ทำไมเรียก “ทองเนื้อเก้า” จำนวน 9 มีความหมายอย่างไร?

ช้างพระที่นั่งทองคำ ประกอบเรื่อง ทำไมเรียก ทองเนื้อเก้า
ภาพประกอบเนื้อหา - “ช้างพระที่นั่งทองคำ” พบในกรุของปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา (ลิขสิทธิ์ภาพ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

“ทองคำ” เป็นทรัพย์สินมีค่าที่ใคร ๆ ก็อยากมีไว้ในครอบครอง แต่สงสัยไหม ทำไมเรียก ทองเนื้อเก้า จำนวน “9” ในที่นี้ มีความหมายอย่างไรกันแน่?

จาก หนังสือประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชหัตถเลขาเชิงอธิบายไว้ โดยกล่าวถึงราคาทองคำที่ซื้อขายกันในตลาดเมืองเชียงแสนแต่โบราณ ซึ่งกำหนดราคาตามลักษณะความบริสุทธิ์และน้ำหนักของทอง ดังว่า 

“ทองคำที่เนื้อต่ำซื้อขายกันหนักหนึ่งเปนเงิน ๔ บาทจึงเรียกว่าเนื้อสี่ ที่เนื้อสูงขึ้นไปกว่านั้น ทองคำหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๕ บาทเรียกว่าเนื้อห้า ทองคำหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๖ บาทเรียกว่าเนื้อหก ทองคำหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๗ บาทเรียกว่าเนื้อเจ็ด ทองคำหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๘ บาทเรียกว่าเนื้อแปด ทองคำหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๘ บาท ๒ สลึง เรียกว่าเนื้อแปดสองขา ฤๅอิกคำหนึ่งเรียกว่าเนื้อแปดเศษสอง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ตามการที่ราษฎรใช้ซื้อขายกันในเวลานั้น ทองคำเนื้อสุกสูงอย่างเอกเช่นทองบางตะพาน ขายกันหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๙ บาทเรียกว่านพคุณเก้าน้ำ ก็ที่ว่าสองขาสามขาก็ดี ฤๅที่ว่าเศษสองเศษสามก็ดี โดยละเอียดนั้น คือว่าเศษสลึงแต่หน้าชั้นนั้นขึ้นไป”

ทองนพคุณเก้าน้ำในที่นี้ ก็คือ “ทองเนื้อเก้า” นั่นเอง

ทองเนื้อเก้าจึงเป็นคำเรียกทองคำที่มีเนื้อบริสุทธิ์ และมีราคาซื้อขายแพงที่สุดตั้งแต่ในอดีต กล่าวคือ ทองน้ำหนัก 1 บาท มีราคาเป็นเงิน 9 บาท บ้างก็เรียก ทองธรรมชาติ, ทองเนื้อแท้ ทองนพคุณ และทองชมพูนุท

ส่วนทองที่มีคุณภาพลดหลั่นกันลงมาก็คือ ทองเนื้อแปด ทองเนื้อเจ็ด ฯลฯ

ทองบริสุทธิ์หรือทองเนื้อเก้านี้ แม้ต่อมาราคาซื้อขายกันในตลาดอื่นอาจแพงขึ้น ทองหนักบาทหนึ่งอาจมีราคาเป็นเงิน 10 บาท 20 บาท ก็ไม่ได้เรียกว่า ทองเนื้อสิบ ทองเนื้อยี่สิบ แต่อย่างใด ยังคงเรียกว่า ทองเนื้อเก้า ติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน

ทองแท่ง ทองคำ
ทองแท่ง (ภาพ : pixabay)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ทองเนื้อเก้า. บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556. (ออนไลน์)

รัตติกาล ศรีอำไพ, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ทอง. 6 สิงหาคม 2551. (ออนไลน์)

จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว; พระบาทสมเด็จฯ. ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๖. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ธันวาคม พ.ศ. 2466. (ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2568