ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจากพูดถึงเรื่องข้าวราดแกง-แกงราดข้าวในบทความที่แล้ว (คลิกอ่านได้ที่นี่) ว่าต้องเรียกคำใดก่อนหน้าและหลัง ครั้งนี้จึงจะมาพูดถึงประเด็นที่ยังถกเถียงกันมาตลอดเกี่ยวกับคำเรียก “น้ำปลาพริก-พริกน้ำปลา” หนึ่งเครื่องชูโรงอาหารชั้นดี ที่มักจะเสิร์ฟคู่กับอาหารตามสั่งนานาชนิด กินกับข้าวผัดร้อน ๆ เม็ดร่วน ๆ ก็เสริมให้รสชาติดียิ่งขึ้น จะกินกับเมนูอื่น ๆ ก็ไม่น้อยหน้า เพิ่มความเค็มเผ็ดให้อาหาร ถูกปากคนไทยมาหลายชั่วอายุคน
“น้ำปลาพริก-พริกน้ำปลา” เรียกคำใดนำหน้าก่อนกันแน่?
กลับมาที่หนังสือเล่มเดิมที่เขียนโดย “โชติศรี ท่าราบ” แพทย์หญิงและนักเขียนเรื่องสั้น อย่าง “‘หมอเพลง’ บรรเลงภาษา 90 ปี โชติศรี ท่าราบ” หลังจากที่ให้คำตอบเรื่องข้าวราดแกงไปแล้ว ก็ถึงทีของน้ำปลาพริกหรือพริกน้ำปลากันบ้าง ซึ่งเจ้าตัวก็ไขข้อสงสัยให้เราดังนี้…
“…อยากจะกินให้เค็ม ให้เผ็ดแซบไปอีก ก็-ขอน้ำปลาพริกหน่อยจ้ะ แต่สมัยใหม่ เขาไม่สั่งยังงี้กันหรอก เขาสั่งว่า แกงราดข้าว แกงไก่นะ เอา พริกน้ำปลา มาด้วย…น้ำปลาจึงมีปริมาณมากกว่าพริกขี้หนูเขียวๆ แดงๆ ที่หั่นซอยเป็นฝอย
ถ้าอยากจะให้มีรสเปรี้ยว ก็ขอน้ำพริกดอง-บอกความหมายชัดเจนทีเดียว แต่สมัยใหม่ เขาเรียกพริกน้ำส้ม
คนเดี๋ยวนี้ถึงได้ดุ เอะอะก็เรียกพริกขึ้นหน้ายันเลย พริกน้ำปลา, พริกน้ำส้ม”
นอกจากนี้ข้อมูลจาก ดร. อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล กรรมการวิชาการของสำนักราชบัณฑิตยสภา ที่ทางเพจคำไทยได้สอบถาม ยังระบุไว้ว่า… “น้ำปลาพริก” คือคำที่ใช้มาแต่เดิม เนื่องจากน้ำปลาเป็นส่วนสำคัญหรือเป็นคำหลัก โดยมีพริกเข้ามาเสริมรสเค็มให้เจือเผ็ดเท่านั้น เหมือนกับน้ำปลาพริกที่ใช้พริกป่นแทนพริกขี้หนู ก็เรียกกันว่าน้ำปลาพริกป่น ไม่มีใครเรียกว่าพริกป่นน้ำปลา
จากทั้ง 2 ข้อมูลคงระบุได้อย่างชัดเจนว่าควรเรียกว่าอย่างไรตามหลักภาษาไทย ทว่าใครจะเรียกพริกน้ำปลาก็ไม่ผิด เพราะโดยรวมแล้วก็สามารถสื่อความหมายให้คนฟังเข้าใจได้เช่นกัน ทั้งยังอร่อยเหมือนกันอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- “ข้าวราดแกง” ทำไมคนไทยนิยมเรียกคำนี้ แทนที่จะเป็น “แกงราดข้าว”
- ส่อง “อาหารไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา” ต่างชาติว่า คนไทยอยู่กินดีจนขี้เกียจ
- รู้หรือไม่? “ทะแม่ง” คำฮิตติดปากคนไทยมีที่มาจากชื่อกะปิมอญ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
โชติศรี ท่าราบ. หมอเพลงบรรเลงภาษา 90 ปี โชติศรี ท่าราบ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2553
https://www.sentangsedtee.com/big-idea/article_245689
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กันยายน 2567