เรื่องจริงของ “เนสซี” สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ กับการตบตาครั้งใหญ่ของโลก

ภาพจำลอง เพลซิโอซอร์ สัตว์ประหลาด เนสซี ทะเลสาบ ล็อกเนสส์
ภาพจำลองของเพลซิโอซอร์ซึ่งคนในยุคหลังเชื่อกันว่าอาจจะเป็นตัวตนที่แท้จริงของสัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ (ภาพโดย S.W. Williston)

เรื่องจริงของ “เนสซี” สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ กับการตบตาครั้งใหญ่ของโลก

ความเชื่อเรื่องลี้ลับที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อยู่คู่กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาตั้งแต่โบราณกาล เรื่องของสัตว์ประหลาดแห่ง “ล็อกเนสส์” (Loch Ness) ในสกอตแลนด์ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องลี้ลับที่ผู้คนทุกยุคสมัยยังคงพยายามค้นหาหลักฐานตัวตนของสัตว์ประหลาดที่อยู่ในตำนานท้องถิ่น แม้ว่าหลายครั้งที่หลักฐานซึ่งมีผู้หยิบมาอ้างนั้น ปรากฏในภายหลังว่าเป็นเรื่องตบตากันครั้งใหญ่

ก่อนที่ล็อกเนสส์ (Loch Ness) หรือทะเลสาบเนสส์ (Loch แปลว่า ทะเลสาบ) จะโด่งดังในทศวรรษ 1930 และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้สนใจจากทั่วโลก พื้นที่แห่งนี้เงียบสงบ ห่างไกล และเข้าถึงยาก จวบจนมีการตัดถนนในปี 1933 ล็อกเนสส์ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนภายนอก

นอกจากล็อกเนสส์จะเป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสกอตแลนด์แล้ว ยังเป็นทะเลสาบที่มีความลึกลับ น่าค้นหา เพราะเมื่อมองไกลๆ แล้วจะเห็นเป็นผืนน้ำดำมืด บางครั้งมีหมอกปกคลุมพื้นผิวน้ำ รายล้อมด้วยบรรยากาศของต้นสน ปราสาทตระหง่าน และหอคอยที่ถูกทิ้งร้าง ทั้งหมดนี้กลายเป็นองค์ประกอบที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัสกับตำนานเรื่องราวลี้ลับต่างๆ

ถนนที่นำสู่ “เนสซี”

ถนนที่นำพาคนภายนอกมาเยือน ทำให้เรื่องราวของ “เนสซี” หรือ “สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์” สัตว์ที่ไม่สามารถระบุประเภทได้ เริ่มกระจายออกไปปากต่อปากจนไปเข้าหูสื่อท้องถิ่น เนสซีปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ Inverness Courier เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ปี 1933 เมื่อชายหญิงคู่หนึ่งพบเห็นสัตว์ขนาดใหญ่ดำผุดเหนือผิวน้ำของล็อกเนสส์

วันที่ 22 กรกฎาคม ปี 1933 หนุ่มสาวจากตระกูลสไปเซอร์ไปพักผ่อนในไฮแลนด์ส ขณะขับรถอยู่พวกเขาก็เห็น “สัตว์ที่น่าทึ่งที่สุด” เคลื่อนที่ผ่านถนนตัดหน้าไป พวกเขาอ้างว่า สัตว์ตัวนี้สูงประมาณ 4 ฟุต (1.2 เมตร) ยาว 25 ฟุต (8 เมตร) ลักษณะลำคอยาว ตัวกว้างเกือบเท่าถนน (ประมาณ 10-12 ฟุต หรือ 3-3.5 เมตร) ในปากคาบซากสัตว์อยู่ด้วย มันเคลื่อนที่ด้วยการไถลหรือเลื้อยลงไปในทะเลสาบ พวกเขาอ้างว่า ไม่เห็นท่อนล่างของมัน แต่สิ่งที่พบเห็นนั้นน่าจะใกล้เคียงกับมังกรหรือกลุ่มสัตว์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์มากที่สุด

