“เทมาริ ซูชิ” ซูชิทรงกลมสุดหลากหลาย ที่มักทำในเทศกาลฮินะ มัตสึริของญี่ปุ่น

เทมาริ ซูชิ ญี่ปุ่น
ภาพ : pixabay

ปกติแล้วเมื่อเรานึกถึง “ซูชิ” หรืออยากกินซูชิหน้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าแซลมอนสีส้มสดแซมขาว รสสัมผัสนุ่มละมุน หรือโอโทโร่สีชมพูรสชาติหวานนุ่มหอมกลิ่นมันนิด ๆ ก็ล้วนแต่มีภาพจำว่าซูชิจะต้องมีรูปร่างรียาวเหมือนเลขศูนย์ ห่อด้วยสาหร่ายล้อมรอบ แต่รู้หรือไม่ว่าในประเทศ ญี่ปุ่น มีซูชิอีกแบบที่หลายคนอาจไม่คุ้นตา เพราะมีลักษณะกลม เรียกว่า “เทมาริ ซูชิ” (Temari sushi)

จากการเล่าขานแบบปากต่อปาก เชื่อกันว่า เทมาริ ซูชิเกิดขึ้นมาในช่วงต้นยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) โดยชาวประมงผู้หาปลาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเอโดะ มักจะชอบทำอาหารง่าย ๆ ขึ้นมา เช่น การนำข้าวมาปั้นด้วยมือให้เป็นรูปทรงกลมกับส่วนผสมต่าง ๆ และไม่ได้นำสาหร่ายมาห่อ 

นั่นจึงเป็นต้นกำเนิดของเทมาริ ซูชิ 

ต่อมาอาหารที่มีภาพลักษณ์ไม่โดดเด่นหรูหรานัก เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำ จากเดิมที่ใช้มือขยำ ก็นำพลาสติกแรปมาช่วยห่อให้เข้ารูปมากยิ่งขึ้น เน้นภาพลักษณ์ในการประดับตกแต่ง ซึ่งมีจุดเด่นในการเน้นสีให้สวยงามจากส่วนประกอบ ทั้งยังมีกลิ่นไอของวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม

ผู้คนทั่วไปจึงมักจะรับประทานกันในวันเฉลิมฉลองต่าง ๆ วันที่ครอบครัวชาวญี่ปุ่นได้กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา รวมถึงมักทำในเทศกาลฮินะ มัตสึริ หรือเทศกาลวันเด็กผู้หญิง ในวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปีอีกด้วย

ส่วนเหตุที่ทำให้เจ้าก้อนข้าวรูปกลมดิ๊กนี้ชื่อ “เทมาริ” ก็เป็นเพราะว่ารูปทรงที่เหมือนกับลูกบอลนี่แหละ เพราะในภาษาญี่ปุ่น เทมาริ แปลว่า ลูกบอลของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงที่ทำจากด้ายร้อยเป็นทรงกลม ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับเทมาริ ซูชิ แสนน่าอร่อยที่ท็อปปิงไปด้วยแซลมอน ปูอัด ทูน่า หมึกยักษ์ เนื้อวัว ฯลฯ หรือใครเป็นสายผัก ก็อาจจะแปะหน้าด้วยแตงกวา แรดิช แล้วแต่คนกินจะเลือกสรร เป็นต้น 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://matcha-jp.com/en/12469

https://www.justonecookbook.com/temari-sushi/

https://www.thespruceeats.com/how-to-make-temari-sushi-2031487

https://www.youtube.com/watch?v=R4X_0WS_I-U


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567