“ลำไย” 5 ต้นแรกของไทยอยู่ที่ไหน ใครได้ปลูกเป็นคนแรก ๆ

ลำไย ลำไย 5 ต้นแรก
ลำไย (ภาพ : unsplash)

“ลำไย” ถือเป็นหนึ่งในไม้ผลเศรษฐกิจของคนไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือที่มีการปลูกลำไยจนมีการส่งออกและกลายมาเป็นอุตสาหกรรมอันยิ่งใหญ่ของประเทศ 

แต่สงสัยหรือไม่ว่า ลำไย 5 ต้นแรกที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างไร อยู่ที่ไหน?

Advertisement
ลำไย (ภาพ : pixabay)

ลำไย 5 ต้นแรกในไทยอยู่ที่ไหน?

การเข้ามาของลำไยในประเทศไทยเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยกลุ่มชาวจีนได้นำลำไยพันธุ์ดีจำนวน 5 ต้น มาถวายแก่เจ้าดารารัศมี พระชายาในรัชกาลที่ 5 

หลังจากที่พระองค์ได้รับลำไยมา ก็ทรงนำมาปลูกที่กรุงเทพฯ จำนวน 2 ต้น คาดว่าเป็นลำไยในตรอกจันทร์ เนื่องจากต้นลำไยที่นั่นมีอายุค่อนข้างมาก

ขณะที่อีก 3 ต้นนั้น เจ้าดารารัศมีทรงมอบแก่ “เจ้าน้อยคำตั๋น ณ เชียงใหม่” ผู้เป็นพระอนุชา และปลูกไว้ที่บริเวณบ้านน้ำโท้ง ต. สบแม่ข่า อ. หางดง จ. เชียงใหม่

การปลูกลำไยได้แพร่ขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเชียงใหม่และลำพูน ในช่วงหลัง พ.ศ. 2439 คาดว่าเริ่มมีการค้าขายลำไยขึ้นแล้ว อย่างในเชียงใหม่ก็มีการค้าขายลำไยที่ตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย 

ใน พ.ศ. 2492 มีหลักฐานปรากฏการเฟื่องฟูของลำไยในหนังสือเรื่องจาวกาด เล่ม 1 ที่พูดว่า “สมัยนั้น หนูกบจำได้ว่าผลไม้ในตลาดมิได้มีหลากหลายเท่าสมัยนี้ ที่มีมากชุกชุมเห็นจะเป็นลำไยตามฤดูกาล” เป็นการยืนยันว่าลำไยเป็นหนึ่งในผลไม้ประจำถิ่นภาคเหนือที่แท้จริง

เวลาล่วงเลยถึงทศวรรษที่ 2500 การปลูกและค้าขายลำไยก็เติบโตมากยิ่งขึ้น แม้ว่าช่วงแรก (ประมาณ พ.ศ. 2439-2510) จะเป็นแค่เพียงการค้าขายในประเทศ แต่หลังจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ลำไยก็ได้กลายเป็นผลผลิตส่งออกของประเทศ

ปัจจุบันภาคเหนือก็ยังครองตำแหน่งพื้นที่เพาะปลูกและส่งออกลำไยอยู่ โดยส่งออกทั้งในและนอกประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศมากมายมหาศาลอย่างต่อเนื่อง

ลำไย (ภาพ : pixabay)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

มานิตา ปุกแก้ว. “ยุทองของลำไยในประวัติศาสตร์ผลไม้ส่งออกของไทยตั้ง” วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน), 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 สิงหาคม 2567