เปิดความหมายคำว่า “ไต้ก๋ง” คำจีนที่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นได้?

เรือ จีน ไต้ก๋ง
เรือเทียบที่ท่าน้ำแยงซี ที่จีน (ภาพ : Wikicommon)

“ไต้ก๋ง” ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 บัญญัติความหมายไว้ว่า นายท้ายเรือสำเภาหรือเรือจับปลา และหากลองฟังเสียงดูหลายคนน่าจะเดาได้ว่าคำนี้มาจาก “ภาษาจีน” 

แต่คำว่าไต้ก๋งมาจากจีนชนชาติไหน ความหมายที่แท้จริงของคำนี้คืออะไรกันแน่?

ไต้ก๋งเป็นคำจีนฮกเกี้ยน โดย “ไต้” ที่ว่า หากออกเสียงในภาษาจีนกลางจะเป็น “ต้า” ที่แปลว่าใหญ่ ส่วนคำว่ากงหรือก๋ง ในบริบทของจีนกลางและฮกเกี้ยน หมายถึง ผู้เป็นนาย 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้คำว่าไต้ก๋ง หมายถึง “ผู้เป็นนายใหญ่” หรือถ้าหากใส่บริบทของการเดินเรือเข้าไป ก็คือ นายเรือใหญ่ นั่นเอง 

คำนี้มักใช้เฉพาะหมู่ชาวจีนฮกเกี้ยน ในบทความ “คำจีนสยาม :ไต้ก๋ง” ที่ปรากฏบน นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1,301 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 ได้ระบุถึงความพิเศษของคำนี้ต่อชาวจีนฮกเกี้ยนไว้ว่า 

“…การเดินเรือที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแต่ความชำนาญในเส้นทางหรือทิศทางการเดินเรือของชาวจีนฮกเกี้ยนเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงความชำนาญในเชิงอาชีพอีกด้วย นั่นก็คือ อาชีพประมงหรือการหาปลา

และคนที่มีความชำนาญเช่นที่ว่านี้จะได้รับการเคารพยกย่องจากลูกเรือและผู้คนทั่วไป ด้วยว่าเป็นผู้ทำให้ผู้คนได้ปลามากินมาขาย 

อันเศรษฐกิจหลักอย่างหนึ่งของชาวจีนฮกเกี้ยน การยกย่องที่ว่านี้เองที่ทำให้คนฮกเกี้ยนเรียกผู้ชำนาญผู้นี้ว่าไต้ก๋ง อันเป็นคำเรียกที่ใช้กันและรู้กันเฉพาะในหมู่ชาวจีนฮกเกี้ยนเท่านั้น

การเรียกยกย่องคนที่เป็นไต้ก๋ง นี้หากกล่าวเพียงแค่เพราะชำนาญในการเดินเรือและหาปลาคงเห็นภาพได้ไม่ชัดนัก จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า ความชำนาญดังกล่าวเป็นสิ่งที่จะต้องมีอยู่ควบคู่กันไป ขาดด้านใดด้านหนึ่งไปไม่ได้’…”

คนเป็นไต้ก๋งไม่เพียงแค่ต้องเก่งเรื่องทิศทางในการเดินเรือ แต่ยังต้องมีความรู้ด้านภูมิศาสตร์ การพยากรณ์อากาศ และความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง เพราะต้องรักษาความปลอดภัยให้กับทรัพย์สินและลูกเรือที่เดินทางมาด้วย 

อีกทั้งการนำทางหาปลาของไต้ก๋งก็เป็นตัวชี้วัดว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกน้องที่ติดสอยห้อยตามมาด้วยจะเป็นอย่างไร

อาชีพไต้ก๋งและคำว่าไต้ก๋งจึงไม่ใช่คำจีนฮกเกี้ยนที่ใครทุกคนจะใช้แทนตัวเองได้ เพราะต้องมีประสบการณ์และคุณสมบัติที่กล่าวไปข้างต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. “คำจีนสยามไต้ก๋ง.” มติชนสุดสัปดาห์ 26, ฉ. 1,301 (กรกฎาคม 2548): 39.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2567