากฏอยู่ในตอนที่ 4 คือ สร้อยฟ้าทำเสน่ห์ เรื่องมีว่า สร้อยฟ้าภรรยาพระราชทานของพลายงามซึ่งในขณะนั้นคือพระไวยหรือจมื่นไวย น้อยใจที่ตนไม่เป็นที่รักของสามี ถูกทอดทิ้งเป็นเวลานาน เมื่อจะเกิดเหตุเวลากลางคืนนางสร้อยฟ้าแอบมาฟังสามีภรรยาสนทนากันตามประสาข้าวใหม่ปลามัน และตามประสาคู่สามีภรรยาซึ่งมีความรักใคร่กันอย่างยิ่ง นางสีมาลา [3] ซึ่งก็คงเหมือนภรรยา [4] โดยทั่วๆ ไปที่ต้องการจะรู้ว่าสามีรักตนหรือภรรยาอื่นมากกว่ากัน จึงขอยกความดังนี้

ครานั้นสีมาลายาใจ
ค้อนให้แล้วก็ยิ้มอยู่ในหน้า
ฉม้ายมอบตอบไปด้วยวาจา
ชะหม่อมว่าใครไม่รู้ก็ตายใจ

คารมหม่อมไม่ยอมซึ่งยอยก
เอาอิ่มอกดังจะโดดขึ้นไปได้
แนะขะเออฉันจะถามเนื้อความใน
ถ้าบอกได้จึงจะเห็นว่าเช่นรัก

เจ้าสร้อยฟ้าเมียหม่อมเชื้อจอมเจ้า
หล่อนขำขาวงามรูปจำเริญศักดิ์
กับฉันรูปไม่ใคร่งามขอถามซัก
หม่อมขาจะรักใครมากกว่ากัน

จมื่นไวยผู้ไม่ลังเลใจที่จะต้องตอบ เพราะอยู่ลำพังกับนางเพียงสองต่อสอง คำตอบนั้นก็คือ

ครานั้นจึ่งโฉมเจ้าหมื่นไวย
ประโลมไล้ลูบนางพลางรับขวัญ
แม่ไม่เห็นฤๅจึงถามความเช่นนั้น
ทุกคืนวันพี่ได้ห่างนางเมื่อไร

ต่อนานๆ จึงไปนอนด้วยสร้อยฟ้า
ประทานมาให้เปนเมียเสียไม่ได้
ไปนอนแต่ละคืนต้องขืนใจ
คอยเมื่อไรจะรุ่งได้รีบมา

จะเปรียบกันเหมือนกับเจ้าไม่เท่าถึง
สิบเอาหนึ่งก็ไม่เท่าเจ้าอย่าว่า
ดูมันงอนเกินเจ้าไม่เข้าตา
ทั้งจริตกิริยาก็เกินตัว

นางสร้อยฟ้าซึ่งแอบฟังอยู่เมื่อได้ยินคำพูดของสามีสุดที่รักดังนั้น ก็สุดแสนจะทานทน นางอาละวาดทุบตีจนเกิดเสียงดังที่หน้าห้อง พระไวยในสภาพที่รีบร้อนตามคำของครูแจ้งก็คือ “ฉวยชายผ้าพันไม่ทันโจง” ก็ออกมาดูเหตุการณ์และได้พบกับนางสร้อยฟ้าซึ่งแก้ตัวอย่างพัลวันว่า “ออฉันมาไล่ตีแมวจะกละ” พระไวยซึ่งก็คงไม่สบอารมณ์นักจึงตอบกลับไปว่า “พระไวยว่าฉาๆ นี่หากบอก ถ้าพุ่งหอกหาไม่ดังกะทั่งกัน” นางสร้อยฟ้าผู้มีคารมจัดจ้านจึงตอบกลับไปอย่างไม่ลดละว่า

