3 มัสยิดศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอิสลาม มีที่ไหนบ้าง?

มัสยิดอัลอักซอ กรุงเยรูซาเลม อิสราเอล
มัสยิดอัลอักซอ (Al Aqsa Mosque) กรุงเยรูซาเลม (ภาพโดย Haley Black ใน Pexels)

“มัสยิด” หรือ “มัสญิด” คือศาสนสถานที่ชาวมุสลิมใช้ปฏิบัตินมาซ เพื่อแสดงความเคารพสักการะและรำลึกถึงอัลลอฮฺ สำหรับชาวมุสลิมแล้ว มัสยิดสำคัญ-ศักดิ์สิทธิ์ มีด้วยกัน 3 แห่ง คือ มัสยิดอัลฮะรอม, มัสยิดนะบะวีย์ ในซาอุดีอาระเบีย และ มัสยิดอัลอักซอ ในอิสราเอล

มัสยิดอัลฮะรอม
มัสยิดอัลฮะรอม ในปี 1889 (ภาพจาก “Mekka” โดย Snouck Hurgronje, C. (Christiaan))

มัสยิดอัลฮะรอม

มัสยิดอัลฮะรอม เป็นมัสยิดใหญ่ใจกลางนครมักก๊ะฮฺ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ หรือบัยตุลลอฮฺ รวมทั้งบ่อน้ำซัมซัม และมะกอมอิบรอฮีม เป็นมัสยิดสําคัญที่สุดของอิสลาม

Advertisement

ก่อนสมัยของนบีมุฮัมมัด บริเวณนี้ถือเป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมักก๊ะฮฺ โดยเป็นที่เปิดโล่ง ไม่มีการกั้นรั้วกําหนดเขตเป็นที่แน่ชัด ใน ฮ.ศ. 8 (ฮ.ศ. คือ ฮิจเราะห์ศักราช บวกด้วย 621 จะได้เป็นคริสต์ศักราช) ท่านนบีมุฮัมมัดใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่นมาซ ต่อมาเมื่อมีมุสลิมเพิ่มขึ้น สถานที่ก็คับแคบลง

จนถึงสมัยของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺและอุษมาน ได้มีการรื้อถอนบ้านของประชาชนที่อยู่รอบบริเวณศาสนสถานสําคัญแห่งนี้ และมีการสร้างกําแพงกั้นบริเวณขึ้น จากนั้นก็มีการขยายพื้นที่และก่อสร้างส่วนต่างๆ ในสมัยของผู้ปกครองอาณาจักรอิสลามคนต่อๆ มา

การบูรณะมัสยิดอัลฮะรอมมีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ใน ฮ.ศ. 17 และมีการบูรณะอีกหลายครั้งในหลายช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ราชวงศ์มัมลู้กแห่งอียิปต์มีอํานาจ (ฮ.ศ. 802) อาคารมัสยิดอัลฮะรอมถูกไฟไหม้ แต่ก็ได้รับการซ่อมแซมโดยเจ้าชายบัยซักซอฮิรี

หลังจาก ฮ.ศ. 979 เป็นต้นมา มุสลิมชาวเติร์กขึ้นเป็นผู้นําชาติอิสลาม จึงมีการขยายบริเวณมัสยิดอัลฮะรอมให้กว้างออกไปอีก โดยเฉพาะในสมัยของสุลต่านชาลิม ซึ่งทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อบูรณะครั้งใหญ่ ใน ฮ.ศ. 980 และ ฮ.ศ. 984

มัสยิดนะบะวีย์
มัสยิดนะบะวีย์ (ภาพโดย Sulthan Auliya ใน www.unsplash.com)

มัสยิดนะบะวีย์

มัสยิดนะบะวีย์ คือมัสยิดของท่านนบีมุฮัมมัดในนครมะดีนะฮฺ ถือเป็นมัสยิดที่มีความสําคัญเป็นอันดับสองของโลกอิสลาม

มัสยิดนะบะวีย์ถูกสร้างขึ้นครั้งแรก โดยท่านนบีมุฮัมมัด หลังจากท่านอพยพมาถึงนครมะดีนะฮฺแล้ว เมื่อท่านคิดจะสร้างมัสยิด มีชาวมะดีนะฮฺหลายคนเสนอจะยกที่ดินแก่ท่าน แต่เพื่อมิให้เกิดข้อครหาว่าท่านลําเอียงรักชอบใครเป็นพิเศษ จึงได้ขอแก่ชาวเมืองว่า ท่านจะปล่อยให้อูฐของท่านเดินไปอย่างเป็นอิสระ หากอูฐไปหยุดที่ตรงไหนก็จะขอใช้ที่ตรงนั้นสร้างมัสยิด

