สืบที่มาชื่อเมือง “ปราจีนบุรี” เจาะคำต้นตออย่าง “บางคาง-ประจิม” หรือ “ปราจิน” !?

แม่น้ำ ปราจีนบุรี บริเวณสะพานบ้านสร้าง
แม่น้ำปราจีนบุรีบริเวณสะพานบ้านสร้าง

คำว่า “ปราจีน” เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า “มีในทิศตะวันออก” คำนี้เดิมเรียกว่า “ประจิม” หมายถึงทิศตะวันตก ตามศัพท์ “ปราจีนบุรี” จึงหมายถึงเมืองในทิศตะวันออก แต่หากใช้ชื่อว่า “ประจิม” จะหมายถึงเมืองในทิศตะวันตก จากการตรวจสอบเอกสารโบราณต่างๆ พบว่าในเอกสารโบราณของไทย เรียกชื่อเมืองปราจีนบุรีออกเป็น 3 ชื่อ คือ 1. เมืองบางคาง 2. เมืองประจิม และ 3. เมืองปราจีนบุรี

“เมืองบางคาง” ปรากฏในพงศาวดารละแวก ฉบับพระองค์เองแปลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรียกเมืองปราจีนบุรีว่า “เมืองบางคาง” ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

“..พระเจ้าคำขัดมีเดชานุภาพ แลพระนครนั้นเคยขึ้นพระนครศรีอยุทธยาก็มิได้ไปอ่อนน้อม พระเจ้าคำขัดก็ยกกองทัพเข้ามาจะตีเอาพระนครศรีอยุทธยา ครั้นมาถึงคลองสะมัดไชย แล้วยกล่วงเข้าไปถึงด่านสำโรง แขวงเมืองจันทบูรร บางคาง กวาดได้ครัวอพยพเป็นอันมาก…”[1]

ชื่อ “เมืองบางคาง” นี้นอกจากจะปรากฏในพงศาวดารละแวก ฉบับพระองค์เองแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชาธิบายว่า เมืองประจิมเป็นชื่อเขมร เพราะอยู่ทิศตะวันตกของเมืองพระนครหลวง เมืองบางคางเป็นชื่อไทย ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เขมรแบ่งเป็นสี่ภาค” ดังนี้

“…แผ่นดินเขมรเป็น 4 ภาค คือส่วนที่โบราณเรียกว่าขอมแปรพักตร์และจะว่าให้รู้ง่ายอีกอย่างหนึ่ง เขมรไทย คือเขตต์แขวงตั้งแต่ฝั่งน้ำปะดงข้างตะวันออกไปจนฝั่งข้างตะวันตกของทะเลสาบ ชื่อบ้านเมืองเหล่านี้เป็นชื่อภาษาไทยบ้างชื่อเขมรบ้าง เป็นสองชื่อทั้งไทยทั้งเขมรบ้าง อย่างเมืองฉะเชิงเทราเป็นชื่อเขมร เมืองแปดริ้วเป็นชื่อไทย เมืองประจิมเป็นชื่อเขมร เพราะอยู่ทิศตะวันตกของพระนครหลวง เมืองบางคางเป็นชื่อไทย เมืองนครนายกเป็นชื่อสันสกฤตเขมรตั้ง บ้านนาเป็นชื่อไทย ด้วยนัยนี้ ที่ต่างๆ ตลอดไป เป็นชื่อไทยบ้างชื่อเขมรบ้าง คนที่อยู่ในเมืองเหล่านั้น ก็เป็นไทยบ้างเขมรบ้างปนกันมาแต่โบราณจนทุกวันนี้

