“หลุมเมือง” โบราณสถานปริศนา อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

โบราณสถาน หลุมเมือง ศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี
โบราณสถานหลุมเมือง อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

โบราณสถานหลุมเมือง ปราจีนบุรี เป็นโบราณสถานที่แปลกประหลาด ซึ่งยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้แน่ชัดว่า “หลุมเมือง” โบราณสถานปริศนานี้ถูกสร้างขึ้นเพื่ออะไร?

หลุมเมืองมีลักษณะเป็นหลุมเจาะลึกลงไปในพื้นศิลาแลงธรรมชาติ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.40 เมตร ลึกประมาณ 0.50 เมตร เรียงกันเป็นแนวคล้ายเตาขนมครก โดยแต่ละหลุมห่างกันประมาณ 1 เมตร ตั้งอยู่ในเขตเมืองนางอมรเทวีหรือที่บ้านโคกขวาง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี

โบราณสถานหลุมเมือง ปราจีนบุรี
เรียงกันเป็นแนวคล้ายเตาขนมครก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงโบราณสถานหลุมเมืองเมื่อคราวเสด็จทอดพระเนตรระหว่างการเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี พ.ศ. 2451 ไว้ว่า

“มีอีกแห่งหนึ่ง พื้นเป็นลานศิลาแลง กว้างสัก 10 ศอก ยาวสัก 3 วา ขุดเป็นหลุมกลมๆ ปากกว้างสักคืบเศษ ลึกสักศอกหนึ่ง เจาะชิดกันบ้างห่างกันบ้าง ไม่เป็นจังหวะในหลุมพื้นเกลี้ยง เดากันอยู่ว่าจะเป็นอะไร เดี๋ยวนี้กำลังกุกันว่าที่จะเป็นหลุมสำหรับโขลกปูนที่จะปั้นลวดลายเครื่องประดับปรางค์ปราสาทศิลาแลงนั้น”

จากพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 5 ก็ยังไม่ทรงแน่พระทัยว่าเป็นอะไร

โบราณสถาน หลุมเมือง

โบราณสถาน หลุมเมือง

และเหตุที่ได้ชื่อว่า “หลุมเมือง” คนรุ่นเก่าเชื่อว่าเป็นหลุมสำหรับเล่นกีฬาพื้นบ้านของคนสมัยก่อน ที่เรียกว่าการเล่นหลุมเมือง ซึ่งนิยมเล่นในเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลสงกรานต์

การเล่นหลุมเมือง (ภาพจาก ประเพณีไทยดอทคอม)

วิธีเล่นหลุมเมือง ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายนั่งอยู่คนละข้างหลุม (จำนวนหลุมมีไม่จำกัด) ตกลงกันว่าจะกองทุนคนละเท่าใด เอาเบี้ยหรือสิ่งอื่นใช้แทนเบี้ยมารวมกัน แล้วหยอดใส่หลุมไว้หลุมละเท่าๆ กัน แต่หลุมหน้าผู้เล่นทั้งสองต้องมากกว่าหลุมอื่น ซึ่งเรียกว่า หลุมเมือง เมื่อเริ่มเล่นแล้ว ฝ่ายใดที่เริ่มก่อนจะหยอดเบี้ยใส่หลุมไปเรื่อยๆ ตามลำดับจนหมดเบี้ย เมื่อหมดเบี้ยในมือก็หยิบเอาเบี้ยในหลุมถัดไปหยอดต่อ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบหลุมว่าง ผู้เล่นคนแรกจึงมีสิทธิกินเบี้ยทั้งหมดในหลุมถัดไป (ถัดจากหลุมว่าง) ผู้เล่นคนที่สองก็จะดำเนินการเล่นเหมือนคนแรก เมื่อพบหลุมว่างและกินเบี้ยหลุมถัดไป จึงผลัดกันเล่นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดทุนเลิกไป ผู้อื่นก็จะมาเล่นแทน (ข้อมูลจาก ประเพณีไทยดอทคอม )

โบราณสถานหลุมเมือง จึงเป็นโบราณสถานปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบว่าสร้างขึ้นในสมัยใด และสร้างขึ้นเพื่ออะไร?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2562