ยุคกรีกโบราณที่เชื่อว่าโลกแบน ไม่มี “เอเชียอาคเนย์” บนแผนที่โลก

แผนที่โลกของมาร์ติน วาลด์ซีมึลเลอร์

ทัศนะของชาวกรีกโบราณที่เชื่อว่า “โลกแบน” โดยมี “อินเดีย” เป็นดินแดนที่เป็นสุดขอบโลกทางด้านตะวันออก ถัดจากนั้นก็เป็นมหาสมุทรที่ล้อมแผ่นดิน เอกสารยุคแรกของกรีกโบราณ จึงไม่ปรากฏเรื่องราวของเอเชียอาคเนย์ โดยชาวกรีกโบราณที่อธิบายเกี่ยวกับสัณฐานของโลกและจักรวาล ทั้งมีการจัดทำแผนที่ฉบับแรกที่นำเสนอภาพของ “โลก” คือ อนาสิมันเดอร์ (67-3 ปี ก่อน พ.ศ.)

แต่น่าเสียดายว่า แผนที่ฉบับดังกล่าวสูญหายไป จึงได้แต่อาศัยข้อมูลที่เฮโรโดตุส (พ.ศ. 59-118) ผู้ที่เคยเห็นแผนที่ฉบับดังกล่าวเขียนพรรณาไว้ซึ่งสรุปได้ว่า โลกมีสัณฐานกลมและแบนดั่งหน้ากลอง ขอบนอกเป็นมหาสมุทรที่ไหลดั่งแม่น้ำล้อมกรอบแผ่นดิน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอยู่กึ่งกลางของแผนที่เสมือนหนึ่งเป็นศูนย์กลางของโลก แผ่นดินถูกแบ่งเป็น 2 ทวีป คือ “อุตรทวีป” (ทวีปเหนือ) เรียกว่ายุโรปา (Europa) และ “ทักษิณ” (ทวีปใต้) เรียกว่าอาสิอา (Asia)

อนาสิมันเดอร์เห็นว่าพื้นที่ของโลกนี้แบ่งออกเป็นเขตที่เรียกว่า “มนุษยภูมิ” คือเขตที่อยู่ของมนุษย์ ที่ว่าคือ ดินแดนชายฝั่งโดยรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปัจจุบันคือพื้นที่เป็น สเปน, อิตาลี, กรีซ, เอเชียไมเนอร์, อียิปต์, ลิเบีย, ปาเลสไตน์, อัสซีเรีย และอาระเบีย กับเขตที่เรียกว่า “อมนุษยภูมิ” คือเขตที่อยู่ของมนุษย์ประหลาด ได้แก่ ดินแดนตอนเหนือของ “มนุษยภูมิ” เป็นแดนหนาวเย็นและเป็นที่ถิ่นที่อยู่ของอมนุษย์ ส่วนดินแดนทางใต้ของ “มนุษยภูมิ” เป็นแดนที่ร้อน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของคนผิวดำ

หลังจากสมัยเฮโรโดตุส การสำรวจทวีปอาสิอา (เอเชีย) เริ่มขยายออกไป โดยในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (พ.ศ. 187-220) อาณาจักรมาเซโดเนียของพระองค์ขยายเขตปกครองออกไปอย่างกว้างขวาง จากประเทศกรีซไปจนจดลุ่มแม่น้ำสินธุ หรือชื่อที่ปรากฏในแผนที่ว่าอินดุส (Indus) ต่อมาพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ อดีตแม่ทัพของพระองค์ที่ชื่อ เซลิวคุส นิกาเตอร์ สร้างอาณาจักรของตนเองขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสินธุ

เซลิวคุสตระหนักว่าอาณาจักรโมริยะ ซึ่งเป็นอาณาจักรใหม่ของชาวอินเดีย มีอำนาจปกครองดินแดนจากแม่น้ำคงคาจรดฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสินธุ เป็นอาณาจักรที่แข็งแกร่ง จึงส่งทูตเชื่อมสัมพันธ์ นั่นนับเป็นครั้งแรกที่ชาวกรีกโบราณไปเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ และเป็นการขยายภูมิความรู้ออกไป จากเดิมที่สุดเขตแดนตะวันออกคือแม่น้ำสินธุเป็นแม่น้ำคงคาแทน

