“หนอนมรณะมองโกเลีย” หนอนทรายยักษ์ในตำนานแห่งทะเลทรายโกบี

ใครที่ดูภาพยนตร์เรื่อง Dune ทั้งพาร์ท 1 และพาร์ท 2 ต้องคุ้นหน้า “ชาไอ-ฮูลูด” (Shai-Hulud) หนอนทรายยักษ์แห่งดาวอาร์ราคีส ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตเครื่องเทศอย่าง “สไปซ์” สารที่มีมูลค่าและทำให้ผู้ครอบครองมีอำนาจสูงสุดในจักรวาล ส่วนบนโลกใบนี้ แม้ไม่มี “หนอนยักษ์” ตัวยาวนับร้อยๆ เมตรเหมือนในภาพยนตร์ แต่ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหนอนยักษ์ที่เรียกกันว่า “หนอนมรณะมองโกเลีย” ทะเลทรายโกบี

มีตำนานเล่าขานถึง หนอนมรณะมองโกเลีย (Mongolian Death Worm) สัตว์ประหลาดแห่งทะเลทรายโกบี ซึ่ง “ทะเลทรายโกบี” กินพื้นที่รอยต่อมองโกเลียตอนใต้และตอนเหนือของจีน รวมแล้วกว่า 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร

ในภาษามองโกล “โกบี” (gobi) แปลว่า พื้นที่แล้งน้ำ เพราะฉะนั้นจึงสะท้อนลักษณะภูมิประเทศของที่นี่ได้เป็นอย่างดี ส่วนสภาพภูมิอากาศก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจนในแต่ละฤดูกาล อย่างเดือนมกราคม อุณหภูมิลดต่ำลงอยู่ที่ -40 องศาเซลเซียส ส่วนเดือนกรกฎาคม อุณหภูมิพุ่งทะลุปรอทขึ้นไปได้ถึงราว 45 องศาเซลเซียส

ประกอบกับพื้นที่ของทะเลทรายโกบีที่ส่วนใหญ่เป็นหินมากกว่าเป็นทราย ที่นี่จึงไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะทั้งคนหรือสัตว์

หนอนมรณะมองโกเลีย หนอน ทะเลทรายโกบี
ภาพวาดหนอนมรณะมองโกเลีย โดย ปีเตอร์ เดิร์กซ์ (Pieter Dirkx) จิตรกรชาวเบลเยียม (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อย่างไรก็ตาม ในตำนานเล่ากันต่อๆ มาว่า ทะเลทรายโกบี คือ แหล่งที่อยู่ของ “หนอนมรณะมองโกเลีย” อิงจาก คาร์ล ชูเกอร์ (Karl Shuker) นักชีววิทยาชาวอังกฤษ ที่เขียนไว้ในหนังสือ “The Unexplained: An Illustrated Guide to the World’s Paranormal Mysteries” ว่า

“(หนอนมรณะมองโกเลีย) คือหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ดึงดูดมากที่สุดในโลกอย่างหนึ่ง เร้นกายอยู่ท่ามกลางเม็ดทรายในทะเลทรายโกบีตอนใต้… ว่ากันว่ามันดูคล้ายหนอนตัวอ้วนใหญ่ มีความยาวตั้งแต่ 1-3 เมตร ลำตัวสีแดงก่ำ ทั้ง 2 ด้านของลำตัวมีลักษณะคล้ายเดือยแหลม มันใช้เวลาส่วนใหญ่ซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนทะเลทราย ถ้ามีคนพื้นถิ่นเจอมันนอนอยู่บนพื้นผิวทะเลทราย พวกเขาจะหลีกหนีให้ห่างๆ”

ชื่อเรียกขานของ “หนอนยักษ์” แห่งทะเลทรายโกบี ได้มาจากความน่ากลัวของมัน เพราะ หนอนมรณะมองโกเลีย สามารถพ่นพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายกับทุกสิ่งที่พิษนี้สัมผัส หรือหากไม่พ่นพิษ หนอนยักษ์มรณะก็สามารถทำร้ายหรือฆ่าเหยื่อด้วยกระแสไฟฟ้าจากระยะไกลได้

หนอนมรณะมองโกเลียยังถูกกล่าวถึงในหนังสือของ รอย แชปแมน (Roy Chapman) นักบรรพชีวินวิทยา เมื่อ ค.ศ. 1926 อีกด้วย แชปแมนไม่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตนี้จะมีอยู่จริง แต่ “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับมันอยู่ในมองโกเลีย

เมื่อไม่มีใครเคยพบเห็น หรือปรากฏหลักฐานที่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด หนอนมรณะมองโกเลียจึงยังคงเป็นตำนานและเป็นปริศนาแห่งทะเลทรายโกบีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Benjamin Radford. Mongolian Death Worm: Elusive Legend of the Gobi Desert. https://www.livescience.com/46450-mongolian-death-worm.html. Accessed 10 March, 2024.

Alitto, Guy S. and Petrov, Mikhail Platonovich. “Gobi”. Encyclopedia Britannica, 7 Mar. 2024, https://www.britannica.com/place/Gobi. Accessed 10 March 2024.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2567