ความสำคัญของ “เหล้า” ในวัฒนธรรมจีน ใช้ตั้งแต่ เกิด-แต่ง-ตาย

เหล้า กลั่นเหล้า
ภาพวาดปลายศตวรรษที่ 18 แสดงการกลั่น “เหล้า” สมัยโบราณ (ภาพจาก หนังสือต้นกำเนิด 100 สิ่งของโลก, สนพ.มติชน)

ชาวจีนรู้จักการทำ “เหล้า” มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์เซี่ย (2100-1600 ปีก่อน ค.ศ.) เหล้าในยุคแรกๆ ทำจากธัญพืชเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นข้าวเจ้า, ข้าวเหนียว, ข้าวฟ่าง ฯลฯ 

เหล้าจีนมีพัฒนาการก้าวหน้าเรื่อยมา เช่น การค้นพบส่าเหล้า, การใช้วัตถุดิบที่หลากหลายขึ้น เช่น ผลไม้ องุ่นทำออกมาเป็นไวน์, พัฒนาคุณภาพให้มีดีกรีสูงขึ้น อย่างเหล้าเหมาไถที่สูงถึง 60 ดีกรี

แล้วในวิถีชีวิตคนจีน “เหล้า” ปรากฏตัวอยู่ตรงไหน เวลาใดบ้าง

ในงานหมั้นก็ต้องดื่ม “เหล้าพบญาติ” งานแต่งงานต้องดื่ม “เหล้าสิริมงคล” ถึงเวลาส่งตัวเข้าหอต้องดื่ม “เหล้าคล้องแขน” (เจ้าบ่าวเจ้าสาวคล้องแขนกันดื่มเหล้า)

แต่งงานแล้วก็มีลูก เมื่อลูกอายุครบ 1 เดือน ต้องเชิญแขกมาดื่ม “เหล้าเลี้ยงครบเดือน” พอเด็กอายุครบ 100 วัน ก็ต้องดื่ม “เหล้าครบร้อยวัน” 2 รายการนี้เป็นการดื่มเกี่ยวกับเด็ก แต่เด็กไม่ดื่มสักอึก

แต่หากเป็นทางตอนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองเซ่าซิง เมื่อลูกสาวเกิดครบ 1 เดือนเต็ม จะเอาเหล้าใส่ไห เอาโคลนปิดบนฝาแล้วเอาไปฝังดิน รอจนเด็กเป็นสาวก็ขุดเหล้ามาเลี้ยงแขกในงานแต่งของเธอ เหล้านี้เรียกว่า “นารีแดง”

สำหรับคนหนุ่มสาววัยทำงาน หรือผู้ใหญ่ที่จะออกเดินทางไกลบ้านก็ดื่ม “เหล้าเลี้ยงส่ง” พอกลับจากเดินทางไกลก็ต้องดื่ม “เหล้าเลี้ยงต้อนรับ” และเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ประเพณีโบราณของจีน ก็มีการใช้เหล้าในพิธีการเซ่นไหว้ด้วย

นอกจากนี้ในเริ่มต้นกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่, เปิดร้านค้าใหม่ ฯลฯ ก็ต้องดื่ม “เหล้า” ฉลองบ้านใหม่ ฉลองกิจการใหม่

ในเทศกาลสำคัญๆ ก็มี “เหล้า” เฉพาะของเทศกาลนั้นๆ เช่น เทศกาลขนมบ๊ะจ่างมี “เหล้าสงหวง” สงหวง (หรือ หรดาลแดง) ที่ผสมในเหล้า ตำราสมุนไพรจีนว่ามีฤทธิ์ขับเสมหะ ถอนพิษงูพิษแมลง

เทศกาลตรุษจีน ที่ให้ความสำคัญกับการเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ “เหล้า” ที่ใช้ควรเป็น “เหล้าขาว” หรือ “เหล้าเหลือง” ซึ่งหมักจากข้าว ไม่ใช่ไวน์หรือเบียร์ เพราะข้าวเป็นธัญพืชอาหารหลัก สามารถเอาข้าวมาหมักเป็นเหล้าใช้ไหว้ แสดงว่ามีข้าวเหลือเฟืออุดมสมบูรณ์

