เหตุใด “เอเชียกลาง” เต็มไปด้วยประเทศชื่อลงท้ายด้วย “-สถาน” ?

แผนที่ เอเชียกลาง ประเทศ สถาน
แผนที่เอเชียกลาง (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ภูมิภาค “เอเชียกลาง” ดินแดนตอนในของทวีปเอเชีย ไม่มีทางออกสู่มหาสมุทร หากกางแผนที่ออกดูจะพบว่า เอเชียกลาง เป็นดินแดนปิดที่อยู่ระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย และมีจุดเด่นประการหนึ่งที่ทำให้นักเรียนภูมิศาสตร์จดจำดินแดนนี้ได้แม่นคือ ชื่อประเทศที่มักลงท้ายด้วย “-สถาน” ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และคีร์กีซสถาน

เหตุใดเป็นเช่นนั้น?

ไมเคิล ไรท์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ สังคม ไทยคดีศึกษา อธิบายว่า แท้จริงแล้วชื่อประเทศเหล่านี้เป็นมรดกจากภาษาเปอร์เซีย (อิหร่าน) ซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน ญาติของภาษาสันสกฤต รวมถึงภาษาในตะวันตก

คำว่า “สฺตาน” (Stan) ในภาษาเปอร์เซียตรงกับ “สฺถาน” (Sthan) ในภาษาสันสกฤต และตรงกับภาษาอังกฤษหลายคำ เช่น Stand (ยืน) และ Station (ที่ยืนหรือสถานี)

คำเหล่านี้ล้วนมาจากรากศัพท์เดิมว่า Sta อันหมายถึง “ยืน”, “อยู่”, “นิ่ง” ก่อนจะพัฒนาไปสู่ความหมายอื่น ๆ ตั้งแต่ ที่ยืน สถานที่ ไปจนถึง “ประเทศ”

ในสมัยโบราณ ชาวเปอร์เซียเคยขยายอำนาจมาจากที่ราบสูงอิหร่านทางตะวันตก สู่พื้นที่เอเชียกลาง รวมถึงภาคเหนือของอินเดีย ทำให้ภาษาเปอร์เซียแพร่กระจายและกลายเป็นภาษาราชการทั่วดินแดนใต้อาณัติของพวกเขา

สายธารแห่งประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียกลางขับเคลื่อนด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย หลัก ๆ คือชนชาวเตอร์กิก (Turkic people) หรือพวกเติร์ก ที่มีชาติพันธุ์แยกย่อยออกมาอีกมากมาย พวกเขาทั้งสามารถสถาปนารัฐของตนเอง ทั้งถูกปกครองโดยมหาอำนาจ กระทั่งสหภาพโซเวียตสลายตัว สาธารณรัฐทั้ง 5 ในเอเชียกลางที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียตก็ได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1991

กลายเป็นประเทศคาซัคสถาน (Kazakhstan) อุซเบกิสถาน (Uzbekistan) ทาจิกิสถาน (Tajikistan) เติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan) และคีร์กีซสถาน (Kyrgyzstan)

ชื่อประเทศเหล่านี้ มาจากชื่อชนชาติกลุ่มใหญ่ทั้ง 5 ชาติพันธุ์ในเอเชียกลาง ได้แก่ ชาวคาซัค (Kazakh) ชาวอุซเบก (Uzbek) ชาวทาจิก (Tajik) ชาวเติร์กเมน (Turkmen) และชาวคีร์กีซ (Kyrgyz) คำว่า “สถาน” (Stan) ที่ลงท้ายชื่อประเทศ มีเพื่อบอกอัตลักษณ์ทางชนชาติบนดินแดนของตนเอง เช่น คาซัคสถาน ก็คือ “ประเทศของชาวคาซัค” นั่นเอง

หรืออย่าง อัฟกานิสถาน ประเทศทางใต้ของภูมิเอเชียกลาง ก็ได้รับอิทธิพลทางภาษาจากเปอร์เซียเช่นกัน จึงมีชื่อประเทศหมายถึง “ประเทศของชาวอัฟกัน” หลักการนี้ยังเป็นที่มาของรากศัพท์ชื่อประเทศอินเดียด้วย เพราะชาวเปอร์เซียเป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า “ฮินดูสถาน” หมายถึง ประเทศของชนแห่งลุ่มแม่น้ำอินดัส (สินธุ) ก่อนจะเพี้ยนเป็น “อินเดีย” (แต่ไม่มีคำว่า ‘สถาน’) ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ “ปากีสถาน” คือข้อยกเว้นสำหรับหลักการข้างต้น เพราะเป็นชื่อจากตัว “อักษรแรก” ของชื่อแคว้นในประเทศ ได้แก่ คือ ปัญจาบ (Punjab) อัฟกาเนีย (Afghania) แคชเมียร์ (Kashmir) อิสลามาบาด (Islamabad) สินธ์ (Sindh) และ “คำสุดท้าย” ของแคว้นบาลูจิสถาน (Baluchistan) รวมกันเป็น “Pakistan”

อย่างไรก็ตาม คำว่า “ปากีสถาน” ยังมีความหมายว่า “ดินแดนของชนบริสุทธิ์” ในภาษาอูรดู ภาษาราชการของปากีสถาน ซึ่งเป็นญาติของตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียนอีกนั่นแหละ…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไมเคิล ไรท์. ชื่อประเทศ “อัฟกานิสถาน”. ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2544.

Encyclopedia Britannica. Central Asia. Retrieved November 21, 2023. From https://www.britannica.com/place/Central-Asia


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2566