เจ้าสร้อยฟ้าแค้นค้อนย้อนตอบพลัน
เหนแล้วท่านแทงคนไม่เว้นคืน

พระอาทิตย์สิ้นแสงก็แทงร่ำ
แต่หัวค่ำร่ำสอึกจนดึกดื่น
ถ้าเสียงหอกหม่อมดังยังเสียงปืน
คนมิตื่นเต็มบ้านโดยตกใจ

เมื่อเหตุการณ์มาถึงเช่นนี้ก็คงยากที่จบลงได้ นางสีมาลาถูกกระทบไปหลายครั้ง แต่จมื่นไวยผู้สามีก็ปลอบโยนด้วยว่า

แม่อย่าเอาไม้สั้นมารันขี้
เหมือนคนดีไปเทลาะกับคนบ้า
ทีใครถ่มน้ำลายคายรดฟ้า
มันคงกลับลงมารดทัดเอง

เรื่องในคืนนี้จบลงตรงที่

พระไวยโกรธโดดรักฝักฟ้าฟื้น
ยืนน่าต่างขว้างปราดฉาดลงหัว
นางร้องกรีดหวีดว้ายกายสั่นรัว
ภอเลี้ยวตัวหลกกลับเข้าห้องใน

ภาเลี้ยวกลับนางก็หับประตูห้อง
น้ำตานองหลั่งหลั่งจะลุ่มใหล
แสนสอึกสอื้นอ้อนอ่อนอาไลย
ระทวยทอดตัวในที่นอนนาง

ความแค้นของนางสร้อยฟ้าในครั้งนี้ยิ่งนัก นางถูกสามีประจานต่อหน้าธารกำนัล ท่ามกลางภรรยาคนแรกของสามีและข้าทาสบริวาร นางถูกสามีลงทัณฑ์โดยไม่คำนึงถึงเกียรติของบิดานาง แต่ถึงอย่างไรก็ตามในวันรุ่งขึ้นเรื่องก็ไม่จบ นางสร้อยฟ้าก็หาเรื่องวิวาทกับนางสีมาลาอีก ในครั้งนี้ทั้งสองมีผู้ช่วยอย่างละหนึ่ง คือ นางสีมาลามีนางเม้ยผู้มีเชื้อสายมอญ ส่วนนางสร้อยฟ้ามีนางไหมเชื้อสายลาว ซึ่งต่อไปนางจะมีบทบาทอย่างยิ่ง

รายละเอียดเกี่ยวกับคำโต้ตอบ คำบริภาษของสองนาง ดุเดือดและเผ็ดร้อน ครูแจ้งผู้ขึ้นชื่อว่ามีฝีปากกล้าและมีอุปนิสัยในการเล่นเพลงโต้ตอบ ก็แสดงฝีปากอย่างคมคาย ครูแจ้งเป็นสามัญชน เพราะฉะนั้นการบรรยายภาพชีวิตของผู้หญิง 2 คนที่ร่วมสามีเดียวกัน ทำได้อย่างสมจริง

นางสีมาลาเมื่อถูกยั่วโทสะก็ไม่สามารถอดกลั้นหรือวางท่าในฐานะสตรีที่สงบเสงี่ยมอีกต่อไป เข้าลักษณะ “ขิงก็รา ข่าก็แรง” เรื่องนี้ก็ลงเอยเมื่อพระไวยกลับจากเข้าเฝ้า ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง ด้วยความรักภรรยาแรกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับไม่พอใจความจัดจ้านของนางสร้อยฟ้าอยู่แล้ว จึงออกอาการดังความที่พรรณนาไว้ว่า

ฉิอีสร้อยฟ้า ฉะเจ้างม อีเจ้าคารม หม่อมนั้นสิโง่
อีอุบาทว์ ออชาติมันพาโล
มึงจะโต้
โต้แล้วฤๅวะขะให้มันอึง