ดูเหมือนวัฒนธรรมจีนใช้เหล้ากันตั้งแต่เกิดจนตาย 

แม้ไม่ห้ามเรื่องการดื่มเหล้า แต่ก็มีธรรมเนียมในการดื่มเช่นกัน ลัทธิขงจื๊อซึ่งเน้นเรื่อง “ความประพฤติในการดื่มเหล้า” แม้เหล้าจะสะท้อนประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้าน แต่ก็ดื่มเหล้าเกินปริมาณไม่ได้ เพราะทำให้ขาดสติ ทั้งกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ 4 ข้อด้วยกันคือ 1. ดื่มเมื่อมีพิธีกรรมเซ่นไหว้ 2. ไม่ดื่มประจำ เพราะประหยัดธัญพืชที่ใช้ทำเหล้าไว้เป็นอาหารมากกว่า 3. ห้ามจับกลุ่มตั้งวงดื่มเหล้า 4. ห้ามลุ่มหลงกับการดื่มเหล้า

แต่บางที “กฎก็มีไว้แหก” กวีชื่อดัง และนักเขียนของจีน กลับชื่นชอบร่ำสุรายามสร้างสรรค์ผลงาน 

หลี่ไป๋ (ค.ศ. 701-762) ที่ได้รับการยกย่องว่า “เทวกวีจีน” หากหลี่ไป๋ผู้นี้กลับเรียกตัวเองว่า “เทพแห่งสุรา” ทั้งมีบทกวีเกี่ยวกับสุรา/เหล้า หลายบท ขอยกตัวอย่างบทที่มีชื่อเสียงคือ “ดื่มเดี่ยวใต้จันทร์” บางส่วน (สำเนาแปลอาจารย์ถาวร สิกขโกศล)

เหล้าวางหว่างบุปผชาติ   ดื่มเดี่ยวขาดเพื่อนร่วมชิม

ชูจอกชวนจันทร์ลิ้ม   ต่อหน้าเงาเท่าสามชน

จันทราหารู้ดื่ม   เงาบ่ลืมตามสกนธ์

เงาเดือนต่างเพื่อนปรน   ยามวสันต์ควรบันเทิง

เกาจี๋ว์ชิง กวีสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) ถึงกับจิบสุราแต่งกลอนชมธรรมชาติ ในช่วงเทศกาลเช็งเม้งไว้ว่า (สำนวนแปล อาจารย์ถาวร สิกขโกศล)

สุสานร้างรายอยู่ภูเหนือใต้   เช็งเม้งคนมาไหว้เดินสับสน

ผีเสื้อขาวเถ้ากระดาษบินว่อนวน   อัสสุชลหลั่งไหลฤทัยครวญ

สายัณห์จิ้งจอกนอนหน้าหลุมหลับ   ราตรีกลับเคหาคลายวายกำสรวล

ยามมีเหล้าเมาปลื้มดื่มตามควร   ตายแล้วล้วนชวดลิ้มรสแม้หยดเดียว

แม้แต่ โกวเล้ง (ค.ศ.1937-1985) นักเขียนนิยายกำลังภายในชื่อดัง เช่น ฤทธิ์มีดสั้น, ชอลิ้วเฮียง, เล็กเซียวหงส์ ฯลฯ ที่ได้ฉายาว่า “ปีศาจสุรา” ก็ให้คำอธิบายเรื่องเหล้าที่หลักแหลมว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ชื่นชอบรสชาติสุรา แตข้าพเจ้าชอบบรรยากาศการร่ำสุรา” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

โจวเซี่ยเทียน-เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย-แปล. เปิดตำนานผ่านอักษรจีน, สำนักพิมพ์ติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2557.

อดุลย์ รัตนมั่นเกษม. กินข้าวกับอาม่า, สำนักพิมพ์แสงแดด, พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2551.

ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2557

ถาวร สิกขโกศล, ยง อิงคเวทย์. “สามรัตนกวีเอกของจีน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มกราคม 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567