ช่วงข่าวลือเริ่มต้นแพร่สะพัด เอริค ชาไลน์ (Eric Chaline) ผู้เขียนหนังสือ “History’s Greatest Deceptions” หรือ การตบตาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เล่าว่า ผู้คนเริ่มมีทฤษฎีอธิบายที่มาที่ไปของสัตว์ที่ไม่สามารถระบุประเภทอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่รอดจากยุคไดโนเสาร์สูญพันธุ์และอาศัยอย่างโดดเดี่ยว ยักษ์ หรือตัวนิวท์ (Newt) สายพันธุ์ที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบหรือไม่มีบันทึกข้อมูล หรือแม้แต่เป็นงูทะเลยักษ์ ทั้งที่ล็อกเนสส์เป็นทะเลสาบน้ำจืด อยู่ไกลจากทะเล และไม่มีทางระบายไปสู่ทะเลโดยตรง

Inverness Courier รายงานการพบเห็น เนสซี อีกครั้งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ปี 1933 หลังจากนั้นก็มีรายงานการพบเห็นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนเดียวกัน อาร์เธอร์ แกรนท์ (Arthur Grant) อ้างว่า ขณะขี่มอเตอร์ไซค์บนถนนเลียบทะเลสาบในช่วงเช้าตรู่ เขาเกือบชนสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งคำอธิบายของแกรนท์ใกล้เคียงกับสิ่งที่คู่หนุ่มสาวสไปเซอร์เล่า

กระทั่งเดือนพฤศจิกายน ปี 1933 มีหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายปรากฏในหน้าสื่อเป็นครั้งแรก โดย ฮิวจ์ เกรย์ (Hugh Gray) ชาวบ้านในหมู่บ้านละแวกนั้น ที่พบเห็นอะไรบางอย่างกำลังพ่นน้ำ ทำให้เกิดน้ำกระเพื่อมขนาดใหญ่ เขาเล่าว่า โชคดีที่พกกล้องมาด้วย และถ่ายภาพได้ขณะเดินทางกลับจากโบสถ์ (แต่เหตุผลพื้นฐานว่า ทำไมเขาถึงพกกล้องไปโบสถ์ ไม่เคยมีข้อมูลอธิบายมาก่อน) มีเพียงภาพเดียวที่เห็นว่าเหมือนมีบางอย่างอยู่ในน้ำ แต่ความละเอียดของภาพก็ไม่ชัดเจนถึงขั้นสามารถบอกได้ว่าอะไรอยู่ใต้น้ำ

เมื่อข่าวลือแพร่สะพัด ก็มีผู้สนใจสืบค้นที่มาที่ไปของสัตว์ลึกลับนี้ ส่วนใหญ่แล้วได้ทุนสนับสนุนจากสื่ออังกฤษ มีรายงานว่าสื่ออังกฤษตั้งเงินรางวัลสำหรับผู้ที่พบสัตว์ประหลาด สำนักข่าว Daily Mail จ้างพรานนามว่า มาร์มาดุก เวเธอเรลล์ (Marmaduke Wetherell) มาค้นหา

เอริคบรรยายว่า พรานรายนี้ไม่พบสัตว์ประหลาดแต่อย่างใด แต่สิ่งที่พบกลับเป็นรอยเท้าของสัตว์บนชายฝั่งของทะเลสาบบริเวณที่เต็มไปด้วยหิน เชื่อว่าเป็นร่องรอยของสัตว์ขนาดใหญ่ที่กำลังกลับลงน้ำ

Daily Mail อ้างว่า พวกเขาค้นพบหลักฐานกายภาพครั้งแรกของสัตว์ประหลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อส่งหลักฐานไปให้พิพิธภัณฑ์ British Natural History Museum ในลอนดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาของพิพิธภัณฑ์ระบุว่า หลักฐานถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยตัวช่วยเป็นแท่นวางร่มทรงเท้าฮิปโปโปเตมัส อันเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น จากอิทธิพลของชนชั้นกลางในยุควิกตอเรียและสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด สื่อคู่แข่งต่างเยาะเย้ย Daily Mail และนายพรานผู้นี้อย่างหนัก จนเขาต้องเก็บตัวจากสาธารณะ

