ผู้เขียน | KruBen WarHistory |
---|---|
เผยแพร่ |
“สุรา” กับ “สงคราม” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกหนึ่งยุทธปัจจัยแนวหน้า-แนวหลัง
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้นก็เหมือนกับกาแฟ มันเป็นเพื่อนคู่ใจของทหารในสงครามและความขัดแย้งหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์มนุษย์ และเป็นสิ่งจำเป็นของทหารทั้งในแนวหน้าและแนวหลัง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์กลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธปัจจัยในกองทัพแต่ละชาติ แอลกอฮอล์ในปริมาณปานกลาง ช่วยคลายความเครียดและส่งเสริมขวัญกำลังใจ
ตัวอย่างเช่น เหล้ารัม เป็นส่วนหนึ่งสำหรับประเพณีทหารเรืออังกฤษซึ่งมีอายุหลายร้อยปี ไวน์และไลท์เบียร์ เป็นเครื่องดื่มหลักของกองทัพฝรั่งเศส ซึ่งสิ่งนี้ก็รวมอยู่ในมื้ออาหารของทหารอังกฤษและอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วยเช่นกัน ที่ประเทศอังกฤษแม้ในช่วงที่เกิดการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดโดยฝีมือของกองทัพอากาศเยอรมัน ผับก็ไม่ปิด และในประเทศสหรัฐอเมริกา การเกิดขึ้นของสงครามได้ช่วยชีวิตอุตสาหกรรมเบียร์เอาไว้อย่างแท้จริง
นี่คือเรื่องราวของ “สุรา” กับ “สงคราม” ในกองทัพแต่ละชาติ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
กองทัพอังกฤษ
ประเพณี ปันส่วนเหล้ารัม ของกองทัพอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกะลาสีเรือของราชนาวี มีขึ้นในราวศตวรรษที่ 17 มีคำกล่าวหนึ่งของทหารที่ว่า “เราเพิ่งดื่มเหล้ารัมไป ผมคิดไม่ออกจริง ๆ ว่าเราจะสู้รบได้ยังไงถ้าไม่มีเหล้ารัม”
อย่างไรก็ตาม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลอังกฤษพยายามผลักดันกฎหมายเพื่อควบคุมการดื่มเหล้ารัม ทั้งในแนวหน้าและแนวหลัง ถึงกับที่ เดวิด ลอยด์ จอร์จ รัฐมนตรีกระทรวงอาวุธยุทโธปกรณ์ของอังกฤษ ซึ่งจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1916 ได้กล่าวว่า “การดื่มสุราทำร้ายเราในสงครามมากกว่าเรือดำน้ำของเยอรมันทุกลำรวมกัน”
แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทัศนคติต่อแอลกอฮอล์ในอังกฤษกลับมีแนวคิดเสรีนิยมมากกว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
ประการแรก เป็นเพราะนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิลล์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงการดื่มว่า “กฎแห่งชีวิตของผม รวมถึงการสูบซิการ์ มันเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง เช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อน และ หลัง ระหว่างมื้ออาหารทุกมื้อ และในช่วงเวลาระหว่างวัน” เชอร์ชิลล์มักจะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยแชมเปญหนึ่งแก้ว หรือจิบวิสกี้เบา ๆ และเขาจะดื่มวิสกี้มากขึ้นระหว่างมื้ออาหาร และเพลิดเพลินกับไวน์ในมื้อกลางวันและมื้อค่ำ
แต่เมื่อสงครามดำเนินต่อไป เหล้ารัมและวิสกี้กลายเป็นสินค้าหายากในอังกฤษ เหล้ารัมถูกจัดหามาจากอาณานิคมโพ้นทะเล และในช่วงต้นทศวรรษ 1940 กองเรือดำน้ำของเยอรมันได้โจมตีเรือสินค้าจนอับปางไปหลายลำ ซึ่งในเรือเหล่านั้นก็บรรทุกเหล้ารัมด้วย
ในปี 1943 สถานการณ์เริ่มวิกฤตจนกองทัพเรือมีแนวคิดจะหยุดการปันส่วนเหล้ารัมโดยสิ้นเชิง แต่พวกเขาก็ไม่กล้าทำลายประเพณีอันเก่าแก่นี้ ขณะเดียวกันผู้ผลิตวิสกี้ในอังกฤษและสก็อตแลนด์ก็ได้รับผลกระทบจากการปันส่วนธัญพืชอย่างเข้มงวดของรัฐบาล
แต่แล้วเบียร์ก็เข้ามาช่วยกู้วิกฤต ส.ส. ส่วนใหญ่ของรัฐบาล สนับสนุนจุดยืนของเชอร์ชิลล์ในเรื่องแอลกอฮอล์ ในปี 1940 ลอร์ด วูลตัน รัฐมนตรีกระทรวงโภชนาการของอังกฤษ สนับสนุนความสำคัญของเบียร์สำหรับแนวหลัง เขากล่าวว่า “ถ้าเราต้องการคงไว้ซึ่งรูปลักษณ์ของชีวิตปกติ เบียร์ต้องถูกผลิตขึ้นมา แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมก็ตาม แต่หน้าที่ของรัฐบาล คือการสนับสนุนไม่เพียงแต่ชีวิต แต่ยังรวมถึงจิตวิญญาณทางศีลธรรมของประเทศด้วย”