เหมือนอย่างเมืองนครเสียมราฐทุกวันเขมรเรียกว่านักกร แต่คำโบราณเขมรเรียกว่าเสียมเงียบบ้าง เสียมเรียบบ้าง ไทยเรียกว่าเสียมราฐ ตามคำเขมรโบราณ ก็คำนั้นแปลว่าเมืองไทยทำปลาแห้ง คือแต่ก่อนเป็นบ้านเมืองไทยทำปลาแห้งขาย อย่างเมืองฉะเชิงเทราที่ไทยเรียกว่าเมืองแปดริ้วนั้น เขมรก็มามีอยู่มากจนทุกวันนี้ ก็เมืองส่วนนี้ แต่ก่อนพงศาวดารลึกขึ้นไป กรุงมหานครของเขมรอยู่ที่นครหลวง ใกล้กับเมืองเสียมราฐ ซากเศษเมืองเก่าปราสาทราชฐานเหลืออยู่มากจนทุกวันนี้ ก็เมื่อพวกไทยมีกำลังเจริญขึ้น ยกทัพไปรบกวนเนื่องๆ ทำให้บ้านแตกเมืองเสียเป็นหลายครั้ง จนเจ้านายฝ่ายเขมรเห็นว่าเมืองนั้นอยู่ใกล้ไทยนัก อีกอย่างหนึ่งรังเกียจว่าเป็นเมืองเก่า อาลัยของเจ้านายฝ่ายเขมรที่ตายแล้วซ้ำซากมา เป็นผีสิงอิจฉาหึงหวงเจ้านายที่เป็นขึ้นใหม่ๆ ให้ตายเร็วๆ ง่ายๆ บ่อยๆ นัก จึงล่าเลิกถอยไปเสียข้างใต้ ก็ในจังหวัดวงเขมรเจือไทยนี้

เมื่อใดไทยมีกำลังมาก ก็ครอบงำออกไปจนหมดบ้างไม่หมดบ้าง เมื่อไรเขมรมีอำนาจขึ้นก็ครอบงำเข้ามาจนถึงเมืองนครนายก เมืองประจิม เมืองฉะเชิงเทรา ที่ไทยเรียกว่าบ้านบางคาง และแปดริ้วนั้นบ้าง ไพร่บ้านพลเมืองสองอย่างปะปนกันอยู่ดังนี้มานาน แต่จังหวัดขอมแปรพักตร์นี้ ได้ตกเป็นของไทยทั้งสิ้นขาดทีเดียว จนเจ้านายฝ่ายเขมรหรือญวนก้ำเกินเข้ามาไม่ได้เลยทั้งสิ้น ตั้งแต่เมืองปัตบอง เมืองนครเสียมราฐ เข้ามาดังนี้นั้น ตั้งแต่ต้นพระบรมราชวงศ์นี้ เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 ตรงกับคริสต์ศักราช 1782 นั้นมาจนบัดนี้ ในเขตต์แขวงแผ่นดินขอมแปรพักตร์ที่ว่ามานี้ ไทยได้ไปตั้งบ้านตั้งเมืองลงใหม่หลายเมืองคือ มงคลบุรี ศรีโสภณ วัฒนานคร อรัญญประเทศ ถึงเมืองปัตบอง เมืองเสียมราฐ แต่ก่อนก็ไม่มีป้อมและกำแพง ฝ่ายไทยได้ไปสร้างขึ้นเกือบสามสิบปีมาแล้ว ส่วนนี้เป็นส่วนที่หนึ่ง…”[2]

ปัจจุบันในอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ยังมีวัดชื่อ “วัดบางคาง” ซึ่งพบร่องรอยหลักฐานโบราณคดีที่ร่วมสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นว่า เมืองปราจีนบุรีเคยชื่อว่า “เมืองบางคาง” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองประจิม” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ดังปรากฏหลักฐานในแผนที่เดินทัพสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับที่ 7 “เขมรในนี้”[3] สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แผนที่ฉบับนี้เป็นแผนที่แสดงเส้นทางเดินทัพจากกรุงเทพฯ ไปยังกัมพูชา ได้แสดงตำแหน่งที่ตั้งของ “ปรจิม” หรือเมืองปราจีนบุรีไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายตราสามดวงได้เรียกชื่อเมืองปราจีนบุรีว่า “ปราจินบุรี” แสดงมีการเรียกชื่อ “เมืองประจิม” ปะปนกับ “เมืองปราจินบุรี” ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12, (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2549), น. 51.

[2] ประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 ภาคปกิณณกะ ภาค 1, สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พุทธศักราช 2493, น. 28-29.

[3] Santanee Phasuk and Philip Stott. Royal Siamese Maps : War and Trade in Nineteenth Century Thailand. (Bangkok : River Books, 2006), pp. 114 – 115, 124-125.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2561