2 พฤษภาคม 1933: สัตว์ประหลาด แห่ง “ล็อกเนสส์” เริ่มตกเป็นข่าวใหญ่ในระดับท้องถิ่น

ภาพจำลอง เพลซิโอซอร์ สัตว์ประหลาด เนสซี ทะเลสาบ ล็อกเนสส์
ภาพจำลองของเพลซิโอซอร์ซึ่งคนในยุคหลังเชื่อกันว่าอาจจะเป็นตัวตนที่แท้จริงของสัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ (ภาพโดย S.W. Williston)

ตำนาน “สัตว์ประหลาด”แห่งทะเลสาบ “ล็อกเนสส์” ในสกอตแลนด์มีมานานนับพันปี เกี่ยวพันกับนักบุญโคลัมบา นักบวชชาวไอริช ผู้นำศาสนาคริสต์มาเผยแพร่ในดินแดนแห่งนี้

ตำนานที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 7 เล่าว่า ระหว่างที่นักบุญโคลัมบาเดินทางไปพบกษัตริย์แห่งพิคต์ (Picts) ใกล้กับอินเวอร์เนส (Inverness) ท่านได้เผชิญหน้ากับ “สัตว์ประหลาด” แห่ง “ล็อกเนสส์” ที่เข่นฆ่าผู้คนในละแวกนี้ (ซึ่งมิได้มีการบรรยายลักษณะที่แน่ชัดของมัน) โดยท่านได้ประกาศนามแห่งพระเจ้า และสั่งให้เจ้าสัตว์ประหลาดหายหัวไปโดยด่วน นับแต่นั้นมาสัตว์ประหลาดตัวนี้ก็มิได้โผล่มาทำร้ายใครอีกเลย

ตำนานดังกล่าวถูกนักประวัติศาสตร์มองว่า เป็นเรื่องเล่าที่พยายามสอดแทรกนัยยะทางการเมืองและศาสนา มากกว่าที่จะเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ โดยสื่อภาพถึงความเหนือกว่าของชาวสกอตผู้ใช้ภาษา Gaelic เมื่อเทียบกับชาวพิคต์ และความเหนือกว่าของศาสนาคริสต์ต่อกลุ่มความเชื่อเดิม แต่ตำนานดังกล่าวก็ยังได้รับการกล่าวขานสืบเนื่องมา และก็มีหลายคนที่ยังเชื่อว่า สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์มีอยู่จริง

สัตว์ประหลาด ล็อกเนสส์ ยุคใหม่เริ่มตกเป็นข่าวในระดับท้องถิ่นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 1933 (พ.ศ. 2476) เมื่อหนังสือพิมพ์ Inverness Courier รายงานว่า มีชายหญิงคู่หนึ่งได้พบสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์ดำผุดดำว่ายอยู่เหนือผิวน้ำของทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในบริเตนใหญ่แห่งนี้ หลังจากนั้นสำนักข่าวใหญ่ในลอนดอนก็เริ่มรายงานข่าวดังกล่าวด้วย และมีการตั้งเงินรางวัลเพื่อล่าหัวสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์ตัวนี้

หลังจากนั้นก็มีรายงานว่ามีผู้พบเห็นสัตว์ประหลาดตัวนี้อีกหลายครั้ง สื่อใหญ่หลายแห่งเริ่มส่งคนไปทำรายงานข่าว หนึ่งในนั้นก็คือ Daily Mail ซึ่งจ้างนายพรานชื่อดัง มาร์มาดุก เวเธอเรลล์ (Marmaduke Wetherell) มาช่วยตามหาด้วย ไม่กี่วันจากนั้น เวเธอเรลล์ อ้างว่าเขาได้พบกับรอยเท้าของสัตว์สี่เท้าขนาดยักษ์ และได้หล่อเอาแบบพิมพ์เท้าดังกล่าวส่งไปให้ British Natural History Museum เพื่อทำการตรวจสอบ ด้าน Daily Mail ก็พาดหัวข่าวว่า “สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ไม่ใช่แค่ตำนาน แต่เป็นเรื่องจริง”

อย่างไรก็ดี เมื่อทางพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งบริเตนส่งผลการตรวจสอบกลับมาก็พบว่า รอยเท้าทั้งหมดเป็นมาจากเท้าเพียงข้างเดียวของฮิปโปโปเตมัส มิใช่สัตว์ประหลาดอะไรที่ไหน ก็ได้สร้างความอับอายให้กับยอดนายพรานรายนี้เป็นอย่างมาก

แต่ความสนใจใน “สัตว์ประหลาด” แห่ง “ล็อกเนสส์” ก็ยังไม่หมดไป และยิ่งได้รับความสนใจยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อมีการเผยแพร่ภาพถ่ายของสัตว์ประหลาดตัวนี้ในช่วงต้นปี 1934 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์ชื่อว่า เพลซิโอซอร์ (plesiosaurs)

