ที่มาของ “ฟ้าทะลายโจร” จากบ้านดงบัง ปราจีนบุรี ผลิตส่งรพ. รายได้เฉียด 5 หมื่น/เดือน

สมุนไพร บ้านดงบัง เตรียมส่งโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2559

ถึงแม้จะเป็นชุมชนที่อยู่กันมานาน แต่สภาพทั่วไปของบ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมืองปราจีนบุรี ยังดูเป็นป่า มีไม้ใหญ่ขึ้นเป็นกลุ่มๆ สลับกับสวนไม้ผล

คนท้องถิ่นเล่าว่า ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายแล้ว บ้านดงบังมีต้นยางนาขึ้นอยู่เต็มไปหมด ขนาดของลำต้นใหญ่และสูง บริเวณใดที่ต้นไม้มีมาก แดดส่องลงแทบไม่ถึงดิน ด้วยเหตุนี้เองจึงเรียกชื่อท้องถิ่นว่า “ดงบัง”

นอกจากตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมืองปราจีนบุรีแล้ว ดงบัง ยังมีอยู่ในอำเภออื่น จังหวัดเดียวกัน

คาดว่าจังหวัดอื่น ที่มีต้นไม้อุดมสมบูรณ์ อาจจะมีชื่อท้องถิ่นว่าดงบังเช่นกัน

ถึงแม้มีการเข้าใช้ประโยชน์จากที่ดินมานาน แต่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ต้นยางนาไว้ ขณะเดียวกันก็ปลูกรุ่นใหม่ขึ้น เพราะคนที่นั่นใช้ประโยชน์จากยางนาหลายๆ ด้านด้วยกัน

ชาวดงบัง ก่อนหน้านี้ทำไร่ทำนา รวมทั้งสวนไม้ผลเช่นคนตำบลอื่น แต่เนื่องจากจังหวัดปราจีนบุรีเป็นเขตเกษตรที่ก้าวหน้า จึงพบความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

เพราะความก้าวหน้า เกษตรกรจึงเปลี่ยนรูปแบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยที่ส่วนหนึ่งใครผลิตแล้วได้เงินก็ผลิตตามกัน ส่งผลทำให้ผลผลิตมีมาก ราคาขายลดลง สุดท้ายก็หันไปทำอย่างอื่น

ก่อนปี 2540 ไม้ดอกไม้ประดับจำหน่ายได้ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า เศรษฐกิจขยายตัว บ้านจัดสรรจำเป็นต้องใช้ไม้จำนวนมาก ชาวบ้านดงบังปลูกและขยายต้นไม้กันอย่างกว้างขวาง แต่หลังปี 2540 เศรษฐกิจย่ำแย่ลง การซื้อขายต้นไม้ซบเซา เกษตรกรที่มีหัวก้าวหน้าจึงหาทางออก แต่ไม่พ้นเรื่องการเกษตร

คุณสมัย คูณสุข อยู่บ้านเลขที่ … หมู่ 6 บ้านดงบัง ได้รวมสมัครพรรคพวก แล้วไปคุยกับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ในตัวเมืองปราจีนบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านสมุนไพร ชาวดงบังแจ้งความจำนงว่า ขอปลูกสมุนไพรส่งให้กับโรงพยาบาล

ทางโรงพยาบาลทราบความต้องการของชาวบ้าน จึงตอบว่าไม่ขัดข้อง แต่ก็มีกฎเกณฑ์ในการผลิตและแปรรูป ว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่

จากนั้นชาวดงบังถึง 300 ราย ปลูกสมุนไพรส่งให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร แต่เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อย และที่สำคัญมากนั้น ผลผลิตที่ได้ต้องเป็นอินทรีย์ เนื่องจากสมุนไพร ถือว่าเป็นสิ่งสะอาด ปลอดภัย ชาวบ้านส่วนหนึ่งทำไม่ได้ตามกฎเกณฑ์ จึงทยอยหยุดการปลูก จนกระทั่งหลังๆ เหลือผู้ผลิตจริงจังเพียง 12 รายเท่านั้น โดยพื้นที่การผลิตมีราว 70 ไร่

