ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตัดถนนขึ้นใหม่หลายเส้น เพื่อความสะดวกในการคมนาคม และรองรับการขยายตัวของเมือง ซึ่งใน พ.ศ. 2442 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “ถนนหลวง” ตั้งแต่ถนนพระสุเมรุข้ามคลองบางลำพูที่ตำบลพานถม ตรงไปยังตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม บรรจบกับถนนเบญจมาศ และพระราชทานนามว่า “ถนนราชดำเนิน” ซึ่งปัจจุบันคือ “ถนนราชดำเนินนอก”
ที่มาของการตัดถนนราชดำเนิน
นอกจากจะเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต ที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว การสร้างถนนเส้นดังกล่าวก็ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ชุมชนเดิมซึ่งเป็นบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่เกษตรกรรม มีถนนอันเป็นพื้นฐานของการคมนาคมเช่นพื้นที่อื่นๆ ดังทรงมีพระราชดำริว่า
“ท้องที่ตำบลพานถมตรงตลอดไปถึงท้องที่ตำบลป้อมหักกำลังดัสกรนั้น เป็นที่เรือกสวนเปลี่ยว อยู่ในระหว่างถนนพฤฒิบาศ [ปัจจุบันคือ ถนนนครสวรรค์] กับถนนสามเสน ยังไม่เป็นที่สมบูรณ์ทันเสมอท้องที่ตำบลอื่น เพราะด้วยเหตุยังไม่มีถนนหลวง อันสำหรับชักนำทำให้มหาชนกระทำการค้าขายให้เป็นการสะดวกขึ้น”
ทั้งนี้ การตัดถนนราชดำเนิน ส่วนหนึ่งมาจากความประทับพระราชหฤทัยต่อถนนหลายสายในยุโรป ที่พระองค์เสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ. 2440 เช่น ถนนมอลล์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, ถนน ชองป์ เอลิเซส์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, ถนนอุนเตอร์ เดนลินเดน กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
“ราชดำเนิน” ทั้ง 3 สาย
การตัดถนนราชดำเนินระยะแรกที่เริ่มใน พ.ศ. 2442 เดิมรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนข้ามคลองรอบกรุงผ่านตำบลพานถม ไปบรรจบกับถนนเบญจมาศ แต่เมื่อทอดพระเนตรแผนที่แล้ว ทรงเห็นว่าถนนที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นแนวตรง
เหตุนี้ จึงทรงรับส่งให้เปลี่ยนแนวถนนเสียใหม่ เป็นจากริมคลองรอบกรุงตรงถนนนครสรรค์ ผ่านตำบลบ้านหล่อ ไปออกตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ไปบรรจบกับถนนเบญจมาศ และพระราชทานนามว่า “ถนนราชดำเนิน” ที่ต่อมาจะเป็น “ถนนราชดำเนินนอก”
ถนนเส้นนี้เป็นถนนเส้นแรก ที่ใช้วิธีจ่ายค่าที่ดินในการเวนคืนเพื่อตัดถนน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้าง
ต่อมา พ.ศ. 2444 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนิน ระยะที่ 2 หรือ “ถนนราชดำเนินกลาง” ในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่สะพานเสี้ยว (สะพานข้ามคลองคูเมืองแห่งหนึ่ง ถูกรื้อถอนไปเมื่อสร้าง “สะพานผ่านพิภพลีลา”) ตรงไปข้างคลองบางลำพู ต่อกับถนนราชดำเนินนอก
จากนั้นจึงสร้างถนนราชดำเนินระยะที่ 3 หรือชื่อเรียกอย่างปัจจุบันว่า “ถนนราชดำเนินใน” โดยขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้า เริ่มจากหน้าป้อมเผด็จดัสกร ซึ่งเป็นส่วนที่ถนนหน้าพระลานและถนนสนามไชยมาบรรจบกัน ผ่านริมสนามหลวงด้านตะวันออก ไปบรรจบกับถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2446
อาคารสำคัญบนถนนราชดำเนิน
เมื่อการตัดถนนแล้วเสร็จในระยะแรกๆ มีวังเจ้านาย, สำนักงานการค้า ฯลฯ สมดังพระราชประสงค์ เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนินทั้ง 3 เส้น พอสรุปได้ดังนี้
ถนนราชดำเนินนอก เช่น วังปารุสกวัน, วังจันทร์เกษม ถนนราชดำเนินกลาง เช่น ห้างแบดแมนแอนด์โก, โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย, โรงแรมรัตนโกสินทร์ และถนนราชดำเนินใน เช่น สนามหลวง, ศาลหลักเมือง, กรมอัยการศาลฏีกา เป็นต้น
ปัจจุบัน อาคารหลายหลังถูกรื้อถอนทำลายลงแล้ว แต่หลายหลังยังคงอยู่ให้ได้ระลึกถึงประวัติศาสตร์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อรรถชัย ลิ้มเลิศเจริญวนิช. การใช้พื้นที่ของถนนราชดำเนินและบริเวณใกล้เคียง นับแต่แรกเริ่ม-ปัจจุบัน (พ.ศ. 2442-2548), เอกสารการค้นคว้าเฉพาะบุคคล หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 2549.
กนกวรรณ ทองตะโก. ถนนราชดำเนิน (18 กรกฎาคม 2556) เว็บไซต์สำนักราชบัณฑิตสภา http://legacy.orst.go.th
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน 2567