“ขี้วัว” (bullshit) กลายเป็นแสลงสากลที่แพร่หลายทั่วโลกได้อย่างไร?

ศัพท์แสลงในประวัติศาสตร์การใช้ภาษาของมนุษย์มีมากมายมหาศาล ในบรรดาศัพท์แสลงที่ใช้กันมากที่สุดทั่วโลกในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา และมีผู้ใช้ติดปากกันคงไม่พ้นคำว่า “Bullshit” หรือภาษาไทยคือ ขี้วัว คำแสลงซึ่งใช้สื่อความหมายถึง “เรื่องไร้สาระ” “หาข้อเท็จจริง/แก่นสารไม่ได้” แม้ว่าคำนี้จะถือกันว่าเป็นคำไม่สุภาพนัก แต่คนระดับผู้นำแถวหน้าของโลกก็มักใช้คำนี้ให้ได้ยินกันอยู่ด้วยซ้ำ

วลีที่ใช้เรียก “สิ่งปฏิกูล” ของสัตว์สายพันธุ์หนึ่งไปจนถึงพัฒนาการของคำแสลงนี้ยังมีข้อถกเถียงกันอย่างหลากหลาย เว็บไซต์ Madras Courier สื่อแท็บลอยด์เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในวงการสื่อสารมวลชนโลกอธิบายว่า จุดเริ่มต้นของการสืบค้นต้นตอของการใช้คำ Bullshit ในเบื้องต้นสามารถย้อนกลับไปที่ “ทีเอส อีเลียต” (T. S. Eliot) กวีจากสหรัฐอเมริกาที่ย้ายไปอยู่ในอังกฤษ และถูกยกย่องเป็นกวีผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดอีกคนในศตวรรษที่ 20

เชื่อกันว่า ระหว่างค.ศ. 1910-1916 อีเลียต เขียนกวีบทหนึ่งชื่อ The Triumph of Bullshit ในรูปแบบ “บัลลาด” (Ballad) หรือลำนำนิทาน ซึ่งเป็นร้อยกรองที่เล่าออกมาเป็นบทเพลง อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในกวีบทนี้ไม่ได้ใช้คำว่า Bullshit เลย และบทกวีก็ไม่ได้ถูกเผยแพร่

อย่างไรก็ตาม มีผู้ศึกษาการใช้ภาษาหลายรายที่โต้เถียงว่า คำว่า Bull (ในแง่ความหมายสื่อถึง “ความไร้สาระ” โดยไม่ได้เติมคำว่า “อุจจาระ” ต่อท้าย) ถูกใช้กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้ว ก่อนที่คำจะพัฒนาเป็น Bullshit

จิม โฮลท์ (Jim Holt) คอลัมนิสต์แห่งเว็บ “เดอะ นิวยอร์กเกอร์” (The Newyorker) อ้างว่า ในช่วงศตวรรษที่ 17 มีบทละครอังกฤษ ที่ปรากฏบทพูดซึ่งใช้คำว่า Bull ในบริบทเรียก “ผู้เอ่ยวาจาที่ไม่เข้าท่า” (“Dumbe Speaker! that’s a bull”) หรือรัฐบุรุษรายหนึ่งในยุคเดียวกันเอ่ยว่า “มันไม่ใช่เรื่องลบอะไรเลย หากจะพูดถึงสันติในช่วงเวลาของสงคราม (“It is no Bull, to speak of a common Peace, in the place of War”)

แต่หากจะสืบค้นถึงที่มาที่ไปแบบเฉพาะเจาะจงเลย อาจเป็นเรื่องยากเมื่อดูจากข้อมูลและข้อสันนิษฐานที่หลากหลายทั้งที่มีมูลและข้อสันนิษฐานที่ไม่สมเหตุสมผล อาทิ การเชื่อมโยงคำว่า Bull กับอักษรในนามของโอบาไดอาห์ บุลล์ (Obadiah Bull) นักกฎหมายไอริชในลอนดอนสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 หรือเชื่อมโยงไปถึงเชิงการดูถูกสารตราพระสันตะปาปาอันมีที่มาจากคำว่า papal bull หรือส่วนที่เป็นตราในสารอันเรียกว่า bulla (ข้อสันนิษฐานนี้ก็ถูกมองว่ามีความเป็นไปได้มากกว่า) หรือเกี่ยวข้องกับคำว่า Bole จากภาษาฝรั่งเศสโบราณที่หมายถึง “การหลอกลวง” หรือ “ความคิด/ความเชื่อผิดๆ” ด้วย

