“ข้าวต้มสามกษัตริย์” เมนูที่รัชกาลที่ 5 ทรงคิดค้น มีที่มาจากไหน?

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาส เมืองกำแพงเพชร ข้าวต้มสามกษัตริย์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประทับนั่งขวาสุด) ขณะเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2449 ที่เมืองกำแพงเพชร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการปรุงพระกระยาหาร โดยเฉพาะเมื่อคราวเสด็จประพาส ที่พระองค์มักทรงนำวัตถุดิบท้องถิ่นหรือเครื่องปรุงที่มีอยู่ในขณะนั้นมาปรุงพระกระยาหาร หนึ่งในนั้นคือ “ข้าวต้มสามกษัตริย์”

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น ข้าวต้มสามกษัตริย์
รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร (ภาพจากหอจดหมายเหตุฯ)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกเรื่องนี้โดยใช้นามแฝง “นายทรงอานุภาพ หุ้มแพรมหาดเล็ก” ไว้ใน “จดหมายฉบับที่ ๕ เมืองเพ็ชรบุรี” ลงวันที่ 29 กรกฎาคม ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2447) เมื่อครั้งตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ประพาสเมืองต่างๆ ว่า

วันที่ 24 กรกฎาคม เวลาเช้า รัชกาลที่ 5 เสด็จทรงเรือฉลอมแล่นใบออกประพาสละมุ ที่ชาวบ้านจับปลาตามปากอ่าวแม่กลอง มีเรือฉลอมแล่นไปในกระบวนเสด็จ 3 ลำด้วยกัน คราวนั้นกระบวนเสด็จได้ซื้อกุ้งที่ชาวบ้านจับได้ตามละมุ แล้วต้มข้าวต้มขึ้นในเรือฉลอม

ที่เรียกว่าข้าวต้มสามกษัตริย์นั้นคือต้มอย่างข้าวต้มหมูแต่ใช้ปลาทู กุ้งกับปลาหมึกสดแทรกแทนหมู เป็นของทรงประดิษฐ์ขึ้นในเช้าวันนั้นเอง ตั้งแต่ฉันเกิดมาไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยเหมือนวันนั้นเลย…”

จากบันทึกข้างต้นจะเห็นว่า รัชกาลที่ 5 ทรงพลิกแพลงด้วยการนำวัตถุดิบจากท้องทะเล ทั้งปลาทู กุ้ง และปลาหมึกสด มาปรุงพระกระยาหารกระทั่งออกมาเป็นเมนูใหม่ ซึ่งเมื่อกรมดำรงได้เสวยแล้วถึงขั้นบันทึกว่า “ตั้งแต่ฉันเกิดมาไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยเหมือนวันนั้นเลย”

เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมก๊กออ ข้าวต้มสามกษัตริย์
เจ้าจอมเอิบ

ที่น่าสังเกตอีกประการ คือ การมี “ปลาทู” เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของข้าวต้มทรงประดิษฐ์ ซึ่งนอกจากปลาทูจะเป็นอาหารที่หาได้ง่ายแล้ว ยังเป็นสิ่งที่รัชกาลที่ 5 โปรดอีกด้วย

รัชกาลที่ 5 โปรดเสวยปลาทูอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ที่สามารถทอดปลาทูได้ถูกพระทัยพระองค์มากที่สุด คือ เจ้าจอมเอิบ หนึ่งในเจ้าจอมก๊กออ ปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภว่า

“เรื่องทอดปลาทู ข้าอยู่ข้างจะกลัวมาก ถ้าพลาดไปแล้ว ข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาทอดปลาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน บอกกรมวังให้จัดรถให้นางเอิบออกไปทอดปลา”

แม้จะผ่านมากว่าร้อยปี แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้ปรุงเมนูข้าวต้มดังกล่าว ด้วยมีรสชาติแสนอร่อยนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศเธอ* กรมพระยา. จดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. อำมาตย์ตรี หลวงวรพากย์พินิจ (วินท์ อัศวนนท์) พิมพ์แจกในงารศพ* นางวรพากย์พินิจ (ปลั่ง อัศวนนท์) ภรรยา ณ วัดบรมนิวาส เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘. โรงพิมพ์เทพประสิทธิ์.

*สะกดตามต้นฉบับ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2568