บทบาทพุทธศาสนาในสังคมญี่ปุ่น กับการแก้ปมคนทำงานหนักเกินด้วยพิธีทางจิตวิญญาณ

วัด ศาสนา นักบวช พุทธ ญี่ปุ่น พิธี
ภาพตัวอย่างจำลองการทำพิธี Yukyu Joka โดยพระที่จะมีขึ้นในวันขอบคุณแรงงาน มีโคมไฟล้อมรอบ (ภาพจากเว็บไซต์ https://kuriyaso.net/yukyu)

บทบาท พุทธศาสนาในญี่ปุ่น กับการแก้ปมคนทำงานหนักเกินด้วยพิธีทางจิตวิญญาณ

ชื่อเสียงเรื่องระเบียบวินัยและความมุ่งมั่นใน การทำงานหนัก ในหมู่ชาวญี่ปุ่นเป็นที่เลื่องลือไปทุกสารทิศ กระนั้น จุดเด่นเหล่านี้เองกลับกลายเป็นคมดาบที่หันกลับมาทิ่มแทงวิถีชีวิตของพวกเขาดังที่หลายท่านมักคุ้นเคยข่าวพนักงานในญี่ปุ่นเสียชีวิตจาก การทำงานหนัก หรือที่เรียกกันว่า Karoshi

บรรดาผู้บริหารและฝ่ายปกครองของญี่ปุ่นพยายามหาทางแก้ด้วยกรรมวิธีหลากหลาย มีตั้งแต่สร้างแรงจูงใจให้ลางานได้โดยได้รับค่าจ้าง ไปจนถึงการใช้พิธีกรรมทางจิตวิญญาณ

ปัญหา การทำงานหนัก ในสังคมญี่ปุ่นเป็นที่รับรู้มายาวนานนับทศวรรษแล้ว ตัวเลขการใช้วันหยุดลาพักร้อนโดยไม่ถูกหักเงินในญี่ปุ่นถือว่าต่ำที่สุดอีกแห่งหนึ่งในโลก โดยสถิติการใช้วันหยุดรูปแบบนี้ในปี 2017 อยู่ที่ 51.1 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่าองค์กร/บริษัทต่างๆ มองข้ามปัญหานี้ไป แม้แต่รัฐบาลเองยังแสดงท่าทีให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบทำงานในปี 2018 ผ่านระเบียบการปฏิรูปใหม่ มีผลในเดือนเมษายน 2019 ลูกจ้างที่ทำงานในญี่ปุ่นต้องเริ่มปฏิบัติงานให้เข้ากับระเบียบใหม่ อาทิ ระยะเวลาทำงานล่วงเวลาสูงสุดที่ห้ามลูกจ้างทำเกินเวลาเพดานที่กำหนดในระดับต่างๆ หรือให้ลูกจ้างต้องใช้วันลาพักร้อนโดยไม่ถูกหักเงินเดือนอย่างน้อย 5 วัน หากยังไม่ได้ใช้วันหยุดลาพักร้อนประจำปีที่มีเกิน 10 วัน

แต่ดูเหมือนว่ากระบวนการแก้ปัญหาอาจยังไม่ส่งผลลัพธ์มากในระดับที่น่าพอใจสำหรับทุกฝ่าย ไม่นานมานี้มีรายงานข่าวที่ทำให้คนทั่วโลกสนใจกับวิธีการแก้ปัญหามากขึ้น เนื้อหาในรายงานข่าวที่ว่าเอ่ยถึงกระบวนการแบบบริษัทไมโครซอฟต์ (Microsoft) ประจำประเทศญี่ปุ่นซึ่งเริ่มโปรเจคท์ทำนอง “ปฏิรูปการทำงาน” (Working Reform Project) ใช้ชื่อเรียกว่า “บททดสอบในทางเลือกว่าด้วยความสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิต ประจำฤดูร้อน 2019” (Work-Life Choice Challenge Summer 2019) ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

