ผู้เขียน | เด็กชายผักอีเลิด |
---|---|
เผยแพร่ |
ที่มาของคำว่า “ฝรั่ง” ในสังคมไทย ต้องสืบย้อนกลับไปถึงยุโรปในยุคกลางช่วงปลายศตวรรษที่ 5 คำนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับบรรพชนของชาวยุโรปกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “ชาวแฟรงก์” (Franks) กลุ่มชาติพันธุ์เยอรมัน (Germanic peoples) ผู้พูดภาษาตระกูลเยอรมันโบราณ สำหรับชาวแฟรงก์ใช้สำเนียงแบบตะวันตก (Western Germanic Languages) ซึ่งจะกลายเป็นรากฐานของภาษาอังกฤษ เยอรมัน และดัตช์ ในเวลาต่อมา
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6-8 อาณาจักรของชาวแฟรงก์แผ่ขยายจนครอบคลุมไปทั่วพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะในสมัยของชาเลอมาญ (Charlemagne) มีพื้นที่ตั้งแต่ประเทศฝรั่งเศส อิตาลีทางตอนเหนือ เยอรมนี และยุโรปตอนกลางในปัจจุบัน ชนชาติอื่นทั้งในยุโรปส่วนที่เหลือและดินแดนใกล้เคียงจึงเรียกผู้คนในดินแดนแถบนี้ว่า ชาวแฟรงก์ นั่นเอง
ช่วงศตวรรษที่ 11-13 เกิดสงครามศาสนาหรือสงครามครูเสด (Crusade War) ระหว่างชาวคริสต์หลากหลายเชื้อชาติจากยุโรปและชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง มีจุดประสงค์เพื่อแย่งชิงนครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเลม (Jerusalem) ในสงครามที่กินเวลากว่า 200 ปีนี้ ชาวมุสลิมเรียกขานชาวยุโรปผิวขาวที่ทำสงครามกับพวกเขาว่า “ฟรานจ์” หรือ “ฟรันจิ” (Franj) ในภาษาอาหรับ ซึ่งมาจากคำว่า แฟรงก์ แม้ว่าชนชาติที่รบกับพวกเขาในเวลานั้นจะประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ทั้ง ฝรั่งเศส นอร์มัน เยอรมัน อังกฤษ หรืออิตาเลียน ก็ตาม
ที่มาเกี่ยวกับความเข้าใจของชาวมุสลิมอาหรับที่ว่า ชาวยุโรปผิวขาวในสงครามครูเสด คือ ชาวแฟรงก์ เกิดจากชาวอาหรับเคยติดต่อกับดินแดนยุโรปฝั่งตะวันตกในช่วงที่ชาวแฟรงก์เรืองอำนาจ ทำให้พวกเขาจดจำชาวยุโรปฝั่งนั้นว่า ชาวแฟรงก์ หรือ ฟรานจ์ โดยเป็นคนละกลุ่มชาวยุโรปฝั่งตะวันออกอันเป็นที่ตั้งของจักรวรรดิไบเซนไทน์ (Byzantine Empire) หรือโรมันตะวันออก ซึ่งชาวอาหรับถือว่าเป็นชาวโรมันหรือชาวกรีก
ฟรานจ์ หรือ ฟรันจิ จึงกลายเป็นคำเรียกหลักที่ชาวมุสลิมอาหรับเรียกชาวยุโรปตะวันตกและเหล่านักรบครูเสด คำนี้แพร่หลายไปยังชนชาติอื่น ๆ ทางตะวันออกที่มีการติดต่อกับชาวอาหรับ ก่อนเกิดพัฒนาการทางภาษาและการออกเสียงที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ฟารัง (Farang) หรือฟรังในภาษาเปอร์เซีย, ฟิรานจี (Firangji) ในภาษาฮินดู, บาลัง (Barang) ในภาษาเขมร และ “ฝรั่ง” ในภาษาไทยนั่นเอง
สำหรับ ฝรั่ง ในภาษาไทย สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาก ฟารัง หรือ ฟรัง ในภาษาเปอร์เซีย จากการติดต่อของพ่อค้า-นักเดินทางในสมัยโบราณ ซึ่งทั้งชาวมุสลิมอาหรับและเปอร์เซียล้วนมีบทบาททางการค้ากับดินแดนและรัฐโบราณต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาและอาณาจักรโบราณยุคก่อนหน้านั้น เป็นผลจากการค้าทางทะเลที่เฟื่องฟูในแถบนี้ก่อนการมาถึงของชาวยุโรปหลายศตวรรษ
พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2554 ให้คำจำกัดความของ “ฝรั่ง” ว่าหมายถึง “ชนชาติผิวขาว” อย่างไรก็ตาม มีการใช้คำว่า “ฝรั่งดำ” เพื่อเรียกชาวยุโรปหรืออเมริกันเชื้อสายแอฟริกันด้วย โดยคำนี้เกิดขึ้นช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ประจำการอยู่ในประเทศไทยมีคนอเมริกันผิวดำรวมอยู่ด้วย
คนไทยยังนำฝรั่งไปประกอบคำเรียกสิ่งต่าง ๆ ที่มีที่มาจากคนผิวขาว เช่น มันฝรั่ง (Potato) ผักชีฝรั่ง (Stink Weed) หมากฝรั่ง (Chewing gum) หรือแม้แต่ ฝรั่ง (Guava) ที่เป็นผลไม้ ก็ถูกเรียกตามผู้นำเข้าที่เป็นพ่อค้าชาวโปรตุเกสเมื่อประมาณ 400 ปีที่แล้วในสมัยอยุธยา ส่วน ฝรั่งขี้นก เป็นคำแสลงจากภาษาลาวสำหรับใช้ในเชิงดูหมิ่นคนผิวขาว โดยเชื่อมโยงกับ ขี้นก ที่เป็นมูลสีขาวของนกนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “แขก แม้ว แกว เจ๊ก” ที่มา-ความหมาย คำเรียกชาติพันธุ์เชิง “เหยียด”
- คำว่า “เจ๊ก” มาจากไหน? คนจีนในไทย-จีนแผ่นดินใหญ่-จีนไต้หวัน ล้วนไม่รู้จักคำนี้
- ทำไมคนไทยใช้คำว่า “หนู” เรียกแทนตัวเอง หรือคนอายุน้อยกว่า
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. ฝรั่ง. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2565. จาก https://dictionary.orst.go.th/
Into-Asia. What exactly does ‘farang’ mean in Thai? Retrieved September 15, 2022. From https://www.into-asia.com/thai_language/farang.php
Hamid Dabashi. Reversing the Colonial Gaze: Persian Travelers Abroad. Retrieved September 15, 2022. From books.google.co.th
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2565