ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ตำราทักษาปกรณ์” หรือบางคนก็เรียกว่า “คัมภีร์นามทักษาปกรณ์” “ตำราทักษา” “คัมภีร์ทักษาพยากรณ์” ฯลฯ เป็นตำราหรือคัมภีร์ที่มีไว้เป็นแนวทางในการตั้งชื่อคนไทย เนื่องจากคนไทยเชื่อว่าการมีชื่อที่ดีจะนำพามาซึ่งความสุข ความเจริญ และความสำเร็จของบุคคลนั้น ๆ
เชื่อได้เลยว่าคนไทยส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นชั้นเจ้านายหรือคนทั่วไป ต่างต้องใช้ตำรานี้เป็นแนวทางในการตั้งชื่อทั้งสิ้น แม้แต่การตั้งฉายานามพระสงฆ์ก็ต้องอิงจากตำราทักษา
ตำราทักษาปกรณ์
ตำรานี้เดิมทีเป็นภาษาบาลีสันสกฤต ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่มีคนเชื่อว่าเป็นคัมภีร์ที่มาจากมอญและชำระในสมัยรัตนโกสินทร์
ชื่อ “ทักษะ” มาจากคำสันสกฤต อย่าง “ทกฺษ” ที่แปลว่า ความสามารถ ความสันทัด และความชำนาญ ทั้งยังเชื่อมโยงกับชื่อเทวดาสำคัญอย่าง พระทักษมุนี ซึ่งเป็นบุตรเกิดแต่ใจของพระพรหม
มีคนวิเคราะห์ว่าที่ได้ชื่อว่าตำราทักษาปกรณ์นี้น่าจะมาจากการนิยมนับถือบูชาเทวดาชั้นสูง นั่นก็คือพระทักษมุนี เพราะนอกจากท่านจะเป็นเทพองค์สำคัญ ท่านยังเป็นบิดาของนางนักษัตรที่เกี่ยวข้องกับดวงดาวและรากฐานของการพยากรณ์
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะคำว่า ทกฺษ สามารถเป็นเครื่องแสดงความวิเศษของตำราว่าเข้มแข็งยิ่งกว่าตำราที่มีมาก่อนหน้า
ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด ตำราทักษาก็ได้กลายเป็นตำราทางวิชาโหรศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และล้ำค่าอย่างแท้จริง เพราะมีตำราอีกหลายเล่มที่ใช้ตำราเล่มนี้เป็นตำราสนับสนุนหรือใช้เป็นหลัก เช่น ตำราจักรทีปนี ตำราโหราศาสตร์ว่าด้วยการพยากรณ์และทำนายลักษณะบุคคลตามราศีต่าง ๆ, คัมภีร์พิชัยสงคราม ที่ใช้เป็นคู่มือรบ หรือ คัมภีร์โสฬสปุรำ ที่ใช้สำหรับเลือกที่ดินหรือสร้างบ้านเรือน

ภายในตำราเล่มนี้ จะมีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงการตั้งชื่อ ซึ่งเป็นโหราศาสตร์ขั้นต้นของคนไทยเลยก็ว่าได้ เพราะหลายบ้านก็จะเลือกชื่อที่มีความหมายดีให้ลูกหลานตนเอง ในทักษาจะแบ่งออกเป็น 8 ช่อง แสดงหมายเลข 1-8 แทนอัฐเคราะห์ทั้ง 8 เช่น หมายเลข 1 หมายถึงพระอาทิตย์ คุ้มครองรักษาผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ หมายเลข 2 หมายถึงพระจันทร์ คุ้มครองรักษาผู้ที่เกิดวันจันทร์ หรือ 3 หมายถึงพระอังคาร คุ้มครองรักษาผู้ที่เกิดวันอังคาร
เป็นเช่นนี้ไปจนถึงหมายเลข 8 ที่หมายถึงพระราหู คุ้มครองรักษาผู้ที่เกิดวันพุธกลางคืน