พระโกรธโดดชักหักซี่กรง
ฟาดลงกลางหลังต้ำผึง
นางก็ยิ่งส่งเสียงเถียงตะบึง
ดื้อเข้าถึงต้นขั้ว [5] ไม่กลัวตาย

พระไวยรู้ตัวกลัวเขาจะบีบ
เอาเท้าถีบต้ำกักมือชักหวาย
หวดร่ำขวับๆ ยับทั้งกาย
นางเต็มอายคนดูสู้กลั้นใจ

เจ้าสร้อยฟ้าผินหลังดังสำลี
ต้องสีหวายหวดปวดเลือดใหล
เจ็บเนื้อเหลือทนเปนพ้นใจ

เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงเพียงนี้ นางสร้อยฟ้าจึงตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือจากคนสำคัญคือเถรขวาดซึ่งมีคุณสมบัติตามที่พรรณนาไว้ว่า

เขาฦๅเลื่องกระเดื่องดังทั้งเชียงใหม่
ว่าคนเดียวสู้ได้ทั้งหมื่นแสน
เสกใบไม้บินปร๋อเปนต่อแตน
กับคุณพ่อหลวงแผนก็ภอกัน

ข้างเสน่ห์เล่ห์ลมก็คมกล้า
ทั้งคุณยาแฝดฝังขลังขยัน
แต่ผัวทิ้งทำกลับเสียนับพัน
เขาฦๅลั่นหลบตัวด้วยกลัวความ

เถรขวาดผู้เชี่ยวชาญในด้านไสยศาสตร์ ซึ่งผู้อ่านจะได้คุ้นเคยจากเสภาเรื่องเดียวกันนี้ในตอนที่ว่า กำเนิดกุมารทองแล้ว ก็ได้แสดงความสามารถของตนอย่างเต็มที่ ครั้งแรกที่เถรขวาดทำพิธีไม่สำเร็จเพราะพระไวยเป็นผู้มีวิชาไม่เหมือนผู้อื่น ครั้งที่ 2 จึงเริ่มต้นด้วยนางไหมถูกสั่งให้ไปซื้อขี้ผึ้งจาก 7 แหล่ง ขันสำฤทธิ์ ขันทอง ดินสอพอง ดินสอดำ กระดาษไทย ส้มป่อย 7 ฝัก ใบรัก ใบเต่ารัง ใบสะบ้า ขี้ผึ้งรั้ง มะกรูด 7 ใบ ใบตอง

เมื่อถึงวัน 7 ค่ำให้นางสร้อยฟ้ามาร่วมพิธี พร้อมทั้งจัดบายศรี พร้อมทั้งเครื่องเซ่น คือ กุ้งซ่า ปลายำ และขนมต่างๆ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยเถรขวาดก็เริ่มพิธีในตอนค่ำ นำไม้ไผ่มาปลูกศาลกลางป่าช้า วงสายสิญจน์ ตั้งบายศรีทั้งซ้ายขวา และเครื่องบัตรพลีที่มุมป่าช้าทั้ง 4 ทิศ จากนั้นก็อ่านพระเวท เสกข้าวสารเรียกผีและโหงพราย ผีชุดแรกได้แก่ อ้ายมั่น อ้ายคง อ้ายอยู่ อ้ายดี ก็ปรากฏตัวขึ้นมา โดยมีลักษณะ “ตาเหลือกแลบลิ้นหลอกกลอกตาวาว กายยาวสูงเยี่ยมเทียมยอดตาล” ผีโขมด 4 ตัวนี้มีประวัติว่าประกอบอาชีพลักควายขาย วันหนึ่งนั่งดื่มสุรากันอยู่ถูกฟ้าผ่าตาย

รายการต่อไป ผู้ที่เถรขวาดต้องการตัวก็คือกุมารทองปรากฏกายในรูปคนถือกระบอง แล้วกลายเป็นเปรตรูปร่างสูงใหญ่เหมือนเขาเขียว กุมารทองถูกข้าวสารเสกซึ่งจำต้องล่าถอยกลับไปพร้อมทั้งการมาถึงของนางพรายซึ่งพรรณนาไว้ว่า

