ทำไมคนไทยใช้คำว่า “หนู” เรียกแทนตัวเอง หรือคนอายุน้อยกว่า

หนู
ภาพจิตรกรรม วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา

คำสรรพนามในภาษาไทยมีมากมายสารพัด ไม่ว่าจะเป็น ข้า เอ็ง เรา ฉัน ท่าน เธอ คุณ ผม กู มึง ฯลฯ แต่มีคำหนึ่งคือคำว่า “หนู” ที่ดูผิดแผกจากคำอื่น เพราะเหมือนเป็นการนำชื่อของสัตว์มาใช้เป็นคำสรรพนาม หรือสรรพนามคำว่า”หนู” ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนูที่เป็นสัตว์?

คำว่า “หนู” ใช้ได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง ใช้เรียกแทนตนเอง หรือใช้เรียกคนที่อายุน้อยกว่า มีทั้งคำว่า เจ้าหนู, ตาหนู, ไอ้หนู, พ่อหนู, แม่หนู ฯลฯ เมื่อสืบหาต้นเค้าที่มาของคำนี้ พบในบทความ “จากอีหนูถึงอำแดง” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2541) อาจารย์สมบัติ (ส. พลายน้อย) เขียนอธิบายที่มาของคำว่า “หนู” เอาไว้ว่า

Advertisement

“มีผู้สงสัยว่า คำนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สมัยไหน เท่าที่ทราบเป็นคำที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า คำ’หนู’ เป็นศัพท์ที่เพี้ยนมาจากภาษาจีนว่า ‘อินู’ ไม่ควรจะนำมาใช้เรียกเด็กไทย ทำให้นึกสงสัยว่าถ้าเป็นตามนี้ คำที่เคยเรียกว่า ‘อีหนู’ จะมาจากคำ ‘อินู’ หรือย่างไร…”

พระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับที่มาของคำว่า“หนู” พบใน ประกาศ ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคำนำนามเด็ก พ.ศ. 2464 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 38 หน้า 439-441 ความตอนหนึ่งระบุว่า

“ทรงพระราชดำริห์ว่า คำว่า ‘หนู’ เปนศัพท์ที่เพี้ยนมาจากภาษาจีนว่า ‘อินู’ ไม่สมควรใช้สำหรับเปนคำนามเด็กที่เปนเชื้อชาติสยามแท้ จึงได้ทรงยกเลิกเสีย ให้คงใช้คำว่า ‘เด็ก’ ซึ่งเปนคำไทยแท้นั้นแต่คำเดียว…”

หากยึดตามพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 6 ว่าคำสรรพนาม”หนู” มาจากภาษาจีนจริง แล้วจะเป็นคำใด? ผู้เขียนพยายามหาต้นเค้าของคำว่า “อินู” แต่ไม่พบ อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามจากผู้สันทัดภาษาจีน ก็เจอภาษาจีนคำหนึ่ง คือคำว่า 奴 nú (หนู) ที่แปลว่า ทาส และนี่อาจเป็นต้นเค้าของคำสรรพนาม”หนู” !!!

เปิดพจนานุกรมจีน-ไทย ฉบับของเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ ให้ความหมายของคำว่า 奴 nú ไว้ว่า 1. ทาส, ชาวนาทาส, เลก 2. เป็นคำที่หญิงสาวใช้เรียกตนเอง (ส่วนมากจะปรากฏในหนังสือไป่หว้าในสมัยก่อน) 3. ใช้เป็นทาส, กดขี่เป็นทาส

ในพจนานุกรมยังมีคำในหมวด 奴 nú อีกหลายคำ เช่นคำว่า 奴才 nú cái ที่แปลว่า 1. ทาสในบ้าน 2. ข้าผู้เป็นทาส และขยายความเพิ่มเติมว่าเป็นคำที่ขุนนางใช้เรียกตนเองเมื่อกล่าวกับจักรรพรรดิในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง หรือคำที่ทาสในบ้านของชาวแมนจูในสมัยราชวงศ์ชิงใช้เรียกตนเองเมื่อกล่าวกับผู้เป็นนาย

เมื่อลองเปิดดูซีรีส์ย้อนยุคของจีน ก็จะพบคำว่า 奴婢 nú bì ซึ่งก็เป็นคำที่ผู้น้อยใช้เรียกตนเองเมื่อสนทนากับผู้ที่มีศักดิ์สูงกว่า เพื่อแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน

น่าสังเกตว่าคำว่า 奴 nú มีอักษร 女 nǚ หนวฺี่ ที่แปลว่า เพศหญิง, ผู้หญิง รวมอยู่ด้วย

ในที่นี้ขอติดคำว่า 孥 nú จากพจนานุกรมฉบับดังกล่าวไว้อีกคำหนึ่ง ที่แปลว่า ลูก, ลูกสาว, ลูกชาย ซึ่งคำนี้มาจากคำว่า 奴 nú ที่แปลว่า ทาส รวมกับคำว่า 子 zi ที่แปลว่า เด็ก

ดังนั้น คำสรรพนาม”หนู” จึงอาจจะมีต้นเค้ามาจากคำในภาษาจีน แต่จะเป็นคำใดระหว่าง 奴 หรือ 孥 ก็ไม่อาจทราบได้ เพราะทั้งสองต่างออกเสียง nú (หนู) เช่นเดียวกัน และก็มีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองคำจะเป็นต้นเค้าของคำสรรพนาม”หนู”

(ภาพประกอบเนื้อหา) การละเล่นตีลูกล้อ จิตรกรรมฝาผนัง วัดพระเชตุพนฯ

ผู้เขียนจึงอนุมานได้เป็น 2 แนวทาง คือ 1. อาจเป็นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3-4 (หรือเก่ากว่านั้น) คนจีนในสยามเรียกลูกเล็กเด็กแดงว่า 孥 nú (“อีหนู ๆ”) คนไทยก็พลอยใช้คำนี้ตาม 2. คนจีนในสมัยนั้นใช้คำว่า 奴, 奴才 หรือ 奴才 (หรือคำในหมวด 奴 nú (หนู) อื่น ๆ) เรียกแทนตนเองเพื่อแสดงความอ่อนน้อม เมื่อสนทนากับคนไทยหรือคนจีนด้วยกันเอง ในฐานะที่ตนเป็นคนต่ำศักดิ์กว่า คนไทย (ซึ่งอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน) ก็พลอยใช้คำนี้ตาม

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นของผู้เขียนจากข้อมูลเท่าที่สืบค้นได้เท่านั้น หากท่านผู้อ่านเชื่อว่า สรรพนาม “หนู” มีต้นเค้ามาจากคำในภาษาจีนจริง ดังพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 6 (ตามที่อาจารย์สมบัติยกมา) โปรดช่วยชี้แนะ เพราะผู้เขียนไม่สันทันด้านภาษาเท่าใดนัก

หรือแท้จริงแล้ว คำว่า”หนู” ก็อาจเป็นคำไทยทั่วไป หาใช่คำจีนไม่ ก็เหมือนการนำชื่อของสัตว์มาใช้เป็นคำสรรพนาม เช่นคำว่า “หมู” “หมา”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2565