ในการนับวันทางโหราศาสตร์ก็จะไม่เหมือนกับการนับแบบสากล เพราะในโหราศาสตร์จะนับวันใหม่ เมื่อ 6 โมงเช้า แทนที่จะนับเวลาเที่ยงคืน (ถือเอาเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกเป็นสำคัญ) ยกเว้นคนที่เกิดวันพุธ จะมีพระเคราะห์ 2 ระยะ พุธกลางวันจะเป็นเวลา 6 โมงเช้า จนถึง 6 โมงเย็น ส่วนคนที่เกิดวันพุธกลางคืน ก็คือคนที่เกิดหลัง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป
เมื่อทราบอัฐเคราะห์แล้ว ก็จะเรียงลำดับเป็น 1-8 ตามวันที่เราคุ้นในหลักโหราศาสตร์ ได้แก่ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู (พุธกลางคืน) และศุกร์
ต่อมาจะนำลำดับ 1-8 เรียงตามทิศ คือ อีสาน (อาทิตย์) บูรพา (จันทร์) อาคเนย์ (อังคาร) ทักษิณ (พุธ) หรดี (เสาร์) ประจิม (พฤหัสบดี) พายัพ (พุธกลางคืน) และอุดร (ศุกร์)
นอกจากนี้แต่ละวันก็จะมีนามอัฐเคราะห์เป็นของตนเอง ได้แก่ อาทิตย์คือครุฑนาม จันทร์คือพยัคฆนาม อังคารคือสิงหนาม สีหนาม หรือราชสีนาม พุธคือโสณนาม พฤหัสบดีคือมุสิกนาม ราหูคือคชนาม ศุกร์คืออัชนาม และเสาร์คือนาคนาม
เมื่อได้ครบองค์ประกอบในตำราก็จะมีการกำหนดตัวอักษรประจำแต่ละวันมา ซึ่งต่อมาได้ปรับใหม่ให้เหมาะสมกับอักษรที่ไทยมีอยู่ เนื่องจากเดิมทักษาเป็นตำราบาลี จะมีสระและอักษรน้อยกว่าไทย
ครุฑนาม มี อ และสระทั้งหมด
พยัคฆนาม มี ก ข ค ฆ ง
สิงหนาม มี จ ฉ ช ซ ฌ ญ
โสณนาม มี ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
นาคนาม มี ด ต ถ ท ธ น
มุสิกนาม มี บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
คชนาม มี ย ร ล ว
อัชนาม มี ศ ษ ส ห ฬ

เมื่อทราบอักษรตามนามอัฐเคราะห์แล้ว ก็จะเอาอักษรเหล่านี้ไปเทียบกับระเบียบ 8 อย่าง ซึ่งเป็นองคสมบัติของคนที่เกิดมา ได้แก่
บริวาร คือ ตัวเองและคนรอบข้าง ได้แก่ บุตร สามี ภรรยา มิตร สหาย และผู้อยู่ในปกครอง
อายุ คือ สุขภาพร่างกาย ความมีอายุมั่นขวัญยืน
เดช คือ ความมีอำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศ
ศรี คือ ความดีงาม ความมีสง่า ความมีสิริมงคล และความมีทรัพย์สิน
มูละ คือ รากฐานดั้งเดิมของวงศ์ตระกูล ทรัพย์สินมรดก
อุตสาหะ คือ ความเพียร ความอดทน ความขยัน ความพยายามให้เกิดผลสำเร็จ
มนตรี คือ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ผู้สนับสนุน ผู้อุปถัมภ์
กาลกิณี หมาย ความอัปมงคล โชคร้าย
นำอักษรที่ได้มาตามวัน เริ่มต้นที่วันอาทิตย์ วางไว้ที่ช่องบริวาร จากนั้นให้เวียนขวาไปเรื่อย ๆ ตามเข็มนาฬิกา จะได้ออกมาตามตาราง ดังนี้