ปัจจุบัน (2559-กองบรรณาธิการ) คุณสมัยคือผู้นำกลุ่มปลูกสมุนไพรของบ้านดงบัง และถือว่ากลุ่มนี้มีบทบาทหนุนส่งให้โรงพยาบาลอภัยภูเบศรเป็นที่รู้จักกันทั่วฟ้าเมืองไทย

คุณสมัยบอกว่า สมุนไพรชนิดแรกที่ปลูกคือหญ้าปักกิ่ง โดยโรงพยาบาลอภัยภูเบศรได้นำพันธุ์มาให้ทดลองปลูก เมื่อปลูกสำเร็จมีความเจริญงอกงาม นำมาสู่การขยาย มีการปลูกสมุนไพรชนิดอื่นเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน (2559-กองบรรณาธิการ) ปลูกสมุนไพรหลักที่ส่งให้กับทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ทั้งสิ้น 15 ชนิด อาทิ หญ้าปักกิ่ง หญ้าหนวดแมว เพชรสังฆาต เสลดพังพอน ชุมเห็ดเทศ ขมิ้นชัน ใบชะพลู ทองพันช่าง อัคคีทวาร เป็นต้น

“ผู้ปลูกทุกคนได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์แล้ว เราเน้นในเรื่องของความหลากหลายทางระบบนิเวศ ไม่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช้สารเคมี และทำตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลักษณะแปลงปลูกเป็นการปลูกป่า 3 ระดับ ประกอบด้วยไม้สูง ไม้กลาง และไม้ล่าง เป็นการจัดการแปลงปลูกแบบองค์รวม เลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งบ้านดงบังแห่งนี้เป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรพื้นที่แรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองเป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งหลังจากได้รับรองมาตรฐานแล้ว เพื่อให้มั่นใจในความสะอาดปลอดภัย จะมีการตรวจแปลงปลูกถึงปีละ 3 ครั้ง” คุณสมัยเล่า

คุณสมัยบอกว่า สมุนไพรเด่นที่บ้านดงบังปลูกเป็นหลัก มีจำนวนการสั่งซื้อสูง และมีการผลิตอย่างต่อเนื่องทุกรอบการสั่งซื้อ คือ ฟ้าทลายโจร (ฟ้าทะลายโจร) หญ้าปักกิ่ง และเพชรสังฆาต ซึ่งในการผลิตแต่ละครั้งจำนวนจะขึ้นอยู่กับออเดอร์ของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร มีการวางแผนส่งขายสมุนไพรแต่ละชนิดภายในสมาชิกด้วยกัน โดยการแบ่งกันปลูกและส่งขายตามจำนวนสมาชิก เช่น เมื่อมีการสั่งฟ้าทะลายโจร 1,200 กิโลกรัม สมาชิกทั้ง 12 รายต้องรับผิดชอบผลิตด้วยกัน คือมีการผลิตเฉลี่ยรายละ 100 กิโลกรัม เพื่อส่งให้กับโรงพยาบาล เป็นวิธีการช่วยเหลือและแบ่งปันรายได้กันอย่างทั่วถึง

“ก่อนที่จะมีการปลูก ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี ฝ่ายการตลาดของโรงพยาบาลจะประชุมวางแผนว่าในปีต่อไป โรงพยาบาลจะใช้สมุนไพรอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ แล้วผู้ปลูกจะเริ่มการปลูกในช่วงปลายฝนต้นหนาวกระทั่งถึงเดือนธันวาคม ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งนี้การเก็บเกี่ยวก็จะขึ้นอยู่กับอายุของสมุนไพรแต่ละชนิดด้วย เพื่อให้ได้คุณภาพและสารออกฤทธิ์ทางยาที่เป็นมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์ ปัจจัยที่ใช้ต้องปลอดสารเคมี ที่นี่ใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพแทน ซึ่งปุ๋ยคอกก็ต้องมีที่มาที่ไป หากจะใช้ขี้ไก่ ห้ามใช้ขี้ไก่กรงตับ เนื่องจากไก่ที่ถูกเลี้ยงลักษณะนี้จะมีความเครียด เมื่อถ่ายออกมาแล้วจะมีสารเคมีหลั่งออกมาด้วย

ศัตรูพืชของสมุนไพรไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากสมุนไพรที่ปลูกส่วนมากมีรสขม ซึ่งศัตรูพืชไม่ชอบอยู่แล้ว อีกทั้งการปลูกแบบหลากหลายทางระบบนิเวศ ธรรมชาติจะจัดการตัวเองอย่างเป็นระบบ มีนก มีตั๊กแตน มีกิ้งก่า มีหนู เป็นห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ การจัดการแปลงปลูกส่วนมากเป็นเรื่องของการกำจัดวัชพืช” คุณสมัยยืนยันเรื่องการผลิตแบบอินทรีย์

คุณสมัยบอกว่า คุณภาพของสมุนไพร ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอายุการเก็บเกี่ยว

การเก็บผลผลิตจะเก็บตามอายุของสมุนไพรแต่ละชนิด เช่น ฟ้าทลายโจรจะมีอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 2-3 เดือน ในแต่ละรอบการผลิตจะปลูกสมุนไพรแต่ละชนิดไม่เท่ากัน

บ้านดงบังแห่งนี้ถือเป็นส่วนผลิตวัตถุดิบให้กับโรงพยาบาลคือมีพื้นที่ปลูก มีโรงล้างและโรงหั่น ซึ่งแปรรูปออกมาเป็นวัตถุดิบชิ้นแห้ง อย่างมีคุณภาพ

ราคาของสมุนไพรที่ชาวบ้านจำหน่ายได้ โดยทั่วไปตันละ 1.5 แสนบาท หรือกิโลกรัมละ 150 บาท แต่ที่ราคาสูงมากคือหญ้าปักกิ่งตันละ 8.5 แสนบาท หรือกิโลกรัมละ 850 บาท

คุณสมัยบอกว่า หญ้าปักกิ่งสดจำหน่ายกิโลกรัมละ 50 บาท เมื่อนำหญ้าปักกิ่งสด 12-15 กิโลกรัม มาอบ จะได้น้ำหนักแห้ง 1 กิโลกรัม

เห็นราคาแล้ว อาจจะคิดว่า ชาวบ้านคงรับเละ จริงๆ แล้ว เขาผลิตกันตามใบสั่งของโรงพยาบาล วิธีการผลิตค่อนข้างยุ่งยาก ปริมาณแต่ละปีอาจจะไม่มากนัก คุณสมัยบอกว่า ชาวบ้านดงบังที่ผลิตสมุนไพร มีรายได้เดือนละ 30,000-40,000 บาทต่อครัวเรือน

คุณสมัยบอกว่า ไทยเราน่าจะเป็นโรงพยาบาลของโลกได้

“บ้านดงบังที่เราอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นป่าอยู่ ป่ามีสมุนไพร เก็บต้นไม้มารักษาโรคได้เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย ปัจจุบันป่ามีน้อย เราพูดว่าไทยเป็นครัวของโลกมานาน ผมว่า เราน่าจะเป็นโรงพยาบาลของโลกได้ เพราะว่าทรัพยากรของเราหลากหลาย ต้นไม้ที่ให้สรรพคุณทางยามีอยู่มากมาย”

คุณสมัยบอก และยังเล่าต่ออีกว่า

“ที่บ้านผมมีไม้ 3 ระดับ…ไม้ระดับสูงอย่างเดียว ไม้ยางนา ใบใช้แก้ไอ ลูกและดอกช่วยลดน้ำตาล น้ำมันยางนำมาเป็นส่วนผสมยาแก้ปวดฟัน เปลือกและเนื้อไม้ก็ยังเป็นสมุนไพร ประเทศไทยไม่ใช่เด่นในเรื่องอาหารหรือครัวของโลก สมุนไพรก็มีอยู่มาก สมุนไพรของประเทศอื่นก็ดี โดยเฉพาะอาเซียน แต่ประเทศไทย ก้าวหน้าทางด้านการผลิตแบบอินทรีย์”

คุณสมัยบอกว่า งานผลิตสมุนไพร นอกจากผู้ผลิตมีความเข้าใจแล้ว ปลายทางคือผู้นำไปแปรรูปก็ต้องมีด้วย

ที่บ้านดงบังผลิตต่อเนื่องมาร่วม 2 ทศวรรษ เพราะมีการหนุนส่งทั้งผู้ผลิต ผู้แปรรูป และสำคัญไม่น้อยผู้ใช้


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564