ปรากฏว่า อูฐไปหยุดตรงที่ดินของเด็กกําพร้าสองคน ซึ่งทั้งสองคนก็ยินดียกที่ดินให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด แต่เพราะเห็นว่าเป็นเด็กกําพร้า ท่านจึงไม่ยอมรับ แต่ได้ขอซื้อที่ดินแทน โดยอบูบักรฺเป็นผู้จ่ายค่าที่ดินให้

เมื่อแรกสร้าง มัสยิดของท่านมีขนาดไม่ใหญ่นัก วัสดุก่อสร้างก็เป็นวัสดุง่ายๆ ที่หาได้ในบริเวณนั้น เช่น ใช้ต้นอินทผลัมทำเป็นเสา นำดินโคลนมาตากแห้งเป็นก้อนทำกำแพง ใช้กิ่งอินทผลัมทำเป็นหลังคา และท่านก็ได้สร้างบ้านติดกับบริเวณมัสยิดด้วย

มัสยิดนะบะวีย์เป็นทั้งสถานที่นมาซ และสถานที่อบรมศึกษา ต้อนรับแขก ใช้ประชุมปรึกษาหารือในกิจการต่างๆ ตัดสินคดีความ เป็นกองบัญชาการสําหรับการส่งกองทัพไปทำสงคราม และที่สําคัญคือเป็นที่ฝังศพท่านนบีมุฮัมมัด

มัสยิดอัลอักซอ
มัสยิดอัลอักซอ ราวปี 1898-1934 (ภาพจาก Library of Congress)

มัสยิดอัลอักซอ

มัสยิดอัลอักซอ มีความสําคัญเป็นอันดับสามของโลกอิสลาม ตั้งอยู่บนพื้นที่บริเวณมหาวิหารเดิมในกรุงเยรูซาเลม

ความหมายของคําว่ามัสยิดอัลอักซอ คือ “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันไกลโพ้น” นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งกล่าวว่า มัสยิดอัลอักซอสร้างขึ้นครั้งแรก โดยนบีสุลัยมาน แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์อิสลามส่วนหนึ่งโต้แย้ง โดยอ้างหลักฐานจากบันทึกคําพูดของท่านนบีมุฮัมมัดว่า ครั้งหนึ่งท่านถูกสาวกถามว่า มัสยิดแห่งใดเป็นมัสยิดที่ถูกสร้างแห่งที่สอง หลังจากมัสยิดฮะรอม

ท่านนบีมุฮัมมัดได้ตอบว่า “มัสยิดอัลอักซอ” สาวกจึงได้ถามต่อไปว่า “ระยะเวลาการสร้างมัสยิดทั้งสองห่างกันเท่าใด” ท่านนบีมุฮัมมัดตอบว่า “สี่สิบปี” ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่มัสยิดอัลอักซอจะถูกสร้างในสมัยนบีสุลัยมาน เพราะช่วงระยะเวลาระหว่างนบีอิบรอฮีม ผู้สร้างก๊ะอฺบ๊ะฮฺ กับนบีสุลัยมานนั้นห่างกันเป็นพันปี

ดังนั้น นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งจึงสรุปความเห็นที่ขัดแย้งกันว่า หากเป็นเช่นนั้น นบีอาดัมก็คงจะเป็นผู้สร้างมัสยิดทั้งสองแห่งไว้ และมัสยิดทั้งสองแห่งได้ผุพังไปตามกาลเวลา จนกระทั่งนบีอิบรอฮีมได้มาฟื้นฟูบูรณะมัสยิดอัลฮะรอม ส่วนนบีสุลัยมานได้มาฟื้นฟูบูรณะมัสยิดอัลอักซอ

มัสยิดอัลอักซอมีความสําคัญเป็นอันดับสามของโลกอิสลาม เพราะเป็นมัสยิดที่นบีมุฮัมมัดเดินทางอย่างรวดเร็วในยามค่ำคืนจากมัสยิดอัลฮะรอมในมักก๊ะฮฺมายังมัสยิดแห่งนี้ และเดินทางขึ้นสู่ชั้นฟ้าเบื้องสูงโดยการนําพาของมลาอิก๊ะฮฺ และกลับมาภายในคืนเดียว เหตุการณ์ในคืนนั้นเป็นที่รู้จักกันว่า “อิสรอ” และ “มิอฺรอจญ์”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บรรจง บินกาซัน. สารานุกรมอิสลาม ฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ. พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542 สำนักพิมพ์ อัล อะมีน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2567