“เมืองปราจีนบุรี” ฤากษัตริย์กัมพูชาเคยเดินทัพผ่าน เมื่อคราวไปตีกรุงศรีอยุธยา!?

กระบวนพยุหยาตราทัพ จากหนังสือสมุดไทยของหอสมุดแห่งชาติ (หนังสือ "กระบวนพยุหยาตราประวัติศาสตร์และพระราชพิธี" จัดพิมพ์โดยหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร)

เมืองโบราณในจังหวัดปราจีนบุรี ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางโบราณ โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นเมืองท่ามาตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว ต่อมาเมื่ออาณาจักรเขมรโบราณได้ขยายอำนาจเข้ามาจนถึงเมืองศรีมโหสถก็ย่อมเป็นหลักฐานให้เห็นถึงความสำคัญของดินแดนบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีในฐานะส่วนหนึ่งของเส้นทางจากเมืองพระนครหลวงทางด้านตะวันตก

เส้นทางดังกล่าวน่าจะมีการใช้สืบเนื่องต่อมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18 เนื่องจากพบร่องรอยโบราณสถานสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตั้งแต่ชายแดนไทยกัมพูชาเรื่อยมาจนถึงเมืองศรีมโหสถ

เมื่อเมืองโบราณศรีมโหสถเสื่อมลง และมีการย้ายชุมชนไปตั้งอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี เมืองนี้ก็อยู่ในเส้นทางการติดต่อระหว่างไทย-กัมพูชาสืบมา โดยปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นว่า กษัตริย์กัมพูชาเมื่อจะยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาก็ได้เดินทัพผ่านมาทางเมืองปราจีนบุรี (ซึ่งในเอกสารเรียกว่า “เมืองบางคาง” ด้วย) ดังความในพงศาวดารละแวก ฉบับพระองค์เอง แปลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่า

“…พระเจ้าคำขัดมีเดชานุภาพ แลพระนครนั้นเคยขึ้นพระนครศรีอยุทธยาก็มิได้ไปอ่อนน้อม พระเจ้า
คำขัดก็ยกกองทัพเข้ามาจะตีเอาพระนครศรีอยุทธยา ครั้นมาถึงคลองสะมัดไชย แล้วยกล่วงเข้าไปถึงด่านสำโรง แขวงเมืองจันทบูรร บางคาง กวาดได้ครัวอพยพเป็นอันมาก…”

นอกจากนี้ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า พระยาละแวกได้ยกทัพเข้ามาทางเมืองปราจีนบุรี และได้กวาดต้อนชาวเมืองปราจีนบุรีกลับไปเมืองละแวก ดังความในพระราชพงศาวดารว่า

“…๏ ขณะเมื่อพระเจ้าหงษาวดียกทับมานั้น ฝ่ายพญาลแวก รู้ว่า พระนครศรีอยุทธยาผลัดแผ่นดินใหม่ก็ยกทับรูดมาถึงเมืองปราจินบูรี ตีจับได้คนถามให้การว่า พระเทียรราชาครองราชสมบัดิ เสนาบดีพร้อมมูนอยู่แล้ว พญาลแวกก็มิอาจ์ยกเข้ามากวาดแต่ครัวอพยบชาวปราจินบูรี แล้วกลับไปเมืองลแวก…”

นอกจากเป็นเมืองรับศึกด้านทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยาแล้ว เมืองปราจีนบุรียังเป็นเมืองสำคัญเมืองสุดท้ายด้านตะวันออก ในเส้นทางไปกัมพูชา ดังนั้น จึงปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยอยุธยาว่า เมืองปราจีนบุรีเป็นเมืองที่มีหน้าที่เพาะปลูกเสบียงอาหารสำหรับเลี้ยงกองทัพเมื่อมีราชการสงคราม
ยกทัพไปกัมพูชา ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า โปรดเกล้าฯ ให้พระยาปราจินบุรีไปเตรียมเสบียงสำหรับทัพไปตีเมืองละแวก ดังความในพระราชพงศาวดารว่า

“…ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 6 ค่ำ ก็ปูนบำเหนจ์มุขมนตรีนายทับนายกองทั้งปวงโดยสมควร แล้วมีพระราชบริหารสั่งพญานครนายก พญาปราจิน พระวิเศศเมืองฉะเชืงเซรา พระสุระบูรี 4 หัวเมือง ให้พญานครนายกเปนแม่กองใหญ่คุมพลหมื่นหนึ่งออกไปตั้งค่ายขุดคูปลูกยูงฉางถ่ายลำเลียงไว้ตำบลทำนบรักษาให้หมั้น อย่าให้เสียทีแก่ข้าศึก ฝ่ายพญานครนายก พญาปราจิน พระวิเศศฉะเชืงเชรา พระสุระบูรี กราบถวายบังคมลา แล้วก็ไปทำตามพระราชบันชาสั่ง…”

ด้วยเหตุนี้เมื่อมีราชการที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชา เมืองปราจีนบุรีจึงเป็นเมืองด่านทางตะวันออกที่สำคัญ เช่นในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พระราชวงศ์กัมพูชาหนีเข้ามากรุงศรีอยุธยาก็ได้เดินทางเข้ามาทางเมืองปราจีนบุรี ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ว่า

“…๏ ฝ่ายข้างกำภุชประเทศ นักพระสถาองค์อิงไปฃอกองทับญวนมาตีกรุงกำภูชาธิบดี แลนักพระรามา
ธิบดีกับนักพระศรีไชยเชษฐสู้รบญวนมิได้ จึ่งภาสมัคพักพวกแตกหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทางเมืองปราจินบูรี กรมการเมืองปราจินบูรีส่งหนังสือบอกเข้ามายังสมุหนายกๆ กราบบังคมทูลพระกรุณา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าหลวงออกไปรับจ้าวเขมนทั้งสองกับสมัคพักพวกเข้ามายังพระมหานคร…” 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จยกทัพกลับมาจากกัมพูชาเพื่อปราบจลาจลในกรุงธนบุรีก็ได้เสด็จเข้ามาทางด่านพระจารึกจนถึงเมืองปราจีนบุรีก่อนที่จะยกทัพเข้ามาทางทุ่งแสนแสบ ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ว่า

“…เจ้าพญามหากระษัตรศึก ก็ทรงช้างแล้วยกช้างม้ารี้พลคนประมาณห้าพันเสศ ดำเนีรทับมาทางด่านพระจาฤกมาถึงเมืองปราจิน แล้วข้ามแม่น้ำเมืองปราจิน เมืองนครนายก ตัดทาง
มาลงท้องทุ่งแสนแสบ ๚ะ๛…”

จากหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า เมืองปราจีนบุรี เป็นเมืองด่านสำคัญทางทิศตะวันออก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่ใช้ในการประชุมพลสำหรับยกทัพขึ้นไปเมืองนครราชสีมาในสงครามคราวปราบเจ้าอนุวงศ์อีกด้วย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เมืองปราจีนบุรี เส้นทางโบราณและแหล่งเสบียงอาหารกองทัพ” เขียนโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2561