กุมารหายอีพรายกล้าขึ้นมาลอง
พิโรธร้องก้องล่าป่าช้าผี
ด้วยชาติพรายกายเก่าเปนสัตรี
ก็ทำทีเหมือนเมื่อคนออกลูกตาย

เสียงกรีดหวีดหวายหงายเสือก
เย็นยะเยือกป่าช้าน่าใจหาย
เถรก็นั่งตั้งมั่นไม่พรั่นกาย
อีพรายก็เลือดตาแดงดังดวงตะเกียง

เดินรอบมณฑลบ่นกระหึม
เสียงพึมๆ เพาๆ กระเส่าเสียง
มันดูท่วงทีเถรไม่เอนเอียง
เหวี่ยงเท้าขึ้นไปเกี่ยวกับกิ่งยาง

หัวห้อยดูดังเหมือนค้างคาว
ผมยาวหยองยุ่งดูรุงราง
ลิ้นยาวขาวช่วงตากลวงกลาง
ร้องครางฮือๆ มือตะกาย

เถรขวาดข่มขู่ผีพรายทั้งสองให้ยอมอยู่ในถ้วยการเสกข้าวสาร จากนั้นจึงซักประวัติทั้งสอง คำตอบก็คือ

อีพรายกราบเถรเฒ่าเล่าคะดี
กระผม [6] นี่ชื่อนากอยู่บางพระขะโหนง
เจบครรภ์วันเสาร์เข้าสี่โมง
ตายโหงไปทั้งกลมผมเปนพราย

เจ้าคุณถามสันถานประมาณเด็ก
เปนลูกเล็กของข้าเจ้าจะเล่าถวาย
มาอยู่นี่นมนานธระมานกาย
นี่แลคือลูกชายตายในครรภ์

เถรขวาดให้รางวัลผีทั้งสองด้วยการ

แล้วส่งสุราพล่าพลีให้ผีพลัน
เจ้าชวนกันกินเถิดให้สำราญ

สองผีดีใจไหว้หลวงตา
แต่ตายมายังไม่ประสบพบอาหาร
ชวนกันกินเข้าปลาสุราบาน
รับประทานเต็มท้องทั้งสองรา

หลังจากกินอิ่มหนำสำราญแล้ว พระอาจารย์คนสำคัญก็ชักชวนทั้งแม่และลูกให้อยู่ด้วยกับตน โดยสัญญาว่าจะเลี้ยงทั้งสองให้อิ่มหนำสำราญ และได้รับคำตอบว่า

ผีก็รับวาจาว่าจะไป
แกเอาไฟลนน้ำมันเข้าทันที

จิกหัวเป่าส่งลงตัวนะ
มีดหมอฉะเอาหน้าผากนางนากผี
เข้าจับง้างคางกุมารออกให้ดี
ตาชีเป่าอาคมก้มกัดลิ้น

ครั้นเสร็จสมปรารถนาของตาเถร
ร้องเรียกเณรขนหัวผีขึ้นกระฎีสิ้น

เถรขวาดใช้ประโยชน์จากลิ้นกุมารโดยใส่บางส่วนไว้กึ่งกลางขี้ผึ้งรูปปั้นพระไวยและนางสร้อยฟ้า และสมมติว่าเป็นชีวิต และอีกบางส่วนก็ใส่ในกลางดอกจำปา ดังความที่พรรณนาไว้ว่า

จะกล่าวถึงเถรขวาดราชครู
แกรอบรู้สิ้นสุดทั้งพุทธ์ไสย
อยิบจำปาเก้ากลีบมาทันใด
เอาลิ้นกุมารฝานใส่ไส้จำปา