ภาพถ่าย “เนสซี” สะเทือนโลก

วันที่ 21 เมษายน ปี 1934 สำนักข่าว Daily Mail ที่ยังไม่เข็ดกับประสบการณ์ก่อนหน้านี้ ได้เผยแพร่ภาพที่ภายหลังเรียกกันต่อมาว่า “Surgeon’s photograph” (ภาพถ่ายของศัลยแพทย์) แสดงให้เห็นส่วนหัวและคอของสัตว์ชนิดหนึ่งโผล่พ้นจากผิวน้ำ เชื่อกันว่าผู้ถ่ายภาพนี้คือ โรเบิร์ต วิลสัน (Robert Wilson) แพทย์ที่มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับจากลอนดอน เขาอ้างว่าถ่ายได้ระหว่างขับรถผ่านถนนทางตอนเหนือของทะเลสาบในช่วงเช้าวันที่ 19 เมษายน ปี 1934

ภาพถ่ายนี้ได้รับความเชื่อถือมาหลายทศวรรษว่าเป็นภาพ เนสซี สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ แต่แล้วความเชื่อนี้ก็ถูกสั่นคลอนในปี 1984 เมื่อ สจ๊วต แคมเบลล์ (Stewart Campbell) เผยแพร่บทความในวารสารด้านการถ่ายภาพที่ชื่อ British Journal of Photography ข้อเขียนของเขาโต้แย้งว่า วัตถุในภาพน่าจะมีความยาวจริงไม่เกิน 3 ฟุต อาจเป็นนาก หรือไม่ก็นก

ผ่านมาอีกไม่นาน ช่วงต้นยุค 1990 สารคดีของช่อง Discovery มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ภาพนี้เหมือนน้ำกระเพื่อมจากวัตถุบางอย่างที่ถูกลากไป สอดคล้องกับแนวคิดของแคมเบลล์ที่ว่าวัตถุนี้ไม่น่าจะยาวเกิน 3 ฟุต และถูกตัดย่อ (crop) เพื่อให้ดูเหมือนกับว่าวัตถุมีขนาดใหญ่กว่าปกติ

เมื่อข่าวลือขยายวงกว้างจากสื่อท้องถิ่นไปถึงสื่อระดับชาติ สถาบันวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่หลายแห่งก็สนใจตามไปด้วย ถึงขั้นมอบทุนสำหรับการสืบหาความจริง นำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยค้นหา มีตั้งแต่คลื่นโซนาร์, ไฮโดรโฟน (อุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ใช้ศึกษาสิ่งมีชีวิตในทะเล) และเรือดำน้ำขนาดเล็ก รวมงบประมาณที่ใช้ค้นหาสัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์แล้วก็น่าจะหลักล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความจริงเปิดเผย 

หลังจากเป็นปริศนามานาน ในที่สุด “ความจริง” ก็เปิดเผย เมื่อ คริสเตียน สเปอร์ลิง (Christian Spurling) ลูกเลี้ยงของนายพรานเวเธอเรลล์ ยอมรับว่า เขาเป็นคนแกะหัวของสัตว์ประหลาดขึ้นมาจากชิ้นส่วนหนึ่งของเรือดำน้ำของเล่น เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของเวเธอเรลล์ โดยมี เอียน-ลูกชาย และนายแพทย์วิลสันร่วมด้วย เวเธอเรลล์เป็นคนถ่ายภาพ จากนั้นนายแพทย์วิลสันก็ส่งต่อภาพไปให้สื่อดังเพื่อให้ดูมีเครดิตน่าเชื่อถือ เพื่อแก้เผ็ดจากกรณีของ Daily Mail และสื่ออื่นในแดนผู้ดี

