จังหวัดปราจีนบุรี มาจากไหน เป็นมาอย่างไร

แผนที่ ฉบับเก่า จังหวัด ปราจีนบุรี
แผนที่เก่าจังหวัดปราจีนบุรี ก่อนแยกจังหวัดสระแก้ว

คำว่า “ปราจีนบุรี” หมายถึงเมืองตะวันออก ในเอกสารประวัติศาสตร์เรียกว่า “เมืองปราจีนบุรี” บ้าง “เมืองปราจีน” บ้าง และยังเขียนชื่อเมืองปราจีนแตกต่างกันไป กล่าวคือบ้างก็เขียนเป็น ปราจินบุรี ปราจิณบุรี และปาจีนบุรี แต่โดยความหมายแล้วก็น่าจะหมายถึงเมืองตะวันออก ซึ่งมีประวัติพอสรุปย่อๆ ได้ดังนี้

หลัง พ.ศ. 1900

ชื่อเมืองปราจีนบุรีปรากฏอยู่ในบทพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง อยู่ในกลุ่มบ้านเมืองลุ่มแม่น้ำบางปะกงดังนี้ เมืองวิเสศฤๅไชย เมืองฉะเชิงเทรา ขึ้นประแดงเสนาฎขวา ออกพริบูรสงคราม เมืองนครนายก ขึ้นประแดงเสนาฎขวา ออกพระอุไทยธานี เมืองปราจินบุรี ขึ้นประแดงจุลาซ้าย

สมัยสมเด็จพระนเรศวร (ครองราชย์ พ.ศ. 2133-2148)

ปรากฏชื่อเมืองปราจีนบุรีบนเส้นทางเดินทัพระหว่างกรุงศรีอยุธยา-กรุงกัมพูชา พบว่าเส้นทางเดินทัพทางบกจะผ่าน พิหานแดง (พิหารแดง) บ้านนา เมืองนครนายก ด่านกบแจะ (ประจันตคาม) ด่านหนุมาน (กบินทร์บุรี) ด่านพระปรง (อำเภอสระแก้ว) ช่องตะโก ด่านพระจารึกหรือพระจฤต (อรัญประเทศ-ตาพระยา) ฯลฯ

หลัง พ.ศ. 2310

เมืองปราจีนบุรีอยู่ในเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ยกทัพจากกรุงศรีไปยังเมืองจันทบุรี พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวไว้ความว่า

…เมื่อวันพุธขึ้นแปดค่ำ เดือนยี่ ยกองทัพมาประทับที่ตำบลหนองไม้ซุง ตามทางเมืองนครนายก ประทับรอนแรม 2 วันถึงบ้านนาเริ่ง ออกจากบ้านนาเริ่งวันหนึ่งถึงเมืองปราจีน ข้ามด่านกบแจะหยุดพักพลหุงอาหาร ณ ฟากตะวันออก แล้วยกทัพข้ามทุ่งไปจนถึงเวลาบ่าย 5 โมง…

สมัยรัชกาลที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 2325-2352)

แผนที่ยุทธศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 1 เส้นทางตะวันออกคือจากกรุงเก่า บ่อโพง พระแก้ว พิหารแดง (ตรงนี้มีเส้นทางตะวันออกจากกรุงเก่า บ่อโพง สระแก้ว พิหารแดง (ตรงนี้มีเส้นทางจากเขาพนมโยงแยกทางสระบุรีขึ้นไปเมืองนครราชสีมา) บ้านนา เมืองนครนายก เมืองปราจีน เมืองใหม่ ด่านหนุมาน ช่องตะโก ด่านพระปรง ยางเก้าต้น หนองสะโม่ง ด่านพะรจาฤก

พ.ศ. 2376

รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองบางขนาก เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางระหว่างเมืองปราจีน-พระนคร ในยามที่มีศึกสงคราม นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกด่านหนุมาน (ด่านป้องกันศึกด้านตะวันออก สันนิษฐานว่าเป็นด่านเก่ามาแต่สมัยอยุธยา หรือธนบุรีเป็นอย่างช้า) ตั้งเป็นเมืองกบินทร์บุรี

พ.ศ. 2399

มีการค้นพบพระพุทธทองคำ ภายหลังตั้งชื่อว่า “พระนิรันตราย” ที่ชายป่าดงศรีมหาโพธิ์ เมืองปราจีน และนำขึ้นทูลเกล้าถวายรัชกาลที่ 4

พ.ศ. 2411

ปลายรัชกาล 4 มีพระราชดำริที่จะสร้างป้อมเมืองปราจีน แต่ดำเนินการไม่ทันแล้วเสร็จก็สิ้นราชการไปเสียก่อน มาแล้วเสร็จในราชการต่อมา

พ.ศ. 2416

รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ไปทำบ่อทอง และติดเครื่องจักรโรงทำทองที่เมืองกบินทร์บุรี โดยโรงทำทองเปิดเป็นทางการ พ.ศ. 2418

พ.ศ. 2437

ตั้งมณฑลปราจีน เวลานั้น ประกอบด้วย 4 เมือง คือเมืองปราจีน, เมืองฉะเชิงเทรา, เมืองนครนายก และเมืองพนมสารคาม และภายหลังได้รับโอนเมืองชลบุรี, พนัสนิคม และบางละมุง เข้ามาด้วย

พ.ศ. 2444

ตัดถนนสายแรกของเมืองปราจีนบุรี จากชานดงพระรามผ่านทุ่งนามาจดริมแม่น้ำปราจีนบุรี หรือก็คือ ถนนจากสถานีรถไฟปราจีนบุรีถึงตลาดปราจีนบุรีในปัจจุบัน