อยิบเอาน้ำมันพลายป้ายกลีบใน
แกตั้งใจปลุกเศกถ้วยคาถา
ดอกไม้ต้องอาคมกลมเข้ามา
เปนตัวตาตีนสัตว์น่าอัศจรรย์

แกเศกปลุกลุกขึ้นเต้นเปนแมงภู่
บินวู่วนเวียนเข้าเหียนหัน
แกสั่งซ้ำกำชับไปฉับพลัน
ว่าจำปาจงพาขวัญพระไวยไป

ปนกับขวัญสร้อยฟ้าอย่าเคียดขึ้ง
ไม้ตรีกรึงเที่ยงตรงรักหลงใหล
ถึงผีสางจะกางกั้นไว้ฉันใด
กุมารไปช่วยป้องให้ต้องตน

สั่งเสร็จแล้วก็เศกส่งแมงภู่
แล้วบินวู่ตามแนวแถวถนน
ครั้นเวลาดึกกำดัดสงัดคน
เจ้าดอดด้นเข้าน่าต่างทางลูกกรง

ภุมรินบินร้องอยู่ริมหู
เสียงหวู่วังเวงใจพระไวยหลง
นั่งฉะแง้แลดูแมงภู่งง
ก็ตกลงตรงหน้าพระหมื่นไวย

ภุมรินสูญหายกลายเปนจำปา
หอมชื่นวิญญาไม่ทนได้

และแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามที่นางสร้อยฟ้าคาดหวังไว้ พระไวยหลงเสน่ห์นางอย่างถอนตัวไม่ขึ้น รวมทั้งนางทองประศรีด้วย ส่วนบทบาทของนางนากและกุมารก็มิได้มีการกล่าวถึงอีกเลย แต่ถึงกระนั้นในทรรศนะของผู้เขียนเรื่องนี้ก็มีน่าสนใจ เพราะเป็นข้อมูลที่ไม่มีใครรู้จักหรือเคยอ้างอิงมาก่อน

ครูแจ้งตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3-5 เรื่องราวของนางนากคงเป็นที่กล่าวขวัญและโจษจันกันอย่างแพร่หลายจนครูแจ้งเก็บมาพรรณนาไว้ในงานของตน และแน่นอนที่สุดแม่นากก็น่าจะเป็นคนรุ่นก่อนครูแจ้งไม่มากก็น้อย ซึ่งน่าจะประมาณว่าอยู่ในระหว่างรัชกาลที่ 2-3 ต้นรัตนโกสินทร์

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของนางนากจากเสภาขุนช้างขุนแผนฝีปากครูแจ้งเท่าที่จะมีหลักฐาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : ผู้เขียนมักได้ยินได้ฟังเสมอว่าเมื่อมีการกล่าวอ้างถึงกับข้าวโบราณและวิธีทำ มักอธิบายว่ามาจากเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนนางสีจันทน์มารดาของนางบัวคลี่สอนนางบัวคลี่เรื่องเสน่ห์ปลายจวักในตอนส่งตัวนางบัวคลี่ให้ขุนแผน (คือ ต. 16 ในฉบับหอพระสมุด) จึงขอชี้แจงไว้ว่าเรื่องการทำอาหารไม่มีอยู่ในตอนนี้หากแต่อยู่ในตอนที่นางสร้อยฟ้าทำเสน่ห์คือในบทความนี้ และเป็นเรื่องจมื่นไวยสนทนากับพลายชุมพลถึงความเอร็ดอร่อยของสำรับอาหารที่นางศรีมาลาเป็นผู้ปรุง ซึ่งขอคัดมาดังนี้