จิม เสนอแนวคิดว่า คำว่า “วัว” (Bull) อันสื่อความหมายแง่การหลอกลวง โอ้อวด เพิ่งมีคำที่หมายถึงมูลเข้ามาเติมต่อท้ายด้วยในศตวรรษที่ 20 เมื่อมีคำมาต่อท้าย คำว่า bull เดี่ยวๆ จึงกลายเป็นคำที่นุ่มนวลกว่า bullshit

เอริก พาร์ทริดจ์ ผู้จัดทำพจนานุกรม เสนอแนวคิดเพิ่มเติมว่าคำว่า bullshit เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากกลุ่มทหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในช่วงปี 1916 อันเป็นระยะเวลาที่กลุ่มทหารเคลื่อนพลมาถึงแนวหน้าของการรบ กองทหารออสเตรเลียนเยาะเย้ยกลุ่มทหารบริติชที่เน้นเรื่อง “bull” ซึ่งเป็นคำศัพท์เรียกสำหรับกระบวนการตรวจรับของนายทหารชั้นสูง แม้ว่าจะอยู่ในบรรยากาศสงคราม ทหารออสเตรเลียนเรียกเหตุการณ์เหล่านี้ว่า bullshit แม้ว่าทฤษฎีนี้จะยังเป็นที่พูดถึงในสื่อ แต่ยังไม่มีใครสามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้

เวลาต่อมายังมีนักปรัชญานามว่า แฮร์รี่ แฟรงค์เฟิร์ต (Harry Frankfurt) นำคำนี้มาวิเคราะห์ผ่านบทความยาว 25 หน้าชื่อ On Bullshit เมื่อปี 1986 บทความนี้ทำให้เขามีชื่อเสียง และภายหลังสำนักพิมพ์ยังขยายขนาดตัวอักษรเพื่อมาทำเป็นหนังสือยาว 60 หน้าวางจำหน่ายในชื่อเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทมส์ (New York Times) หลายสัปดาห์ทีเดียว และเป็นที่พูดถึงในหน้าสื่อ

บทความของแฮร์รี่ อธิบายนิยามของคำว่า bullshit ว่า แตกต่างจากคำอย่าง “โกหก” โดยอธิบายว่า การโกหกคือการเสนอข้อมูลโดยที่ผู้พูดรู้ข้อเท็จจริงว่าสิ่งไหนคือจริงหรือเท็จ แต่การ bullshit ผู้นำเสนอไม่จำเป็นต้องสนใจว่าข้อมูลที่บอกเล่าจริงหรือเท็จ เพียงแค่เติมแต่งข้อมูลไปตามความต้องการ เขานำเสนอว่าการ bullshit เสี่ยงต่อคุณค่าของความเป็นประชาธิปไตยในสังคมมากกว่าการโกหกเสียอีก

การวิเคราะห์คำว่า bullshit ไม่ได้หยุดแค่บทความและหนังสือของแฮร์รี่ แฟรงค์เฟิร์ต (Harry Frankfurt) ในปี 2002 จีเอ โคเฮน (G. A. Cohen) นักปรัชญาการเมืองสายมาร์กซิสต์ ที่มีตำแหน่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เขียนบทความวิเคราะห์เชิงลึกโต้แย้งแฮร์รี่ เกี่ยวกับคำว่า bullshit อีกครั้งโดยจำแนก bullshit ออกเป็นหมวดอีกต่างหาก

เมื่อมีคนเริ่มต้นเส้นทางสาย (bullshit ศึกษา) หลังจากนั้นก็เริ่มมีนักวิจัย นักวิชาการอีกหลายรายที่ศึกษาเกี่ยวกับ bullshit กรณีที่เป็นที่รู้จักกันดีคืองานศึกษาเรื่อง “การรับรู้และตีความคำคม(เท่ๆ)แบบปลอมๆ (The Reception and Detection Pseudo-Profound Bullshit)” งานศึกษาวิจัยชินนี้ได้รับรางวัลอิ๊กโนเบล (โนเบลสายฮากลุ่มกระตุกต่อมคิด) ประจำปี 2016 ไปครองด้วย

ปฏิเสธได้ยากว่าคำ bullshit เป็นคำที่ได้ยิน และพบเห็นได้บ่อยในวิถีชีวิตประจำวัน หรือในสื่อต่างๆ และหากย้อนกลับไปถึงชื่อบทกวีของอีเลียต ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็คงเห็นได้ว่า คำนี้เดินทางมายาวไกลเหลือเกินก่อนจะกลายเป็นแสลงที่แพร่หลายในระดับสากลขนาดนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“A Brief History of Bullshit”. Madras Courier. Online. Published 8 MAY 2019. Access 9 MAY 2019. <https://madrascourier.com/insight/a-brief-history-of-bullshit/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2562