ปีใหม่มี “เคานต์ดาวน์” ตรุษจีนมี “เฝ้าปี” กิจกรรมที่เกิดจากความเชื่อ และความกตัญญู

เคานต์ดาวน์ ตรุษจีน
(ภาพจาก Eka P. Amdela - unsplash.com)

เคานต์ดาวน์ หรือการนับเวลาถอยหลัง ทั่วไปมักนับเวลา 10 วินาทีสุดท้าย ก่อนจะถึงเหตุที่เฝ้าคอย เคานต์ดาวน์ยอดนิยมที่เห็นกันบ่อยๆ ก็คือ เคานต์ดาวน์คืนวันที่ 31 ธันวาคม เพื่อต้อนรับปีใหม่ (สากล) ใน เทศกาลตรุษจีน หรือปีใหม่จีนก็มีกิจกรรมคล้ายๆ “เคานต์ดาวน์” เช่นกัน ที่เรียกว่า “เฝ้าปี”

เพราะ “เคานต์ดาวน์” และ “เฝ้าปี” ก็ต้องอดหลับ อดนอน รอให้ถึงเวลาเที่ยงคืน เพื่อจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่เหมือนกัน เพียงแต่เหตุผลต่างกัน

การเคานต์ดาวน์ หรือ เฝ้าปี ในเทศกาลตรุษจีน มีมานานกว่า 1,600 ปี การเฝ้าปีปรากฏหลักฐานครั้งแรกในหนังสือภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณี ของ โจวชู่ บุคคลสมัยราชวงศ์จิ้น (พ.ศ. 807-963) ว่า “ไม่นอนตลอดคืน รออยู่จนฟ้าสาง เรียกว่าเฝ้าปี” 

ธรรมเนียมเก่าหลังจากกิน “อาหารค่ำประจําปี” แล้ว เด็กๆ จะเข้าแถวกันไปอวยพรผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะอวยพรตอบและแจกเงิน “แตะเอีย” แต่บางคน บางบ้านอาจเอาไปสอดไว้ใต้หมอนตอนเด็กๆ หลับ หรือมีวิธีแจกแตกต่างไปจากนี้อีกหลายวิธี

ส่วนผู้ใหญ่นั้นไม่นอนตลอดคืน เพราะจะต้องอยู่ “เฝ้าปีเก่า รับปีใหม่”

การ “เฝ้าปี” มีสาระสำคัญให้เห็นคุณค่าของวันเวลาซึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว สำหรับผู้สูงอายุเป็นอนุสติให้คิดถึงวัยชราที่ค่อยๆ มาถึง สำหรับเด็กเน้นให้กระตือรือร้นใช้วันเวลาให้มีคุณค่า จึงต้องอยู่เฝ้าปีให้ต่อเนื่องกัน 

แล้วอะไรเป็นเหตุผลของการ “เฝ้าปี” หรือ “เคานต์ดาวน์” ของคนจีน

หนึ่งคือ คำว่า “นอนหลับ ( Kun)” ในภาษาจีนโบราณมีอีกความหมายหนึ่งว่า “ลำบาก ยากจน” การไม่นอนในคืนสิ้นปี ก็เพื่อเอาเคล็ดหนีความลำบากยากจน ด้วยการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

หนึ่งคือ ความเชื่อที่ว่า การอยู่เฝ้าปีในคืนตรุษจีนจะเจริญอายุและสุขภาพแก่พ่อแม่ ดังนั้น ผู้ที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ จึงมักจะค่อนข้างเคร่งครัดกิจกรรมนี้ กลายเป็นธรรมเนียมนิยมสืบกันมา

หนึ่งคือ เกิดจากตำนานเล่าว่า ในอดีตกาลมีสัตว์ร้ายตัวหนึ่งชื่อว่า “เหนียน” ซึ่งแปลว่า “ปี” พอถึงปลายฤดูหนาว เจ้าตัวปีนี้จะออกมาจับคนและสัตว์เลี้ยงกินเป็นอาหารเสมอ การเฝ้าปีก็เพื่อจับเหนียนที่ปีแล้วปีเล่าออกอาละวาด 

ในที่สุดมนุษย์ก็พบว่า เหนียนกลัวของอยู่ 3 อย่าง คือ เสียงดัง, สีแดง, และแสงไฟ ดังนั้น พอถึงวันสิ้นปี อันเป็นกำหนดที่สัตว์ร้ายตัวนี้ออกมาหาเหยื่อในหมู่บ้าน ผู้คนก็พากันเอาไม้ท้อทาสีแดงแขวนไว้ที่ประตู ก่อไฟไว้หน้าบ้าน จุดประทัดและตีเกราะเคาะไม้ให้มีเสียงดังตลอดคืนโดยไม่หลับนอน เมื่อเจ้าตัวปีออกมาเห็นแสงสี และได้ยินเสียงดังนั้นก็ตกใจกลัววิ่งหนีไป

ค่ำคืนการเฝ้าปี โดยทั่วไปทุกคนในครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้ากัน มีกิจกรรมบันเทิงแก้ง่วง ผู้ใหญ่บางคนอาจเล่นไฟ บางคนเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง หรือตั้งปัญหาให้ทายเล่นลองปัญญา มีน้ำชาและของว่างกินกันไม่ขาดปาก ถ้าเด็กๆ ง่วงก็ให้นอนอยู่รอบตลอดทั้งคืน นอกจากนี้ แต่ละท้องถิ่นก็มีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป

คืน 30 ค่ำ เดือน 12 (ตามจันทรคติจีน) มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ฉูซี่ (ภาษาแต้จิ๋วว่า ตื่อเส็ก) แปลว่า “คืนตัด (ปี)” หมายถึงปีเก่าสิ้นสุด หรือถูกตัดลงในตอนเที่ยงของคืนนี้

ช่วงเวลาพิเศษที่ “คืนเดียวมี 2 ปี” ที่คนในครอบครัวนั่งทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ถ้าเป็นสมัยก่อนได้ยินเสียงประทัดดังขึ้นก็รู้ว่าเฝ้าปีจนปีใหม่มาถึงแล้ว ปัจจุบันก่อนจะถึงเวลานั้นก็ “เคานต์ดาวน์” กันเหมือนร่วมกัน อวยพรกันสักหน่อย แล้วแยกย้ายไปนอนเถอะ นอนดึกไม่ดีกับสุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2567