บริษัทลองใช้ระบบเพิ่มวันหยุดในแต่ละสัปดาห์เป็น 3 วัน ใช้วันศุกร์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์วันที่ 3 ในกลุ่มพนักงานปะมาณ 2,300 คน วันหยุดที่ว่าไม่เกี่ยวข้องกับวันหยุดพักร้อนด้วย

ผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าน่าสนใจ สถิติพนักงานลาหยุดในเดือนที่ทดลองลดลง 25.4 เปอร์เซ็นต์ ใช้ไฟฟ้าลดลง 23.1 เปอร์เซ็นต์ และพิมพ์เอกสารน้อยลง 58.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตัวเลขการผลิตเนื้องานเพิ่มขึ้น 39.9 เปอร์เซ็นต์ สรุปง่ายๆ ว่า แม้พนักงานจะทำงานน้อยลง แต่สามารถทำงานสำเร็จลุล่วงจำนวนมากขึ้น แน่นอนว่า เนื้องานที่สามารถปรับลดวันทำงานได้ก็มีจำนวนหนึ่ง ยังมีลักษณะงานอีกหลายประเภทที่คงนำรูปแบบการทำงานลักษณะนี้ไปปรับใช้ได้ยากกว่า

นอกเหนือจากการออกระเบียบเพื่อปรับวิถีและแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานของลูกจ้างในญี่ปุ่นแล้ว อีกวิธีการที่กำลังจะได้พบเห็นกันยังไม่พ้นกรรมวิธีทางจิตวิญญาณดังที่มีการตั้งกิจกรรมในโตเกียว โดยผู้จัดเรียกงานที่จะจัดในวัน “ขอบคุณแรงงาน” (Labor Thanksgiving Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 23 พฤศจิกายนในญี่ปุ่นว่า “Yukyu Joka 有休浄化” (ทำนอง ชำระบาปวันลาพักร้อนแบบไม่โดนหักเงินเดือน)

เดิมทีนั้น วันขอบคุณแรงงานก็มีความหมายตรงตัวอยู่แล้วว่าเป็นวันที่คนในประเทศแสดงความขอบคุณแรงงาน (หรือผู้ให้บริการ) และที่กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นในวันนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้วันลาหยุดโดยยังได้รับค่าจ้างอยู่ตามกฎหมาย

รายงานข่าวเผยว่า กิจกรรมพิเศษในครั้งนี้จะมีพระนิกายโจโดนาม Takuro Sayama มาประกอบพิธีและนำกิจกรรมบางอย่างที่มีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงความสำคัญของการใช้วันลาหยุดโดยไม่ถูกหักเงินตามกฎหมาย ในกิจกรรมนี้มีลักษณะคล้ายกับพิธีที่เรียกกันว่า kuyo 供養 ซึ่งหมายถึง “การส่งดวงวิญญาณไปสูสุขคติ” และเป็นการทำให้กับสิ่งที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เรียกได้ว่าเป็นพิธีกรรมในทางจิตวิญญาณ ในทางกลับกัน หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบเข้าใจง่ายขึ้น กิจกรรมในวันขอบคุณแรงงานก็เปรียบเหมือน kuyo สำหรับวันลาหยุดที่ไม่ได้ถูกใช้งานนั่นเอง

รายละเอียดในพิธีถูกเปิดเผยโดยสำนักข่าวท้องถิ่นว่า พระที่ประกอบพิธีจะรายล้อมด้วยโคมไฟ 300 ดวงที่แต่ละดวงมีข้อความแสดงความเสียใจจากคนที่ไม่ได้ใช้วันลาหยุด (ผู้จัดเลือกจากข้อความที่เปิดให้คนส่งเข้ามาก่อนหน้างานเริ่มจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน) แต่หากพลาดโอกาสส่งข้อความผ่านเว็บไซต์เพื่อคัดเลือกไปร่วมพิธี ผู้จัดยังจัดโคมไฟไว้ตามจุดเพื่อให้ผู้สนใจเขียนข้อความส่วนตัวลงไปแล้วจุดโคมไฟขึ้นระหว่างพิธีดำเนินอยู่