ถ้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือผู้ใหญ่คนไหนอยากให้ลูกตนเองเด่นเรื่องอะไร ก็จะเลือกใช้อักษรที่ตกตามช่องนั้น ๆ ยกเว้น กาลกิณี ที่จะเป็นตัวบอกว่าคนที่เกิดวันนั้นห้ามใช้ตัวอักษรอะไร ส่วนมากจึงเน้นดูที่ช่องกาลกิณีเป็นหลัก เพราะนอกนั้นแล้วก็ถือเป็นอักษรดีที่ควรมีปรากฏอยู่ในชื่อ
จะเห็นว่าความเชื่อคนวันจันทร์ห้ามมีสระในชื่อก็มาจากตำราทักษาปกรณ์นี้นั่นเอง
ตำราทักษาไม่เพียงแค่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตั้งชื่อบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการตั้งนามฉายาของสงฆ์และเหล่าเจ้านายอีกด้วย
การตั้งนามพระภิกษุ จะเน้นไปที่การดูช่องบริวารเป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่องที่แสดงให้เห็นว่าพระรูปนั้นเกิดวันไหนได้ชัดเจน (เพราะเป็นช่องเริ่มต้น ยังไม่มีการวนขวา) ทั้งการเป็นพระไม่ต้องการอำนาจ แต่ต้องการบริวารมาก ๆ เพื่อให้คนมาปฏิบัติธรรม
นอกจากนี้ การตั้งฉายานามยังหลีกเลี่ยงการใช้อักษรกาลกิณี ยกเว้นคนวันจันทร์ ที่แม้ว่าสระจะเป็นกาลกิณี ก็ต้องมีสระ เพราะฉายานามต้องมีสระประกอบด้วย คนที่เกิดวันจันทร์จึงต้องเน้นไปที่ต้นฉายานามหรืออักษรต้นฉายานามต้องไม่มีสระแทน เพื่อให้เกิดสิริมงคล (แต่บางครั้งคนวันจันทร์ก็จะเลือกวันบวชมาตั้งฉายานามแทนเพื่อเลี่ยงวันเกิดตัวเอง)
สำหรับใครที่จำวันเกิดของตัวเองไม่ได้ พระอุปัชฌาย์ก็จะเอาวันบวชมาใช้สำหรับตั้งชื่อฉายา หรือบางครั้งมีการบวชหมู่ก็จะอิงตามวันบวชทั้งหมดเลยก็ได้
ด้านการตั้งชื่อของเจ้านายหรือพระบรมวงศานุวงศ์ก็จะมีเกณฑ์เดียวกับการตั้งฉายานามพระสงฆ์ คือจะนำอักษรวรรค “บริวาร” ประจำวันประสูติตามตำรามาใช้ขึ้นต้นพระนาม เนื่องจากเจ้านายมีอำนาจอยู่แล้ว จะต้องมีบริวารเยอะ ๆ แทน ทั้งยังช่วยให้ทราบว่าเจ้านายองค์นั้น ๆ ประสูติวันอะไร
อย่างไรก็ตาม การตั้งชื่อพระนามเจ้านายอาจมีบางพระองค์ทรงเลือกใช้อักษรมงคลจากวรรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน แต่หลัก ๆ แล้ว จะใช้วรรคบริวารเป็นสำคัญ
ทั้งหมดนี้คือเกณฑ์การตั้งชื่อหรือฉายานามตามหลักตำราทักษาของคนไทย
อ่านเพิ่มเติม :
- ดูดวงชะตาตนเอง ฉบับ “นับเศษ” ของรัชกาลที่ 4 ฮิตมากจนสตรีชาววังนับเป็นกันทุกคน!
- “ตกฟาก” ไฉนเป็นคำเรียกเวลาเด็กออกมาลืมตาดูโลก?
- ทำไม “โหราศาสตร์” ถึงมีบทบาทในสังคมไทยยุคดิจิทัล?
- อะไรบ้างที่เรียกว่า “เดรัจฉาน” ? เปิด 4 ประเภทสัตว์เดรัจฉานจากตำราโลกทีปนี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อำนาจ ปักษาสุข. ตำราทักษากับการตั้งชื่อของคนไทย ใน วรรณวิทัศน์ พฤศจิกายน 2556.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2568