กว่าจะเป็น “แม่โขง” สุราไทย กับ “จุล กาญจนลักษณ์” ชายผู้อยู่เบื้องหลัง

แม่โขง สุราไทย มี จุล กาญจนลักษณ์ เป็นผู้ปรุง
"แม่โขง" สุราไทย ที่เปลี่ยนชื่อตามกระแสการเมือง

แม่โขง เป็น “สุราปรุงพิเศษ” ด้วยระดับแอลกอฮอล์ 35 ดีกรี โดยเริ่มใช้ชื่อแม่โขงเมื่อปี 2484

แม่โขงเริ่มผลิตครั้งแรกที่โรงงานสุราบางยี่ขัน โรงงานสุราเก่าแก่ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีนายอากรเป็นเจ้าของกิจการ ก่อนตกมาเป็นสมบัติของรัฐในปี 2447 โดยมีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าของ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐในการเข้ามาดำเนินธุรกิจสุรา

กรมสรรพสามิตเปิดให้เอกชนเข้าไปดำเนินการแทน โดยแลกเปลี่ยนกับการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่รัฐ หลักเกณฑ์ในลักษณะนี้ดำเนินไปจนถึงปลายรัชกาลที่ 7 ที่พระสวามิภักดิ์ภูวนารถเป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นคนสุดท้าย

ปี 2470 กรมสรรพสามิต เข้ามาดำเนินการแทน และปรับปรุงโครงสร้างการบริหารให้ทันสมัยขึ้น ในเวลานั้นนักดื่มไทยเริ่มนิยมดื่ม “วิสกี้” กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งวิสกี้เป็นสุราที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่โรงงานสุราบางยี่ขันผลิตแต่ “สุราขาว” เพียงอย่างเดียว กรมสรรพสามิตจึงริเริ่มผลิต “สุราผสม” แบบไทย โดยใช้เครื่องสมุนไพรตามเภสัชตำหรับของยาดองเหล้าแบบโบราณขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อลดการนำเข้าวิสกี้ ต่อมาภายหลังได้มีพัฒนาเป็น “สุราปรุงพิเศษ” ในปี 2484

สุราปรุงพิเศษ ที่ผลิตขึ้นระยะแรกนี้ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “สุราประเสริฐ” ตามชื่อผู้ปรุงสุราสูตรนี้คือ ประเสริฐ เทพหัสดิน ณ อยุธยา แต่ต่อมาเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส หลวงวิจิตรวาทการ แต่งเพลงปลุกใจชื่อ “ข้ามโขง” ขึ้นมา ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง กรมสรรพสามิตเลยเปลี่ยนชื่อ “สุราประเสริฐ” เป็น “แม่โขง” 

ไม่เพียงเปลี่ยนชื่อแบรนด์ สูตรการปรุงสุราแม่โขงนี้ก็เปลี่ยนแปลงด้วยฝีมือของ “จุล กาญจนลักษณ์” 

จุล กาญจนลักษณ์ โรงงานบางยี่ขัน แม่แขง
ขวาสุดของภาพ จุล กาญจนลักษณ์ ผู้ปรุงสูตร “แม่โขง” ที่โรงงานสุราบางยี่ขัน (ภาพจาก อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายจุล กาญจนลักษณ์ ต.ม. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน 2530)

พ.ศ. 2487 จุล กาญจนลักษณ์ (พ.ศ. 2459-2530) เภสัชกร สังกัดกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ ถูกยืมตัวมาช่วยราชการที่โรงงานเมรัย บางลำพู ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทดลองปรุงสูตร “สุราแม่โขง” ซึ่งได้ผลเป็นเป็นที่น่าพอใจ เมื่อประเสริฐ ผู้ปรุงคนแรกลาออกจากโรงงานสุรายางยี่ขัน กรมโรงงานจึงขอตัวนายจุล มาอยู่ที่โรงงานสุรา ก่อนจะออกจากราชการเพื่อไปทำงานที่โรงงานเมรัยเต็มตัว

1 มกราคม พ.ศ. 2503 รัฐบาลได้อนุญาตให้เอกชน คือ บริษัท สุรามหาคุณ จำกัด ของ สหัท มหาคุณ ที่มี อุเทน เตชะไพบูลย์ และเถลิง เหล่าจินดา เป็นหุ้นส่วน เช่าดำเนินกิจการโรงงานสุรายี่ขัน ภายใต้การควบคุมของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จุลก็โอนมาเป็นลูกจ้างของบริษัท จนได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายโรงงาน

1 มกราคม พ.ศ. 2523 บริษัท สุรามหาราษฎร จำกัด ของ สุเมธ เตชะไพบูลย์ ประมูลเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน นายจุลก็โอนมาเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายโรงงานและผู้เชี่ยวชาญให้กับสุรามหาราษฎร์

พ.ศ. 2524 เถลิง เหล่าจินดา, จุล กาญจนลักษณ์ และเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ (ปัจจุบันคือ เจริญ สิริวัฒนภักดี) ก่อตั้ง บริษัท ที.ซี.ซี. จำกัด (ซึ่งมาจากอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกจากชื่อของทั้ง 3 คน) และต่อมาได้ดำเนินการก่อตั้ง บริษัท สุราทิพย์ จำกัด ภายหลังประมูลโรงงานสุรากรมสรรพสามิต 12 แห่ง

ไม่เพียงแต่ แม่โขง จะเป็นที่ยอมรับของตลาดอย่างกว้างขวาง จุล ยังมีส่วนริเริ่มและผลักดันสุราไทยแบรนด์อื่น ดังที่เจริญ กล่าวไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของจุลว่า

“ โดยเมื่อปี 2518 ท่านได้กรุณาแนะนำผมว่า โรงงานสุราของ บริษัท ธารน้ำทิพย์ จำกัด ดำเนินธุรกิจขาดทุนหากปล่อยให้ล้มไปก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย ควรช่วยกันรักษาไว้จะได้เป็นการพัฒนาสุราพิเศษไปอีกทางหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นนี้ สุราแสงโสมก็เกิดขึ้น และต่อมาก็เกิดหงส์ทอง และสุราทิพย์ ด้วยความอัฉริยะในการปรุงสุราของท่านผู้อำนวยการ [จุล กาญจนลักษณ์]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายจุล กาญจนลักษณ์  ต.ม. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน 2530

สรกล อดุลยานนท์. จอมยุทธน้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้กระตุกหนวดเสือ, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2537.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มกราคม 2567