สิ่งที่ถูกนำไปสร้างความหมายผ่านวัตถุอย่างโคมไฟ เป็นการให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ในฐานะตัวแทนของ “จิตวิญญาณ” ของวันลาหยุดที่ไม่ได้ถูกใช้งาน ซึ่งจะถูก “ไว้ทุกข์/ไว้อาลัย” และ “ชำระบาป” ผ่านการสวดของพระ (คลิกชมเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกิจกรรม)

พิธีกรรมที่ว่านี้อาจแตกต่างกับแง่มุมเกี่ยวกับพิธีกรรมในนิกายอื่นๆ การทำความเข้าใจความแตกต่างนี้อาจต้องสืบย้อนความเป็นมาเพื่อพิจารณาถึงเส้นทางของพุทธศาสนาในสังคมญี่ปุ่น

ในสังคมญี่ปุ่นนับตั้งแต่เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์รวมประเทศแล้ว เป็นที่รับรู้กันดีในวงวิชาการว่าศาสนาพุทธเป็นอีกหนึ่งอิทธิพลสำคัญต่อชีวิตในแง่ศาสนาของคนญี่ปุ่น อิทธิพลยังส่งผลไปถึงวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมด้วย ยุพา คลังสุวรรณ นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นอธิบายว่า พุทธศาสนาเข้ามาในญี่ปุ่นและมีบทบาทสำคัญในด้านการศึกษาและวัฒนธรรมจนเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขาไป และฝังรากลึกในสังคมมาตลอด ในแง่มุมหนึ่งพุทธศาสนายังวางรากฐานท่ามกลางประเพณีและบรรยากาศทางสังคมในแบบของญี่ปุ่นเอง ด้วยลักษณะดังกล่าวพุทธศาสนาในญี่ปุ่นจึงมีลักษณะพิเศษในแบบบริบทของสังคมญี่ปุ่น

หากย้อนกลับไปในช่วงต้นที่พุทธศาสนาเข้ามาในญี่ปุ่นช่วงศตวรรษที่ 6 ญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงวางรูปแบบโครงสร้างทางสังคมใหม่ กล่าวคือ การรวมตระกูลที่กระจัดกระจายมาอยู่ภายใต้การดูแลของตระกูลจักรพรรดิ ช่วงรอยต่อ พุทธศาสนาถือว่าเป็นสื่อนำวัฒนธรรมจีนที่อยู่ในระดับพัฒนากว่าเข้ามาในญี่ปุ่นด้วย ดังเช่นระบบการเขียนแบบจีนที่ชักนำวัฒนธรรมแบบจีนเข้ามาสู่ญี่ปุ่น ผู้นำทางการเมืองและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นก็มองว่าพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่งที่ก้าวหน้า

ยุพา คลังสุวรรณ อธิบายว่า “การยอมรับพุทธศาสนาในช่วงแรกเป็นการยอมรับที่มาของศาสนาจากการวางแนวพุทธศาสนาของตระกูลจักรพรรดิและตระกูลชนชั้นสูงที่มีอิทธิพล จนกระทั่งถึงยุคกลาง (ยุคคะมะกุระ พ.ศ. 1185-1333) และยุคมุโระมะจิ (1336-1573) ที่พุทธศาสนาเริ่มแทรกซึมเข้าไปสู่วิถีชีวิตของสามัญชนมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังยุคกลางซึ่งเป็นช่วงที่พุทธศาสนาเริ่มแพร่เข้าสู่สามัญชน หลังจากนั้นพุทธศาสนาก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐและไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากชนชั้นสูง นักวิชาการมองว่า เป็นเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจทำให้พุทธต้องหาผู้สนับสนุนจากสามัญชนโดยการให้บริการในเรื่องพิธีกรรม อาทิ สวดศพ และพิธีอื่นที่เกี่ยวกับคนตาย ประการที่น่าสนใจอีกแง่มุมหนึ่งคือ พุทธศาสนาในญี่ปุ่น ซึ่งเกี่ยวกับเวทมนตร์ถาคามีบทบาทเพื่อนำมาแก้ปัญหาทางโลกมากกว่ากิจกรรมเกี่ยวกับความตายด้วย วัดทางพุทธต้องตอบสนองความต้องการของปัจเจกชน ทำให้หายป่วย ปลอดภัย เจริญก้าวหน้า และมั่งคั่ง ไปจนถึงเรื่องความสงบ หรือชัยชนะในสงคราม มาจนถึงการอ้อนวอนขอให้การสวดพระสูตรและการทำพิธีกรรมส่งผลดีต่อชีวิต

