เคล็ดลับอุตสาหกรรมญี่ปุ่นไปไกลด้วย “คนพันธุ์ใหม่” ยุคเมจิ และเหตุที่ชาติอื่นลอกไม่ได้

ภาพประกอบเนื้อหา - ย่านชิบุย่า ประเทศญี่ปุ่น (เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 2013)

ญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย ซึ่งนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากลักษณะของผู้นำสายพันธุ์ใหม่ในยุคเมจิ

ในบรรดาจุดเด่นทั้งหลายของญี่ปุ่น หลายประเทศทั่วโลกพยายามศึกษาความสำเร็จทางด้านอุตสาหกรรมของพวกเขาเพื่อนำมาพัฒนาตัวเอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารจัดการต่างสกัดส่วนประกอบของความสำเร็จที่ผ่านมา สำหรับในมุมมองของยุพา คลังสุวรรณ นักวิชาการด้านเอเชียศึกษา ผู้เขียนหนังสือ “ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี” ยกตัวอย่างคำอธิบายของโยฮัน ฮีสเมียร์ (Johannes Hirschmeir) นักประวัติศาสตร์ทางการบริหารจัดการธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนักวิชาการที่พยายามอธิบายเบื้องหลังความสำเร็จด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

คำอธิบายแบบฉบับของฮีสเมียร์ อยู่ในหนังสือ “กำเนิดของผู้ประกอบการในสมัยเมจิของญี่ปุ่น” (The Origins of Entrepreneurship) เมื่อปี ค.ศ. 1964 ว่า ความสำเร็จของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นมาจากการก่อร่างของกลุ่มผู้นำชาติพันธุ์ใหม่ทางธุรกิจ ลักษณะพิเศษของผู้นำสายพันธุ์ใหม่ทางธุรกิจสมัยเมจิคือมีความรู้สึกชาตินิยม ควบคู่ไปกับความต้องการกำไร ผู้นำยุคนั้นเห็นการพัฒนาชาติสำคัญกว่าอำนาจและกำไรส่วนตัว

ชนชั้นพ่อค้าในอดีตเคยถูกจัดเป็นชนชั้นต่ำที่สุด อย่างไรก็ตาม พวกพ่อค้าจากการวิเคราะห์ของฮีสเมียร์ ยังมีจิตสำนึกในผลประโยชน์ของชาติไม่ต่างจากชนชั้นอื่น สำนึกต่อผลประโยชน์ของชาติในกลุ่มพ่อค้าเป็นเริ่มขึ้นในสมัยเมจิ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาในภายหลัง

เหตุการณ์ที่ทำให้พ่อค้าญี่ปุ่นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติควบคู่ไปกับกำไรด้วยนั้น ฮีสเมียร์ อธิบายโดยเริ่มจากบริบทพื้นฐานของเหตุการณ์ในยุคเมจิอันเป็นช่วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศ ตั้งแต่วางพื้นฐาน สร้างความมั่นคง สร้างอุตสาหกรรม โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้พ่อค้า ไดเมียว และซามูไร ส่งผลให้เกิดธุรกิจครอบครัวจำนวนมาก ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตและมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมือง รัฐยังมีนโยบายต่างประเทศใน “เชิงรุก” ยึดเกาะริวกิว ต่อสู้เพื่อควบคุมเกาหลี รบกับจีนและรัสเซีย ตามต่อด้วยความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา

ความก้าวร้าวในนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกทำให้ญี่ปุ่นต้องรวมพลังคนในชาติเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศก็วุ่นวาย มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างผู้นำทางการเมืองกับโชกุน

ยุพา อธิบายสภาพสถานการณ์ในช่วงนั้นว่า ผู้นำและประชาชนญี่ปุ่นยอมรับค่านิยมร่วมกันว่าจงรักภักดีต่อจักรพรรดิ เสียสละให้ประเทศชาติ การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ส่งผลในทุกชนชั้น การสนับสนุนและพัฒนาด้านการศึกษา นำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาช่วยในการศึกษา สนับสนุนให้คนญี่ปุ่นไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ประชาชนพร้อมใจในการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน การเตรียมความพร้อมไปสู่ความสำเร็จโดยมีความเห็นร่วมในทิศทางเดียวกันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในสมัยเมจิ

นักวิชาการแต่ละสาขาต่างวิเคราะห์เรื่องสังคมญี่ปุ่นมีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไปในประเด็นเรื่องลักษณะทางสังคมว่า ญี่ปุ่นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือมีวัฒนธรรมแบบเดียวกัน ยุพา อธิบายว่า ญี่ปุ่นมีกลุ่มชนหลากหลาย อาทิ ไอนุ เกาหลี และบูราคามิน แต่รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถทำให้คนหลากหลายกลุ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีความรู้สึกร่วมท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์และสถานภาพ (สำหรับไอนุ ที่ถูกมองว่ามีวัฒนธรรมด้อยกว่าก็มีความพยายามกลืนวัฒนธรรมไอนุอยู่)

ยุพา วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้คนญี่ปุ่นและคนที่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมแบบเดียวกันไว้ 9 ข้อ

