“ข้าวราดแกง” ทำไมคนไทยนิยมเรียกคำนี้ แทนที่จะเป็น “แกงราดข้าว”

ข้าวราดแกง
ภาพข้าวราดแกง (ภาพจาก : มติชนอคาเดมี)

“ข้าวราดแกง” เป็นเมนูที่หากินได้ง่ายในไทย ไม่ว่าจะไปทางไหนก็จะต้องเจอกับข้าวหลากหลายเมนูวางเรียงในถาด เราจิ้มชี้อยากกินเมนูนั้นเมนูนี้ได้ตามชอบในราคาสบายกระเป๋า กินคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ เป็นอันว่าฟินสุด ๆ

แต่เมื่อได้พิจารณาจานข้าวตรงหน้า จะเห็นว่าด้านล่างเป็นข้าวสวย ราดด้วยแกงหรือกับแห้ง แต่เราเอง รวมถึงคนทั่วไปมักจะนิยมเรียกว่า “ข้าวราดแกง”

Advertisement

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นไปได้…

ข้าวราดแกงหรือแกงราดข้าว

เรื่องนี้ “โชติศรี ท่าราบ” แพทย์หญิงและนักเขียนเรื่องสั้นเคยพูดถึงไว้ในหนังสือ “‘หมอเพลง’ บรรเลงภาษา 90 ปี โชติศรี ท่าราบ” ว่า… วันหนึ่งได้แวะเวียนไปที่ร้านกาแฟห้องแถว มีบรรยากาศเหมือนกับร้านข้าวราดแกงแถบชนบท จึงหวนถึงคำสั่งข้าวแกงของคนรุ่นใหม่ที่ต่างไปจากเดิม

ภาพร้านข้าวแกง (ภาพจาก : มติชน)

ในอดีตจะพูดว่าขอข้าวแกงจาน ลามไปถึงแกงไก่ แกงเนื้อ แกงปลาดุก หากพูดให้ยาวหน่อยก็จะเอ่ยว่า “เอาข้าวราดแกงไก่จาน” ซึ่งปัจจุบันมีคนสมัยใหม่หลายกลุ่มเรียกว่า “แกงราดข้าว”

“แต่สมัยใหม่ เขาไม่สั่งยังงี้หรอก

เขาสั่งว่า แกงราดข้าว แกงไก่นะ พริกน้ำปลามาด้วย

ทำไมมันกลับตาลปัตรไปได้ยังงี้ ก็ไม่รู้ซี

ข้าวแกง หมายถึง กินข้าวเป็นอาหารหลัก และข้าวมีปริมาณมากกว่าแกง แกงเป็นกับข้าวคือของที่กินกับข้าว ช่วยให้มีรสชาติเอร็ดอร่อยจนซู้ดปาก

ถ้าใช้สำนวนของวิก ๐๗ ข้าวก็คือตัวชูโรง แกงคือประทะชูโรง ช่วยเพิ่ม ช่วยเติมสีสัน ดุเด็ดเผ็ดมันให้ตัวชูโรงมีรสชาติเข้มขึ้น

แต่คนร่วมสมัย เขากลับไม่สนใจตัว (อาหาร) หลัก กลับไปให้ความสำคัญแก่ตัวรอง เขาถึงเรียกว่าแกงราดข้าว

หรือเขาจะไม่เข้าใจว่า ข้าวราดแกง ก็คือข้าวราด (ด้วย) แกง”

เป็นอันเข้าที่มาของคำว่า “ข้าวราดแกง” แทนที่จะเป็นแกงราดข้าวตามรูปแบบที่เราเห็นในจานอาหาร 

โชติศรียังพูดถึงประเด็นน้ำปลาพริก-พริกน้ำปลาไว้ในเล่มนี้อีกด้วย แต่ก็คงต้องขออุบไว้ก่อน ไว้จะมาเล่าเรื่องราวให้อ่านในบทความหน้า…

ภาพข้าวราดแกง (ภาพจาก : มติชนอคาเดมี)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

โชติศรี ท่าราบ. หมอเพลงบรรเลงภาษา 90 ปี โชติศรี ท่าราบ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2553.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2567