ถึงจะมีข้อมูลเปิดเผย แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้ไม่เชื่อในคำอธิบายนี้อยู่ แม้ผู้ที่เชื่อในตัวตนของสัตว์ลึกลับจะยอมรับว่าภาพเป็นของปลอม แต่พวกเขาเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ได้ปฏิเสธการมีตัวตนของ “เนสซี” หรือสัตว์ลึกลับแห่งล็อกเนสส์ และหลังจากการเปิดเผยก็ยังมีการสำรวจอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง

เอริคตั้งข้อสังเกตว่า หากมีสัตว์เหล่านี้อยู่จริง ย่อมต้องมีจำนวนมากกว่า 1 ตัว และน่าจะมีรายงานหรือบันทึกการพบเห็นก่อนปี 1933 แต่หลักฐานก่อนหน้านี้ก็พบเพียงตำนานการพบเห็นของนักบุญโคลัมบา (Columba) ซึ่งเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 7

ตำนานเล่าว่า ระหว่างนักบุญเดินทางไปที่ดินแดนพิกต์ส (Picts) ในสกอตแลนด์ นักบุญพบเห็นสัตว์ร้ายในแม่น้ำเนสส์ สัตว์ร้ายฆ่าคนนอกรีตรายหนึ่งในท้องถิ่น และนักบุญอีกรายหนึ่ง และเพื่อพิสูจน์อำนาจของพระเจ้า นักบุญโคลัมบาสั่งให้นักบุญอีกรายหนึ่งว่ายข้ามแม่น้ำไป เมื่อสัตว์ร้ายปรากฏตัวขึ้น นักบุญโคลัมบาก็ร่ายเตือน และมันก็หนีหายไปด้วยความกลัว

หากพิจารณาจากข้อมูลเชิงพื้นที่ สัตว์ในตำนานเรื่องนี้อยู่ในแม่น้ำเนสส์ ใกล้กับทะเลสาบ ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวของนักบุญที่พบปะสัตว์ประหลาดหรือปีศาจและขับไล่พวกมันไป ก็เป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในชีวประวัตินักบุญ

และหากพิจารณาในแง่มุมวิทยาศาสตร์ สิ่งมีชีวิตเดียวที่มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับสัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ คือ เพลซิโอซอร์ (Plesiosaurs) สัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยในน้ำอุ่นแห่งท้องทะเลในยุคจูราสสิก มีหัวขนาดเล็ก ลำตัวกว้าง หางสั้น คอยาว มีครีบ 2 คู่ ซึ่งทำให้คาดว่า พวกมันไม่สามารถเคลื่อนที่ในน้ำได้เร็วนัก สายพันธุ์ของมันมีหลากหลาย ขนาดเล็กที่สุดมีความยาว 9 ฟุต (3 เมตร) ขนาดใหญ่ที่สุดยาวประมาณ 60 ฟุต (20 เมตร)

ลักษณะของเพลซิโอซอร์ใกล้เคียงกับคำบรรยายของเนสซีแทบทั้งสิ้น ติดเพียงแค่ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ดึกดำบรรพ์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เพลซิโอซอร์ไม่สามารถยกหัวขึ้นมาเหนือผิวน้ำได้ เหมือนกับภาพที่เรียกว่า “Surgeon’s photograph” นอกจากนี้ ล็อกเนสส์ยังมีอุณหภูมิเย็นกว่าน้ำที่เพลซิโอซอร์จะอาศัยได้ และยังไม่มีแหล่งอาหารเช่นปลาอย่างเพียงพอให้ดำรงชีพไ

เอริค สรุปได้น่าคิดทีเดียวว่า “หากแผ่นดินบริติชมีเพลซิโอซอร์รอดชีวิตในทะเลสาบเนสส์ พวกเขาคงมีจูราสสิก ปาร์ค ของตัวเองไปแล้ว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Chaline, Eric. History’s Gretest Deception. Quid Publishing, 2010


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2562