ชุมพลเลื่อนขยับสำรับให้   นั่งจาระไนกับเข้าทุกสิ่งสรรพ์
แกงหมูฉู่ฉี่หมี่ทอดมัน   ไข่จันละเมดห่อหมกทั้งจันลอน
ไส้กรอกหมูแนมแกมทองหลาง   ปลาดุกย่างกะปิขัวใบบัวอ่อน
แกงปลาไหลไก่พะแนงแกงร้อน   ปลาโคกลคอนเขื่องขับปากจานดี
แนะหม่อมพี่สีมาลาบันจงทำ   ไม่เอิบอารมณ์เหมือนต้มยำดอกขาพี่
ซื้อปลาช่อนตัวใหญ่ๆ ที่ไข่มี   ทำใส่อ่างล้างสีให้สิ้นคาว
ต้มน้ำเสียก่อนให้ร้อนฉ่า   แล้วเอาปลาใส่เคี่ยวให้น้ำขาว
ทุบตะไคร้ม้วนใส่ทั้งท่อนยาว   เข้าสารซาวใส่ถ้วยช่วยหนุนปลา
น้ำพริกต้มยำทำให้ถึงที่   น้ำปลายิปุ่นกะปิดีที่เสาะหา
เมื่อตักนั้นสันสีสะกะพุงมา   ช้อนเอาไข่ใส่น่าให้ชูใจ
กระเทียมสดบดใส่สักสามกลีบ   มะนาวบีบลงดีผักชีใส่
น้ำพริกเจือน้ำปลาฬ่อให้จุใจ   เอาช้อนโบกเข้าโหดไร้แล้วได้แรง
ครั้นกินแล้วเมื่อค่ำสำเนียก   ถึงเนื้อหนังจะอ่อนเปียกก็คงแขง
เกิดกำลังวังชาหน้าตาแดง   ให้เจาะเสาไปจนแจ้งไม่เหนื่อยเลย

————————–

ยังอีกสิ่งหนึ่งก็ดีจะชี้แจง   อุส่าห์แต่งให้หม่อมพี่กินดีครัน
พี่เสาะซื้อไข่ไก่ไข่เต่านา   ทำน้ำปลาแมงดาหัวหอมหั่น
แต่ลักขะณะต้มไข่ให้สัมคัญ   ถ้าต้มดีแล้วมีมันขยันนัก
ถ้าต้มสุกเสียสิ้นแล้วกินจืด   ต้มภอยืดเยอะเปนยางมะตูมตัก
กินกะเข้าสิ้นชามสักสามพัก   แต่หัวค่ำแล้วคักตลอดคืน


เชิงอรรถ :

[1] ต้นฉบับเขียน “แม่นาก” ผู้เขียนจึงใช้ตามต้นฉบับ

[2] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, “คำนำ” เสภาขุนช้างขุนแผนสำนวนครูแจ้ง ตอนแต่งพระไวย 2498, โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ (ราชบัณฑิตยสถานแจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดสังเวชวิชยาราม พ.ศ. 2478)

[3] คัดลอกตามต้นฉบับ เช่นเดียวกับคำประพันธ์ทั้งหมดที่คัดมาประกอบในบทความนี้

[4] เมื่อเทียบฐานะความเป็นภรรยาของพระไวย ระหว่างนางศรีมาลากับนางสร้อยฟ้า นางศรีมาลาเป็นภรรยาแรก ส่วนนางสร้อยฟ้าเป็นภรรยาพระราชทาน ซึ่งมีฐานะสูงกว่านางศรีมาลา แต่ในเรื่องผู้แต่งคือครูแจ้งซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญ คงไม่ตระหนักถึงความสำคัญของ “ภรรยาพระราชทาน” หรือ “ภรรยาถือน้ำ” ซึ่งไม่บังควรที่จะมีการกระทำที่หยาบช้าต่อนาง จนชั้นลงโทษนางก็ทำไม่ได้หากไม่กราบบังคมทูลให้ทรงทราบก่อน

[5] รัตนมาลา อธิบายว่า “อัณฑะ”

[6] การใช้คำสรรพนามในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังไม่ลงตัว ดังเช่นคำว่า “ดิฉัน” ก็ใช้กับบุรุษได้


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤษภาคม 2560