สำหรับแง่มุมเกี่ยวกับเทพเจ้าในศาสนานั้น นักวิชาการมองว่า คนญี่ปุ่นเชื่อว่าพุทธเจ้าเป็นเทพองค์หนึ่ง ซึ่งความเป็นเทพไม่ต่างกับเทพในศาสนาชินโต แต่พุทธเจ้าเป็นเทพต่างชาติ ส่วนเทพในศาสนาชินโตเป็นเทพท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในหมู่ตระกูลต่างๆ ก็ยังปรากฏความเชื่อลักษณะว่าการเข้ามาของเทพต่างชาติจะทำให้เทพท้องถิ่นไม่พอใจ จนเกิดความขัดแย้งระหว่างตระกูลผู้สนับสนุนพุทธศาสนาเข้ามาญี่ปุ่น กับตระกูลที่ไม่ต้องการพุทธศาสนาเข้ามากลายเป็นความขัดแย้งระหว่างนักรบไปด้วย

ยุพา ยังมองว่า ลักษณะพิเศษของ พุทธศาสนาในญี่ปุ่น ดังที่เอ่ยถึงไปแล้วข้างต้นว่า เน้นความสำคัญของสถาบันมนุษย์ แนวคิดพุทธไม่ได้จำกัดอยู่แค่วัด พุทธศาสนาเป็นการพัฒนาของผู้นำที่เป็นฆราวาส และเป็นศาสนาที่ยอมรับแนวคิดศาสนาอื่น แต่หากคำสอนส่วนใดไม่เข้ากับแบบแผนของสังคมญี่ปุ่น คำสอนพุทธก็จะถูกจำกัดไม่ให้นำมาใช้ นี่คืออีกส่วนที่รัฐญี่ปุ่นเลือกสรรบางส่วนของคำสอนพุทธศาสนา จนเป็นผลให้แนวคิดพุทธแบบญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่นต่างจากพุทธศาสนาในประเทศอื่น

แน่นอนว่า กรอบแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาในแต่ละรูปแบบหรือนิกายย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว ถึงจะเป็นภายในประเทศเดียวกันก็ตามที สาระสำคัญของการมองความเชื่อเหล่านั้น ส่วนหนึ่งย่อมมาจากการทำความเข้าใจถึงรากและความเป็นมาของความแตกต่างนั้นเพื่อสร้างเสริมความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่มองแค่แง่มุมภายนอกแล้วตัดสินความเชื่อนั้นๆ ด้วยบริบททางสังคมและความเชื่อของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Aki Tanaka, Trent M. Sutton. “Significant Changes to Japan’s Labor Laws Will Take Effect in April 2019: Are You Prepared?”. Lexology. Online. Published 12 FEB 2019. Access 5 NOV 2019. <https://www.lexology.com/library/detail.aspx?g=c2151da8-a094-4494-97ad-25d5bf8476ab>

Ben K, grape Japan. “Workaholic Japan has a Buddhist ceremony to mourn your unused holidays”. Japan Today. Online. Published 5 NOV 2019. Access 5 NOV 2019. <https://japantoday.com/category/features/lifestyle/workaholic-japan-has-a-buddhist-ceremony-to-mourn-your-unused-holidays?>

ยุพา คลังสุวรรณ. ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี ภูมิหลังทางวัฒนธรรมของสังคมญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2562