ซึ่งทำให้ชาวกรีกเชื่อว่า อินเดียคือบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปอาสิอา โดยแบ่งดินแดนออกเป็น 2 เขต คือ “ดินแดนในลุ่มแม่น้ำคงคา” หมายถึงประเทศอินเดียในปัจจุบัน กินพื้นที่ถึงฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำสินธุ จดฝั่งตะวันตกลุ่มน้ำคงคา กับ “ดินแดนนอกลุ่มน้ำคงคา” หมายถึงดินแดนฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำคงคาเปนต้นไป ซึ่งเอเชียอาคเนย์ในการรับรู้ของชาวกรีกโบราณก็อยู่ใน “ดินแดนนอกลุ่มน้ำคงคา”

ต่อมาเมื่ออาณาจักรโรมันเรืองอำนาจ มีบันทึกว่า ใน พ.ศ. 517 จักรพรรดิเอากุสตุสทรงต้อนรับราชทูตที่มาจากราชสำนักศรีลังกา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวยุโรปกับอินเดียมีการติดต่อกันอยู่โดยตลอด เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการเดินทางจากโรมไปยังแม่น้ำคงคา มีนักเดินทางหลายคนบันทึกไว้ หากงานเหล่านี้ก็ยังไม่ได้กล่าวถึงเอเชียอาคเนย์อย่างจริงจัง

ดังตัวอย่างในงานของปอมโปนิอุส กล่าวถึงแหลมที่ชื่อว่า ตาบิส (Tabis) ซึ่งเป็นแหลมที่อยู่ปลายสุดตะวันออกของทวีปอาสิอา และยังมีแหลมที่อยู่ทางใต้สุดชื่อตามุส (Tamus) นอกจากนี้ก็มีเกาะ 2 แห่ง คือ เกาะทอง อยู่ตรงข้ามแหลมตามุส และเกาะเงินอยู่ตรงข้ามปากแม่น้ำคงคา

ปลายพุทธศตวรรษที่ 7 ปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวอเล็กซานเดรีย ประมวลความรู้เกี่ยวกับแผนที่โลกจากบันทึกต่างๆ และได้ระบุขอบเขตและเขตแดนต่างๆ ในเอเชียด้วยภาษาละติน และภาษาท้องถิ่นที่ถูกเปลี่ยนสำเนียงเป็นละตินไป เช่น สุวรรณภูมิ (Aurea Regio) รัชตภูมิ (Argentea Regio) แหลมทอง (Aurea Chersonesus) แดนเลสโตรุม (Lestorum) ซึ่งเป็นเหตุให้ปัจจุบันชื่อเมืองและลักษณะภูมิศาสตร์ในบริเวณดังกล่าว ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ ว่าหมายถึงบริเวณใดในเอกสารทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ร่วมสมัยกัน เช่น เมืองโบราณอู่ทอง, จามปา, ฝูหนาน และเจินล่า

รูปแบบแผนที่ปโตเลมีได้เป็นแบบอย่างให้นักภูมิศาสตร์ในยุคกลางยึดถือเป็นคัมภีร์คัดลอกต่อๆ กันจนถึงราวต้นคริสต์ศตวรรที่ 16 (ราว ค.ศ. 1501-1530) หรือกลางพุทธศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2044-2075) ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการศึกษาที่คัดลอกกันมามากกว่า 1,300 ปี จนกระทั่งเข้าสู่ยุคการแสวงหาอาณานิคม เทคโนโลยีในการเดินเรือได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องจักรวาลวิทยา, ดาราศาสตร์, เข็มทิศ ฯลฯ ส่งเสริมให้การทำแผนที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

แผนที่โลกรุ่นแรกที่ส่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับรูปร่างของเอเชียอาคเนย์ ที่สำคัญ เช่น แผนที่โลกของโยฮานน์ รุยช์, แผนที่โลกของมาร์ติน วาลด์ซีมึลเลอร์, แผนที่โลกของโลเรนซ์ ฟรีส, แผนที่โลกของเซบาสเตียน มึนชเตอร์

หลังจากคริสตศตวรรษที่ 16 หรือกลางพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา การทำแผนที่เกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์โดยชาวยุโรปก็รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ในการแสวงหาอาณานิคม

 


ข้อมูลจาก

ตรงใจ หุตางกูร. “แผนที่โบราณกับการรับรู้ของชาวยุโรปเกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์ ก่อน ค.ศ. 1600” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2564