ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
รู้หรือไม่? โลกของเราไม่ได้มีแค่ทะเลสีฟ้าหรือเขียว แต่ยังมี “ทะเล 4 สี” คือทะเลที่มีชื่อสากลเป็น “สี” อยู่ 4 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ทะเลดำ ทะเลแดง ทะเลขาว และทะเลเหลือง ทะเลเหล่านี้อยู่ที่ไหนกันบ้าง และทำไมได้ชื่อนี้?
ทะเล 4 สี
ทะเลดำ (Black Sea)
ทะเลดำเป็นทะเลที่อยู่ระหว่างทวีปยุโรปฝั่งตะวันออกกับดินแดนคอเคซัสของทวีปเอเชีย ทางใต้คือเอเชียน้อย (Asia Minor) หรืออนาโตเลีย (ตุรกี) ถือเป็นทะเลที่แยกยุโรปกับเอเชียออกจากกัน มีพื้นที่ 436,400 ตารางกิโลเมตร ระดับความลึกสูงสุดที่ 2.2 กิโลเมตร
สมัยโบราณ ชาวกรีกเคยเรียกทะเลดำว่า “Inhospitable Sea” หรือทะเลไร้อำนวย เพราะเป็นผืนน้ำที่ยากต่อการเดินเรือ ทั้งมีชนพื้นเมืองที่ดุร้าย ไม่ค่อยเป็นมิตรกับพวกเขา ต่อมาเมื่อชาวกรีกเริ่มตั้งรกรากเป็นนิคมกรีกโพ้นทะเลตามแนวชายฝั่งทะเลดำ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “Hospitable Sea” หรือทะเลไมตรี
ส่วนสาเหตุที่เรียก ทะเลดำ เพราะระดับน้ำตั้งแต่ความลึก 150 เมตรลงไปจะเต็มไปด้วยแบคทีเรียกลุ่มซัลเฟอร์ (Sulfur bacteria) และ “ก๊าซไข่เน่า” หรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulfide) พืชและสัตว์ หรือวัตถุจากผิวน้ำที่จมลงสู่ก้นทะเล พวกมันจะถูกปกคลุมและย่อยสลายเป็นตะกอนสีดำ เมื่อเกิดพายุ คลื่นลมจะทำให้ผืนน้ำมีสีเข้มและดูน่ากลัว เป็นที่มาของชื่อ “Black Sea” นั่นเอง
ตะกอนสีดำยังปะปนอยู่กับดินโคลนและทรายตามชายหาดรอบ ๆ พื้นที่ทะเลดำด้วย
ทะเลแดง (Red Sea)
ทะเลแดงอยู่ระหว่างทวีปแอฟริกากับคาบสมุทรอาหรับของทวีปเอเชีย ทางเหนือมีคาบสมุทรไซนายและคลองสุเอซ ที่เชื่อมต่อกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนทางใต้เชื่อมกับมหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ 438,000 ตารางกิโลเมตร มีจุดที่ลึกที่สุด 3.04 กิโลเมตร
ชื่อของทะเลแดงแปลตรงตัวจากภาษากรีกโบราณว่า “Erythra Thalassa” หรือทะเลเอริเธียน (แปลว่า “ทะเลสีแดง” นั่นแหละ) อย่างไรก็ตาม มีภาษาในยุโรปเท่านั้นที่เรียกทะเลแดงตามชาวกรีก เพราะในภาษาฮีบรู เรียกทะเลแห่งนี้ว่า Yam Suph หรือ “ทะเลแห่งกก” (Sea of Reeds) จากดงต้นกกบริเวณอ่าวสุเอซ และ “ทะเลแห่งฮาห์” (Sea of Hah) เทพแห่งน้ำหลากของอียิปต์โบราณ
สมมติฐานเกี่ยวกับที่มาของชื่อทะเลแดงคือ ทะเลแดงเต็มไปด้วย “สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน” หรือไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อยที่เรียกว่า Trichodesmium erythraeum ที่สามารถเปลี่ยนน้ำทะเลที่ปกติมักมีสีน้ำเงินอมเขียว ให้กลายเป็นสีน้ำตาลอมแดง (Reddish Brown) ได้
ทะเลขาว (White Sea)
ทะเลขาวอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศรัสเซีย เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอาร์กติก ล้อมรอบด้วยภูมิภาคคาเรเลียทางตะวันตก คาบสมุทรคานินทางตะวันออก และคาบสมุทรโคลาทางเหนือ ทั้งหมดคือพื้นที่ของรัสเซีย ทะเลขาวจึงถือเป็นน่านน้ำภายในของรัสเซีย มีพื้นที่ 90,000 ตารางกิโลเมตร ความลึกสูงสุดอยู่ที่ 340 เมตร
ทุก ๆ ปีทะเลขาวจะถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งเป็นเวลา 6-7 เดือน เป็นที่มาของชื่อทะเลแห่งนี้
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15-17 ทะเลขาวเป็นเส้นทางหลักการค้าทางทะเลของรัสเซีย ก่อนจะลดบทบาทลงหลังการสร้างกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อ ค.ศ. 1703 ซึ่งเชื่อมรัสเซียกับยุโรปตะวันตกผ่านทะเลบอลติก เพื่อตัดปัญหาข้อจำกัดของทะเลขาว ที่ส่วนใหญ่ของปีมักปกคลุมไปด้วยผืนน้ำแข็ง
ทะเลเหลือง (Yellow Sea)
ทะเลเหลือง หรือทะเลหวาง อยู่ทางตอนเหนือของทะเลจีนตะวันออก อยู่ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ทางตะวันตกกับคาบสมุทรเกาหลีทางตะวันออก และเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่ 380,000 ตารางกิโลเมตร ระดับความลึกสูงสุดที่ 152 เมตร
ที่มาของชื่อทะเลเหลืองนั้น มาจาก “ตะกอนดิน” สีเหลือง จากแม่น้ำฮวงโห (黄河) หรือแม่น้ำเหลือง (ชื่อแม่น้ำมาจากสาเหตุเดียวกันกับชื่อทะเล) ทำให้สีของน้ำทะเลเป็นสีเหลือง โดยตะกอนดินและทรายเหล่านี้ถูกพัดพามาจากที่ราบทางตอนบนและทิศตะวันตกของจีน
นอกจากนี้ ตะกอนที่พัดพามากับน้ำยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุ เหมาะกับการเพาะปลูกในสองฟากฝั่งแม่น้ำ แต่แม่น้ำเหลืองซึ่งมีความเชี่ยวกรากสูงมักสร้างปัญหาน้ำกัดเซาะทำลายตลิ่ง ไปจนถึงภัยพิบัติอุทกภัยที่สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ชุมชนริมน้ำอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ได้สมญานามว่า “แม่น้ำวิปโยค” หรือเปยจู้เหอ (悲劇河)
เหล่านี้จึงเป็นที่ตั้งและที่มาของชื่อทะเลทั้ง 4 ที่มีชื่อเป็น “สี” จากทั่วทุกมุมโลก
อ่านเพิ่มเติม :
- เหตุใด “เอเชียกลาง” เต็มไปด้วยประเทศชื่อลงท้ายด้วย “-สถาน” ?
- ยุคกรีกโบราณที่เชื่อว่าโลกแบน ไม่มี “เอเชียอาคเนย์” บนแผนที่โลก
- “เกาะบอร์เนียว” เกาะใหญ่อันดับ 3 ของโลก ที่ไม่ได้มีแค่อินโดนีเซีย แล้วมีประเทศไหนอีกบ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อจชล., สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. (2555). ทะเลและมหาสมุทร. กรุงเทพฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี.
Irina Dreyvitser, Smithsonian Institution. Why are The Seas named Black, White, and Yellow?. Retrieved September 19, 2024. (Online)
Encyclopedia Britannica. Oceans & Seas Encyclopedia Articles. Retrieved September 19, 2024. (Online)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2567