ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“หอมติดกระดาน” ได้ยินกันบ่อยๆ ส่วนใหญ่มักเป็นการกล่าวถึง “สาวชาววัง” ไม่ว่าพวกเธอจะไปที่ใดก็มักจะทิ้งกลิ่นหอมติดที่นั่งไว้ อันเนื่องจากเสื้อผ้า และเนื้อตัวที่มีกลิ่นหอม ใช่แต่สาวไทย สาวจีนก็ให้ความสนใจเรื่องกลิ่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดกลิ่นตัวที่ไม่พึงประสงค์ หรือหากลิ่นที่หอมมาใช้งาน
หลีหยา นักเขียนชาวจีนได้รวบรวมความรู้เรื่องเครื่องสำอางชนิดต่างๆ ในอดีตของจีน ไว้ในหนังสือชื่อ “งามเพราะแต่ง ประวัติศาสตร์การประทินโฉมตำรับจีน” (สนพ.มติชน, พฤษภาคม 2564) สำนวนแปลของเรืองชัย รักศรีอักษร กล่าวถึง แป้งผัดหน้า, ครีมทาตัว, การบำรุงผิว ฯลฯ
อย่างเรื่องเครื่องหอม พบว่ามีมาตั้งแต่ยุคชุนชิวจ้านกว้อเป็นต้นมา ชวีหยวน-กวีผู้ยิ่งใหญ่ บรรยายการใช้ดอกไม้และหญ้าหอมในกวีของเขา หลังจากสมัยราชวงศ์ฉินและฮั่นก็มีการทําเตากํายานที่วิจิตรบรรจง แต่ที่ล้ำสุดๆ ก็คือสมัยเว่ยจิ้น และราชวงศ์เหนือใต้ แม้แต่บรรดาขุนนางก็พรมเสื้อผ้าด้วยน้ำหอม สมัยราชวงศ์ถังเครื่องหอมชนิดต่างๆ ก็ก้าวหน้าถึงขีดสุด มีเครื่องหอมหลากหลายรูปแบบ ภาชนะบรรจุเครื่องหอมก็ประดิดประดอย
ผู้เขียน (หลีหยา) กล่าวถึงวิธีใช้เครื่องหอมของชาวจีนโบราณว่า “ไม่ได้หยุดความหอมอยู่ที่ระดับผิวนอกอย่างคนปัจจุบัน แต่ทําให้เครื่องหอมแทรกลงไปถึงไขกระดูก เรียกว่าใช้ความหอมจนถึงขีดสุด”
สำหรับความหอมของร่างกายนั้น ตำราแพทย์โบราณกล่าวว่าตำรับยาตัวหอมแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ตำรับยาให้ตัวหอม (กำจัดกลิ่นตัว), ตำรับยารมและอบเสื้อผ้า และตำรับถุงเครื่องหอม ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะ “ตำรับยาทำให้ตัวหอม” หรือ “เครื่องหอมการกำจัดกลิ่นตัว” เท่านั้น
เมื่อพูดถึงกลิ่นตัวก็หนีไม่พ้นรักแร้ อันเป็นแหล่งแพร่กระจายกลิ่น ถ้าเป็นปัจจุบันเราก็ใช้โรลออน/สเปรย์ระงับกลิ่นกาย, น้ำหอม ฯลฯ ทาหรือฉีดก็จบ หากใครเป็นสายอนุรักษ์ก็ใช้สารส้มแบบสมัยโบราณก็ได้
แต่ที่หลีหยารวบรวมการกำจัด “กลิ่นเต่า” อย่างเดียวก็มีเป็นหลายสิบๆ ตำรับแล้ว และวิธีใช้หลากหลายก็มีตั้งแต่ ทา, หนีบ, ถาบ, อาบ, พ่น, กิน ทีนี้เราก็มาพูดถึงบางส่วนของตำรับกำจัดกลิ่นตัวกัน
ตำรับฉุกเฉินฉบับพกพา เล่ม 6 โดยเก่อหง สมัยราชวงศ์จิ้น มีตำรับกำจัดกลิ่นรักแร้ 3 ตำรับ หนึ่งในนั้นคือ “ตำรับกำจัดกลิ่นรักแร้ เชียนจิน” เขียนว่า
“ฝูหลงกาน ผสมน้ำให้เหนียวข้น ทารักแร้ ได้ผลทันที ตำรับว่ายไถกำจัดกลิ่นรักแร้ ถ้าตามซอกและจุดอับมีกลิ่นเหม็นประจำหรือมีตุ่มพอง ให้ใช้ชิงมู่เซียง แช่น้ำส้มสายชูหมักอย่างดี ทาใต้รักแร้ หนีบแขนไว้ รักษาหายได้”
เป้ยจี๋เชียนจินเย่าฟาง เล่ม 6 โดยซุนซือเหมี่ยว สมัยราชวงศ์ถัง มีตำรับกำจัดกลิ่นรักแร้ 10 กว่าตำรับ หนึ่งในนั้นคือ “ตำรับยาลูกกลอนเครื่องหอมห้าชนิดกําจัดกลิ่นปากและกลิ่นตัวเหม็น” เขียนว่า
“โต้วโข้ว กานพลู ฮั่วเซียง หลิงเซียง ชิงมู่เซียง ไป๋จื่อ กุ้ยซิน อย่างละ 1 ตําลึง เซียงฟู่จื่อ 2 ตําลึง กานซงเซียง ตังกุย อย่างละครึ่งตําลึง หมาก 2 ผล
