“นันโทปนันทสูตรคำหลวง” ผลงานอันซีน “เจ้าฟ้ากุ้ง” ที่ยูเนสโกยกเป็น “ความทรงจำแห่งโลก”

นันโทปนันทสูตรคำหลวง ผลงาน เจ้าฟ้ากุ้ง ยูเนสโก ยก เป็น ความทรงจำแห่งโลก
“นันโทปนันทสูตรคำหลวง” ผลงานอันซีน “เจ้าฟ้ากุ้ง” ที่ยูเนสโกยกเป็น “ความทรงจำแห่งโลก”

“เจ้าฟ้ากุ้ง” ขึ้นชื่อว่าเป็นกวีเอกแห่งกรุงศรีอยุธยา มีผลงานที่คนยุคนี้คุ้นชื่อกันก็เช่น บทเห่เรือ 4 บท, กาพย์ห่อโคลง, นิราศธารโศก แต่ “นันโทปนันทสูตรคำหลวง” อาจเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเป็นผลงานของพระองค์ และอาจไม่รู้ว่ามีบทพระนิพนธ์เรื่องนี้อยู่ด้วยซ้ำ แต่เรื่องนี้มีคุณค่าอย่างยิ่ง ถึงขั้นที่ยูเนสโกยกให้เป็น “ความทรงจำแห่งโลก”

“เจ้าฟ้ากุ้ง” ทรงมีพระนามเต็มว่า พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ หรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป เพราะดำรงพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า”

ชีวิต “เจ้าฟ้ากุ้ง” เต็มไปด้วยสีสัน ทั้งการหนีราชภัย เพราะลอบทำร้าย “เจ้าฟ้านเรนทร” หลานรักพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จนต้องหนีราชภัยไปผนวชที่วัดโคกแสง มีพระนามฉายาในสมณเพศว่า “สิริปาโล”

เมื่อเวลาผ่านไปพักใหญ่ กรมหลวงอภัยนุชิต พระมารดาในเจ้าฟ้ากุ้งทรงพระประชวรหนักใกล้สิ้นพระชนม์ ได้กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษแก่เจ้าฟ้ากุ้ง พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ทรงให้อภัย เจ้าฟ้ากุ้งจึงทรงลาผนวชออกมารับใช้พระราชบิดาดังเดิม

แต่ต่อมา การลอบเป็นชู้กับพระสนมพระราชบิดา ก็นำสู่ความตายในที่สุด

เจ้าฟ้ากุ้ง ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์ อย่างเรื่อง “นันโทปนันทสูตรคำหลวง” นั้น ก็ทรงประพันธ์เมื่อ พ.ศ. 2279 ขณะผนวชหนีราชภัย

นันโทปนันทสูตรคำหลวง เป็นวรรณคดีทางพุทธศาสนา ลักษณะต้นฉบับเป็นหนังสือสมุดไทยขาว ปกหน้าปกหลังลงรักปิดทองเขียนลายกนกเครือเถาก้านขด ขนาดกว้าง 13 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตร หนา 6.5 เซนติเมตร มีจำนวนหน้าหนังสือ 190 หน้า แบ่งเป็นหน้าต้น 98 หน้า หน้าปลาย 92 หน้า

วรรณคดีเรื่องนี้ เขียน (ชุบ) ด้วยเส้นอักษร 2 ชนิด ได้แก่ อักษรขอมย่อ ใช้บันทึกภาษาบาลี และอักษรไทยย่อ ใช้บันทึกภาษาไทย มีเส้นสี 3 ชนิด ได้แก่ เส้นทอง เส้นชาด และเส้นหมึกในการบันทึก

เรื่องย่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ อนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐี มาทูลอาราธนาพระพุทธองค์และพระอรหันตสาวก 500 องค์ ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของตน ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารจนสิ้นราตรี

พระองค์ทรงตรวจดูโลกธาตุ ทราบโดยพระญาณว่า พระยานันโทปนันทนาคราช ควรได้รับรสพระธรรม เพราะเคยสร้างกุศลในชาติปางก่อน แต่ยังมีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาแก่พระอานนท์ว่าจะเสด็จไปยังเทวโลก

พระอานนท์และพระสาวกจึงเสด็จตาม เหาะไปเหนือวิมานของพระยานันโทปนันทนาคราช ทำให้พระยานันโทปนันทนาคราชโกรธที่มีผู้เหาะมาเหนือปราสาทของตน ด้วยสำคัญตนว่ามีศักดิ์ใหญ่ จึงจำแลงอิทธิฤทธ์เป็น “นาคราช” พันเขาพระสุเมรุ แผ่พังพานบังโลกธาตุจนมืดมิด เพื่อไม่ให้พระพุทธเจ้าผ่าน

พระสาวกองค์ต่างๆ ทูลขอเป็นผู้ปราบพระยานันโทปนันทนาคราช แต่พระองค์ทรงมอบให้ พระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายเป็นผู้ปราบ พระยานันโทปนันทนาคราชมิอาจสู้ได้ ยอมจำนนละมิจฉาทิฐิ ยอมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

นันโทปนันทสูตรคำหลวง เป็นภาพสะท้อนความรุ่งเรืองของวรรณคดีไทยสมัยอยุธยา สะท้อนความศรัทธาในพุทธศาสนา และมีบันทึกจดหมายเหตุแสดงภูมิปัญญาในการเตรียมต้นฉบับของช่างเขียนในสมัยอยุธยาก่อนบันทึกข้อความ โดยบอกนามเจ้าของสูตรไว้ด้วย ซึ่งหลักฐานนี้ไม่เคยปรากฏอยู่ในต้นฉบับวรรณกรรมเรื่องใดของสังคมไทยทั้งสิ้น

ปัจจุบัน หนังสือสมุดไทยเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง ได้รับการประกาศจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” เป็น “ความทรงจำแห่งโลก” ของประเทศไทยในระดับภูมิภาค

หมายเหตุ : ใครอยากเห็นหนังสือสมุดไทยเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวงฉบับจริง สามารถไปชมได้ใน นิทรรศการชุดพิเศษ “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” โดยกรมศิลปากร ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์-อังคาร)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สิทธา พินิจภูวดล. “กวีเอกสมัยอยุธยา เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร”. วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 32 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย. 2550. http://legacy.orst.go.th/wp-content/uploads/royin-ebook/336/FileUpload/1331_4305.pdf

“นันโทปนันทสูตรคำหลวง”. https://www.nlt.go.th/news/42

คำบรรยาย ““นันโทปนันทสูตรคำหลวง”. นิทรรศการชุดพิเศษ “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2567