ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นที่ทราบกันดีว่า คนอินเดีย ที่เป็น “ฮินดู” มีข้อห้ามเรื่อง “เนื้อวัว” คือ ไม่ฆ่า ไม่กิน เพราะเป็นบาปใหญ่ (ปาตกะ) สาเหตุเนื่องมาจาก “วัว” ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ความรุนแรงที่เกิดกับวัวจึงเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับชาวฮินดู ถึงขั้นมีการตราเป็นกฎหมายห้ามฆ่าวัว
เราจึงเห็นวัวเดินเพ่นพ่านไปทั่วอย่างเสรีในชุมชนหรือเมืองต่าง ๆ ในอินเดีย ประหนึ่งว่าพวกมันเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แถมดูมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ แต่ทราบหรือไม่ว่า ยังมีชาวฮินดูบางส่วนที่กินวัวกันเป็นปกติอยู่ในอินเดียด้วย
ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้เชี่ยวชาญปรัชญาอินเดียและศาสนาฮินดู เล่าว่า ชาวฮินดูที่กิน “เนื้อวัว” อยู่ใน รัฐเกรละ (Kerala) ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของอินเดีย เป็นรัฐเดียวที่อนุญาตให้ฆ่าวัวได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับชาวเกรละ การกินเนื้อวัวไม่เพียงแต่ไม่ผิดหลักศาสนาหรือความเชื่อ แต่เป็นวิถีของพวกเขามานานแล้ว ทั้งที่วัฒนธรรมฮินดูในรัฐเกรละเองก็เหนียวแน่นไม่น้อยกว่ารัฐอื่นในอินเดีย (ยกเว้นการกินเนื้อวัว) ซึ่งรัฐบาลกลางไม่อยากเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการกับธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวด้วย เพราะรัฐเกรละปกครองด้วยระบบสังคมนิยมและเป็นฆราวาสนิยม (Secularism – ปกครองโดยไม่อิงหลักศาสนา) อย่างเข้มข้น
นอกจากรัฐเกรละแล้ว เกือบทุกรัฐในอินเดียล้วนมีกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามฆ่าวัว แต่ความเข้มงวดหรือความหนักเบาของโทษจะแตกต่างกันไป มีทั้งห้ามเด็ดขาดและผ่อนปรนสำหรับชุมชนมุสลิม
อันที่จริง ชาวฮินดูเป็นพวกที่บริโภคเนื้อสัตว์กันน้อยมากอยู่แล้ว เพราะประชากรผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในอินเดียกว่า 70% เป็นมังสวิรัติ โดยเฉพาะพวกวรรณะสูง ๆ พวกเขาจะกินแต่ถั่ว งา นม เนย ส่วนคนที่กินเนื้อสัตว์จะกินจำพวกปลา ไก่ และแกะ แม้แต่เนื้อหมูก็ไม่เป็นที่นิยม
เหตุผลที่ชาวฮินดูไม่ค่อยกินหมูก็คล้าย ๆ กับศาสนาอิสลาม คือเรื่องความสะอาด ตามที่ คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ระบุว่า ไม่ควรกินหมูบ้าน เพราะมันสกปรก แต่ไม่ห้ามกินหมูป่า กระทั่งศาสนาอิสลามเข้ามาในอินเดีย ความนิยมกินหมูยิ่งลดน้อยลง จนแทบกลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับชาวฮินดูไปด้วย
อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานว่า แต่เดิมชาวฮินดูไม่ได้เป็นมังสวิรัติกันขนาดนี้ พวกเขาเคยกินเนื้อสัตว์กันเป็นปกติในทุกวรรณะ มีการฆ่าวัวเพื่อบูชายัญแด่เทพเจ้าด้วยซ้ำ คัมภีร์ฤคเวทระบุว่า ชาวอารยันฆ่าและกินวัว และเทพบางองค์ เช่น พระอินทร์ โปรดปรานเนื้อวัวมาก
คัมภีร์บางเล่มยังบอกให้เจ้าบ้าน “ล้มวัว” เมื่อมีแขกมาเยือนในพิธีสำคัญด้วย รวมถึงแนะนำให้ปรุงเนื้อวัวกินเป็นยารักษาโรคก็มี
ต่อมาชาวฮินดูจะค่อย ๆ สมาทานวิถีมังสวิรัติอย่างแพร่หลาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลของศาสนาพุทธและเชนที่เน้นอหิงสากับเมตตาธรรม พราหมณ์-ฮินดู จึงปรับตัวและถือคติดังกล่าวตาม เพื่อแสดงออกถึงความมีเมตตาธรรมเช่นเดียวกัน ชาวฮินดูจึงปฏิเสธเนื้อสัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ เพื่อแสดงออกถึงความสูงส่งของตน
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมชาวฮินดูจึงมีข้อห้ามเรื่องการกินเนื้อวัวอย่างจริงจังจากเทวตำนานหรือการเป็นเทพพาหนะของพระอิศวร เพราะขนาดเนื้อสัตว์ทั่ว ๆ ไปพวกเขายังไม่ค่อยจะแตะกันเลย!
อ่านเพิ่มเติม :
- กระสุนชโลม “น้ำมันหมู-น้ำมันวัว” หนึ่งในต้นเหตุ “กบฏอินเดีย” ต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษ
- ไขปัญหา “พระอินทร์” จากเทพเจ้า-แม่ทัพสวรรค์ของชนเผ่าอารยัน สู่ความเสื่อมถอยในอินเดีย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ใยระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2567