บดส่วนผสมทั้งหมดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเหลือง อมครั้งละเม็ดเป็นประจำกลืนพร้อมกับน้ำลาย กลางวัน 3 ครั้ง กลางคืน 1 ครั้ง อมบ่อยๆ ได้ 5 วันปากหอม 10 วันกลิ่นตัวหอม 27 วันเสื้อผ้าก็หอมด้วย 30 วันอยู่ใต้ลมก็ได้กลิ่นหอม 47 วันล้างมือน้ำที่หยดพื้นก็หอม 57 วันใครแตะถูกตัวก็หอมด้วย ควรงดอาหารเม็ด 5 อย่าง”
เชียนจินอี้ฟาง เล่ม 5 โดยซุนซือเหมี่ยว สมัยราชวงศ์ถัง มีตำรับกำจัดกลิ่นรักแร้ 8 กว่าตำรับ มี 2 ตำรับที่จะกล่าวถึงคือ
“ตำรับจำกัดกลิ่นตัว ทำให้ตัวหอม” เขียนว่า
“ใบไผ่ 10 ตำลึง เปลือกต้นท้อ 4 ตำลึง ต้มในน้ำ 1 ต้าน 2 โต่ว ต้มงวดเหลือ 5 โต่ว ใช้อาบ ทำให้ตัวหอม”
“ตำรับกำจัดกลิ่นรักแร้” เขียนว่า
“หม่าฉือ 1 กำ บดละเอียด ผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นก้อน ห่อด้วยกระดาษ ปิดด้วยดินเหนียวหนาครึ่งนิ้ว ตากแดดให้แห้งแล้วเผาให้ร้อน ผสมน้ำผึ้งเล็กน้อย ใช้ขณะที่ร้อน โดยใช้ผ้าใหม่ถูรักแร้ก่อน แล้วโปะยาจะรู้สึกแสบร้อน จากนั้นใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัวจะได้ผลดี”
เสิ่งจี้จ่งลู่ เล่มที่ 17 ซ่งฮุยจงฮ่องเต้สมัยราชวงศ์ซ่งโปรดให้เรียบเรียง มีตำรับกำจัดกลิ่นรักแร้ 7 กว่าตำรับ หนึ่งในนั้นคือ “ตำรับคราบจักจั่น กําจัดกลิ่นรักแร้” เขียนว่า
“คราบจักจั่น 49 ตัว บ๊วยดำ 7 ลูก เอาเมล็ดออก คั่วเล็กน้อย ลี่ว์ฝาน 1 ตำลึง น้ำด่าง 1 เก่อ เหรียญทองแดงโบราณ 7 เหรียญ ซิ่งเหริน 7 เม็ด (แช่น้ำ ลอกเปลือกออก) บดส่วนผสมทั้งหมดให้เป็นผง ยกเว้นเหรียญทองแดง ใส่น้ำด่างคนให้เข้ากัน ใช้สบู่ล้างรักแร้ เช็ดให้แห้ง แล้วใช้เหรียญทองแดงขัดรักแร้ พอรู้สึกร้อนให้ถอนขนออกแล้วทายา ทาทับด้วยแป้งผัดหน้า สองสามครั้งก็เห็นผล”
โส้วสื้อเป่าหยวน เรียบเรียงโดย กงถิงเสียน สมัยราชวงศ์หมิง มีตำรับกำจัดกลิ่นรักแร้ 8 กว่าตำรับ หนึ่งในนั้นคือ “ตำรับยาลูกกลอนวูหลงกำจัดกลิ่นรักแร้” เขียนว่า
“ตังกุยคั่ว 1 ตำลึง ตี้หวงจากเมืองไหว 2 ตำลึง บดละเอียด ฝูหลิงขาวแกะเปลือก 2 ตำลึง โก่วฉีคั่ว 1 ตำลึง เนื้อสือเหลียนคั่ว 1 ตำลึง กานพลู 3 สลึง เนื้อเม็ดบัวเผา 5 สลึง มู่เซียง 5 สลึง หรูเซียง 5 สลึง ชิงมู่เซียง 5 สลึง พิมเสนบด 1 เฟิน 5 หลี จิงโม่ 5 สลึง
บดส่วนผสมทั้งหมดเป็นผง ห่อด้วยใบบัว ใส่ข้าวสวย เผาแล้วบดละเอียด เติมตี้หวง ปั้นเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเหลือง ใช้ชะมดเชียง 1 เฟิน ละลายด้วยเหล้าเหลืองเคลือบลูกกลอน กินครั้งละ 30-40 เม็ด ก่อนนอนกิ่งหิวกึ่งอิ่ม คั่วซาเหริน 1-2 เฟิน เติมเหล้าเหลือง กินพร้อมยาลูกกลอน”
ส่วนผสมหลายรายการที่เป็นชื่อสมุนไพรและยาจีนนั้น ผู้เขียน (หลี่หยา) ทำอภิธานศัพท์ไว้ด้านหลังของหนังสือ มีภาษาจีนและชื่อทางวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ ฯลฯ ให้ผู้สนใจค้นหาเพิ่มเติม ก็ลองไปดูกันว่าใครบ้างจะหอมทนทาน หอมติดกระดาน
อ่านเพิ่มเติม :
- วิธีซักรีดผ้าของชาววัง ในวันที่ไม่มีผงซักฟอก-น้ำยาปรับผ้านุ่ม-เตารีดไฟฟ้า
- เขากวางก็มา ขาหมูก็มี! สูตรเด็ดความงามกว่าพันปีของสาวจีน
- “ปมด้อย” ของ 4 ยอดหญิงงาม ในตำนานจีน : ไซซี-หวางเจาจิน-เตียวเสียน-หยางกุ้ยเฟย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2564