โดย พ.อ.โรเบิร์ต วิลสัน (Col. Robert Wilson) นรีแพทย์ที่มีชื่อเสียงในลอนดอนซึ่งขับรถผ่านทะเลสาบล็อกเนสส์ พร้อมกับเพื่อนร่วมทางรายหนึ่ง ว่ากันว่า ตอนที่เขาเห็นมันเขาถึงกับตะโกนออกมาว่า “พระเจ้า! นี่มันเจ้าสัตว์ประหลาดนั่นนี่หน่า” แต่ในการให้สัมภาษณ์ตลอดชีวิตของเขาจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1969 (พ.ศ. 2512) เขาไม่กล้าที่จะยืนยันว่ามันเป็นสัตว์ประหลาดจริง ได้แต่บอกว่าเขาเห็น “บางอย่างในน้ำ”

และเรื่องก็มาแดงในปี 1994 (พ.ศ. 2537) ว่าภาพดังกล่าวแท้จริงแล้วเป็นแค่การจัดฉากโดยฝีมือของเวเธอเรลล์และพวกที่ต้องการเอาคืนหลังถูกสื่อล้อเลียนอย่างหนัก เมื่อคราวที่เขาอ้างว่าเจอรอยเท้าสัตว์ประหลาด เขาได้ร่วมมือกับ เอียน (Ian) ลูกชาย และคริสเตียน สเปอร์ลิง (Christian Spurling) ญาติซึ่งเป็นช่างปั้น สร้างสัตว์ประหลาดปลอมจากเรือดำน้ำของเล่นที่ซื้อมาจากวูลเวิร์ธส์ (Woolworths) แล้วถ่ายภาพอันโด่งดังนี้ขึ้น ในพื้นที่น้ำตื้นแห่งหนึ่งของทะเลสาบดังกล่าว และได้จมเจ้าสัตว์ประหลาดปลอมนั้นทิ้งลงน้ำอย่างเร็ว หลังได้ยินเสียงฝีเท้าของผู้ดูแลทะเลสาบเดินเข้ามาใกล้ ก่อนมอบให้กับคนกลางที่มีเครดิตดีอย่างผู้พันวิลสัน

เรื่องนี้กระจ่างขึ้นด้วยฝีมือของ เดวิด มาร์ติน (David Martin) และ แอลาสเตอร์ บอยด์ (Alastair Boyd) ผู้ศึกษาด้านชีววิทยาและภูมิศาสตร์ของทะเลสาบล็อกเนสส์ ซึ่งทำการสืบสาวต้นตอของภาพดังกล่าว เริ่มจากผู้พันวิลสัน จนพบความเชื่อมโยมไปถึงเวเธอเรลล์ และได้ตามไปสอบถามข้อเท็จจริงจากสเปอร์ลิง ซึ่งสเปอร์ลิงยอมรับว่าเขาเป็นผู้สร้างแบบจำลองของสัตว์ประหลาดดังกล่าวขึ้นมาจริง

ภาพถ่ายอันโด่งดังที่ได้รับความเชื่อถือมายาวนาน จึงเป็นที่ยอมรับกันหลังจากปี 1994 ว่ามันเป็นเพียงภาพปลอม

แต่ก่อนหน้านั้นก็มีภาพถ่ายหลายภาพที่มีลักษณะคล้ายๆ กันหลุดออกมา โดยอ้างว่าถ่ายได้ที่ ล็อกเนสส์ และยังมีการลงทุนใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการค้นหาอยู่หลายครั้ง เช่น การถ่ายภาพใต้น้ำ และระบบโซนาร์ในช่วงทศวรรษที่ 70 ซึ่งมีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยขยายภาพ จนเห็นภาพของอะไรบางอย่างที่มีลักษณะคล้ายกับเพลซิโอซอร์ด้วย

ถึงปัจจุบันก็ยังมีผู้ที่เชื่อในตำนาน “สัตว์ประหลาด” แห่ง “ล็อกเนสส์” และตามหาสัตว์ประหลาดตัวนี้อยู่ หลายคนพยายามหาคำอธิบายการมีอยู่ของมันไปหลากหลายแบบ ตั้งแต่คนที่เชื่อว่ามันคือเพลซิโอซอร์ที่รอดการสูญพันธุ์มาอยู่ในล็อกเนสส์ได้ หรือไม่ก็อาจจะเป็นวาฬโบราณคอยาวที่ควรจะสูญพันธุ์ไปเมื่อ 18 ล้านปีก่อน ส่วนคนที่ไม่เชื่อในเรื่องสัตว์ประหลาดตัวนี้ก็อธิบายว่า ภาพของสัตว์ประหลาดที่มีคนอ้างว่าเห็น (โดยเชื่อว่าเห็นจริงๆ) อาจเป็นเพียงภาพลวงที่เกิดจากคลื่นน้ำเท่านั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

History.com Staff. “Loch Ness Monster Sighted.” History.com, 2009. Web. 2 May 2017. <http://www.history.com/this-day-in-history/loch-ness-monster-sighted>

Darnton, John. “Loch Ness: Fiction is Stranger Than Truth.”  The New York Times, 20 Mar. 1994. Web. 2 May 2017. <http://www.nytimes.com/1994/03/20/weekinreview/loch-ness-fiction-is-stranger-than-truth.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2560