พ.ศ. 2445

มณฑลปราจีนย้ายที่ทำการมณฑลมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา

พ.ศ. 2446

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลปราจีน เสด็จตรวจราชการ มีการแบ่งเขตปกครองดังนี้

…เมืองปาจิณแบ่งเขตรอำเภอเปน 5 อำเภอๆ สาขา 3

  1. อำเภอเมือง
  2. อำเภอบ้านสร้าง
  3. อำเภอศรีมหาโพธิ์ แยกสาขาเปนอำเภอท่าประชุมชน 1
  4. อำเภอกระบิล แยกสาขาเปนอำเภอวัฒนา 1 สระแก้ว 1
  5. อำเภอประจันตะคาม…

พ.ศ. 2447

อำเภอศรีมหาโพธิ ยกฐานะเป็นอำเภอ เดิมอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ชาวบ้านเรียกว่า “ท่าเขมร” ด้วยเป็นจุดค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของคนเขมรกับคนที่อยู่ในพื้นที่ ต่อมาราชการเรียก “ท่าประชุมชน” และเรียกสั้นลงเหลือ “ท่าประชุม” ในปัจจุบัน

พ.ศ. 2448

อำเภอบ้านสร้าง ยกฐานะเป็นอำเภอ เดิมท้องที่นี้เรียก “บ้านช้าง” เพราะเดิมเป็นที่อาศัยของช้าง เมื่อมีประชาชนมาตั้งหลักแหล่งมากขึ้น จึงเรียกเพี้ยนเป็น “บ้านช่าง” และ “บ้านสร้าง” จนถึงปัจจุบัน

อำเภอประจันตคาม ยกฐานะเป็นอำเภอ เดิมชื่อ “อำเภอบ้านบก” ส่วนชื่อ ประจันตคาม มาจากชื่อลำน้ำประจันตคามที่ไหลผ่านพื้นที่

พ.ศ. 2450

เปิดเส้นทางรถไฟสายตะวันออกถึงแปดริ้ว มณฑลปราจีน โดยมีการก่อสร้างเพิ่มเติมต่อจากสถานีแปดริ้ว ถึงสถานีกบินทร์บุรี (พ.ศ. 2467) และถึงสถานีอรัญประเทศ (พ.ศ. 2469)

พ.ศ. 2451

อำเภอเมืองปราจีนบุรี ยกฐานะเป็นอำเภอ โดยมีที่ว่าการตั้งอยู่ที่ถนนปราจีนอนุสรณ์ ตำบลหน้าเมือง

พ.ศ. 2469 

อำเภอกบินทร์บุรี ยุบฐานะเป็นอำเภอ เดิมเคยเป็นจังหวัดมาก่อน มีที่ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน “หนุมาน” ห่างจากที่ตั้งปัจจุบันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 7 กิโลเมตร แต่กันดารน้ำ จึงย้ายมาตั้งที่บ้านปากน้ำ พ.ศ. 2449

พ.ศ. 2475

ยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลปราจีน เมืองปราจีนจึงเปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดปราจีนบุรี มี 13 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอบ้านสร้าง อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมโหสถ อำเภอนาดี อำเภอวังน้ำเย็น อำเภออรัญประเทศ อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอคลองหาด และอำเภอสระแก้ว

พ.ศ. 2484-2485

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จังหวัดปราจีนบุรีเป็นหนึ่งในเส้นทางผ่านของกองกำลังทหารญี่ปุ่นที่จะเดินทางจากกรุงเทพไปประเทศกัมพูชา และมีทหารญี่ปุ่นบางส่วนเข้ามาในจังหวัดปราจีนบุรีระยะสั้น ๆ โดยมาพักที่วัดอุดมวิทยาราม (วัดโรงเกวียน) และสถานีรถไฟปราจีนบุรี

พ.ศ. 2485

รัฐบาลได้ออก “พระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พุทธศักราช 2485”  ให้ยุบจังหวัดนครนายกและให้รวมท้องที่ของจังหวัดที่ยุบเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี (เว้นแต่ท้องที่อำเภอบ้านนาให้รวมเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดสระบุรี) ทำให้จังหวัดปราจีนบุมีท้องที่กว้างขวางเพิ่มมากขึ้นเกินกำลังจังหวัดจะรับผิดชอบ

พ.ศ 2489
กระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอร่างหลักการ “พระราชบัญญัติสถาปนาจังหวัดนครนายก พ.ศ. 2489” โดยระบุในพระราชบัญญัติว่า ให้แยกอำเภอนครนายก อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลีออกจากการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี กับให้แยกอำเภอบ้านนาออกจากการปกครองของจังหวัดสระบุรี จัดตั้งเป็น จังหวัดนครนายก

พ.ศ. 2513

ยก “กิ่งอำเภอโคกปีบ” ขึ้นเป็น “อำเภอโคกปีบ” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอศรีมโหสถ” (พ.ศ. 2536)

พ.ศ.  2517

ยก “กิ่งอำเภอนาดี” ขึ้นเป็น “อำเภอนาดี”

พ.ศ. 2536

แยกอำเภอสระแก้ว อำเภอวังน้ำเย็น อำเภออรัญประเทศ อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร และอำเภอคลองหาด ออกจากจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อจัดตั้งเป็น “จังหวัดสระแก้ว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดปราจีนบุรี, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ชื่อบ้านนามเมือง จังหวัดปราจีนบุรี, สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม , พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2550.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565