1. อยู่ร่วมกันในพื้นที่จำกัด ทำให้มีอุปนิสัยร่วมมือร่วมใจกัน
2. ปลูกฝังการปฏิบัติธรรมแบบพุทธนิกายเซ็น มีรูปแบบตายตัวชัดเจน
3. รูปแบบของสังคมที่ปรากฏในการสอนในสถานศึกษาโดยมีอาจารย์เป็นเบ้าหลอมผู้ศึกษาเป็นพิมพ์เดียวกัน
4. ประเพณีปฏิบัติที่ต้องทำตัวให้เข้ากับสังคม และยังต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม
5. ความเชื่อว่าเป็นสังคมชนชาติเดียวกัน ผ่านขั้นตอนทางประวัติศาสตร์มาแบบเดียวกัน มีความคิดพื้นฐาน และขนบธรรมเนียมประเพณีแบบเดียวกัน
6. ลักษณะการทำเกษตรกรรมของครอบครัวญี่ปุ่นและวิถีชุมชนในอดีตที่ร่วมใจกันทำงานเป็นกลุ่ม ตกทอดมาสู่การทำงานแบบบริษัทและองค์กรในการจัดการผู้อยู่ร่วมกัน
7. ผู้ปกครองสอนและสนับสนุนให้เด็กเข้ากับผู้อื่น และรู้จักการอิงกลุ่ม
8. แนวคิดเรื่องการตอบแทนบุญคุณที่ทำให้เกิดการสานต่อความพึ่งพากันในสังคม
9. จัดลำดับขั้นแบบระบบอาวุโส ผู้อยู่สูงกว่าจะดูแลผู้อยู่ในสังกัด ทำให้เกิดความผูกพัน

จะเห็นได้ว่า ความเป็นกลุ่มเป็นองค์ประกอบสำคัญในสังคมญี่ปุ่นอันเชื่อมโยงมาสู่ความกลมเกลียวรวมพลเป็นหน่วยเดียวกัน ในช่วงที่สังคมญี่ปุ่นเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหา บริษัทและองค์กรก็ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีและแนวปฏิบัติไปบ้าง แต่ก็เปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้คนได้ปรับตัวและยอมรับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันความสัมพันธ์ในการจ้างงานก็แตกต่างจากก่อน และไม่แน่นแฟ้นอย่างในอดีต แต่การอยู่รวมเป็นกลุ่มภายใต้การยอมรับของสังคมและรัฐถือเป็นหลักสำคัญที่เห็นได้ตลอด

ในช่วงที่ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤต การรวมพลังของกลุ่มก็มักพบเห็นได้เสมอ ช่วงปฏิวัติเมจิที่ต้องนำเทคโนโลยีจากตะวันตกเข้ามา ญี่ปุ่นรับรู้เสมอว่าต้องไม่นำจิตวิญญาณของตะวันตกเข้ามาด้วย การเรียนรู้จากประเทศที่เจริญกว่า ผู้นำจะเตือนสติคนญี่ปุ่นให้เรียนรู้ด้วยจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่น

ยุพา ยอมรับว่า จิตวิญญาณญี่ปุ่นเป็นคำที่ใช้บ่อย แต่ไม่ค่อยพบการจำกัดขอบเขตความหมายอย่างชัดเจน แต่ตีความตามความเข้าใจแล้วเชื่อว่า หมายถึงลักษณะพิเศษที่มีอยู่ในจิตใจ เป็นค่านิยมพื้นฐานในการตัดสินว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี สิ่งที่เป็นจิตสำนึกและสามัญสำนึกของคนในสังคมผ่านการปลูกฝังจนกลายเป็นอุดมการณ์และบรรทัดฐาน นั่นจึงทำให้การถ่ายทอดจากวัฒนธรรมหนึ่งสู่อีกวัฒนธรรมเป็นเรื่องยาก แม้จีนจะเป็นต้นแบบของระบบราชการของญี่ปุ่น แต่จีนก็ไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนารัฐที่เข้มแข้งในการสู้กับตะวันตกในศตวรรษที่ 19 ได้

แม้จะเน้นความเป็นกลุ่มเพื่อสร้างความเหนียวแน่น แต่ไม่ได้ปราศจากความขัดแย้ง และไม่ได้หมายถึงว่าจะไร้ความเป็นปัจเจกชนนิยม ในการค้าขายก็มีการแข่งขัน มีตัดราคา ยุพา อธิบายว่า หากมีคนนอกกลุ่มหรือคนต่างประเทศ คนญี่ปุ่นในธุรกิจประเภทเดียวกันยินดีจะฮั้วราคาสินค้าและกำหนดไม่ให้ขายต่ำกว่าราคาที่ตกลงกัน พวกเขารักษาความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นเอาไว้ หากต่างชาติมองเป็นลบ ถือเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีเช่นกัน รัฐบาลย่อมยินดีทุ่มโฆษณาแก้ภาพลักษณ์ ล้างภาพจำ ญี่ปุ่นที่เคยผลิตสินค้าคุณภาพต่ำก็ล้างภาพนี้ได้ กลายเป็นภาพพจน์ใหม่ในแง่การผลิตสินค้ามีคุณภาพ

เมื่อดูบริบทในองค์รวมแล้ว ญี่ปุ่นผ่านเหตุการณ์และกระบวนการต่างๆ มากมาย และสร้างวัฒนธรรมร่วมที่เป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนเข้าใจตรงกันได้ มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน จนทำให้พวกเขามุ่งไปในอนาคตที่ต้องการได้ ขณะที่ผู้นำในสังคมญี่ปุ่นก็มักมีลักษณะนิยมการจัดการและวางแผนควบคุมกำหนดทิศทางอยู่เสมอ เห็นได้ชัดจากประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ซึ่งผู้เขียนหนังสือวิเคราะห์ว่า การสร้างสิ่งต่างๆ จะสร้างตามที่วางไว้ในแผนการ

เมื่อจะสร้างและวางแผน คนญี่ปุ่นต้องสร้าง “วัฒนธรรม” ขึ้นมาใหม่ โดยหาจุดร่วม เพื่อใช้ประสานและนำคนญี่ปุ่นไปในทิศทางเดียวกัน


อ้างอิง:

ยุพา คลังสุวรรณ. ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี ภูมิหลังทางวัฒนธรรมของสังคมญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2562