ข้อดีอีกอย่างสำหรับรัฐบาลคือ เบียร์ช่วยจ่ายภาษีสำหรับการทำสงคราม เพราะในช่วงตั้งแต่กันยายน 1939 ถึงกรกฎาคม 1940 มีการขึ้นภาษีเพิ่มขึ้นสามเท่า
นอกจากนี้ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผับต่าง ๆ ในอังกฤษก็ไม่ได้ปิดตัวลงแบบในช่วงสงครามโลกครั้งแรก และเบียร์หนึ่งแก้วได้กลายเป็นหนึ่งในวิธียอดนิยมในการต่อสู้กับความเครียดภายในบังเกอร์หลบภัยการโจมตีทางอากาศ อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามยืดเยื้อ การรักษากำลังการผลิตเบียร์ก็ยากขึ้นเรื่อย ๆ โรงเบียร์ในลอนดอนหลายแห่งได้รับความเสียหายจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมัน การหาสถานที่ดื่มก็ยากขึ้นเช่นกัน ภายในปี 1943 ผับมากกว่า 1,000 แห่งถูกทำลายโดยการโจมตีของกองทัพเยอรมัน
เมื่อเบียร์ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาล มันก็ค่อย ๆ ครองใจชาวอังกฤษและเครือจักรภพมากขึ้น จนกลายเป็นค่านิยมที่ไม่เพียงแต่ “แนวหลัง” ในอังกฤษเท่านั้น แต่ยังรวมถึง “แนวหน้า” อีกด้วย
ในปี 1942 ผู้ผลิตเบียร์ชาวอังกฤษได้จัดตั้งคณะกรรมการ “เบียร์เพื่อกองทัพ” พวกเขาจัดเบียร์สำหรับทหาร แม้กระทั่งในพื้นที่ห่างไกลที่สุดของตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หรือแม้กระทั่งหลังจากการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีสำเร็จในปี 1944 เบียร์ก็ถูกส่งไปยังค่ายทหารอย่างเร่งด่วน โดยขนส่งไปกับเครื่องบิน ซึ่งใช้ถังเบียร์ผูกติดกับปีกเครื่องบิน
จุดพีกสุดของการผลิตเบียร์เกิดขึ้นในปี 1944 เมื่อราชนาวีอังกฤษอนุมัติแผนการใหม่ เพื่อจัดหาเบียร์ให้ทหารเรือที่ปฏิบัติการในมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยความช่วยเหลือจากวิศวกร โรงเบียร์ในบริสตอล พวกเขาได้วางแผนสำหรับการสร้าง “โรงเบียร์ลอยน้ำ” ซึ่งสามารถผลิตเบียร์ได้ประมาณ 40,000 ลิตรต่อสัปดาห์
ช่วงฤดูร้อนปี 1945 ได้เริ่มสร้าง “โรงเบียร์ลอยน้ำ” จำนวน 2 แห่ง อย่างไรก็ตาม สงครามสิ้นสุดลงเสียก่อน แต่ก็มีการทดลองผลิตเบียร์ครั้งแรกในทะเล และเปิดใช้งานอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1945 มีการผลิตเบียร์เอลแบบอังกฤษจำหน่ายให้กับลูกเรือและนายทหาร แต่เมื่อสงครามยุติทั้งสองแนวรบ “โรงเบียร์ลอยน้ำ” ก็ถูกรื้อถอน
กองทัพอเมริกัน
สงครามโลกครั้งที่ 2 คือเหตุการณ์ที่ช่วยบรรดาแบรนด์เบียร์ของอเมริกาได้อย่างดี ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้ก่อตั้งบริษัทเป็นผู้อพยพชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 19 และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เกิดความรู้สึกต่อต้านคนเยอรมันในสังคมอเมริกันอย่างมาก พวกเขาเริ่มถูกตราหน้าว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน”
นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวจากผู้ว่าการรัฐวิสคอนซินว่า “พวกเยอรมันเป็นศัตรูของเรา ไม่เพียงแต่ในต่างประเทศ แต่ยังมีที่นี่ในประเทศนี้ด้วย” และศัตรูเยอรมันที่ดุร้าย แสนอันตราย นั่นก็คือ พาปส์ (Pabst) ชลิทซ์ (Schlitz) บลาทซ์ (Blatz) และ มิลเลอร์ (Miller) ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือแบรนด์เบียร์ของอเมริกาในขณะนั้น เพื่อลดกระแสของสังคมที่เกิดขึ้น บริษัทผลิตเบียร์และโรงเบียร์ได้เลิกใช้ภาษาเยอรมันบนฉลากเบียร์ และเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ แต่มันก็ไม่ได้ผล
หลังสิ้นสุดสงคราม เหล่าผู้ผลิตเบียร์ก็พบฝันร้ายครั้งใหม่ ความรู้สึกต่อต้านชาวเยอรมันมีบทบาทในการรณรงค์การออกกฎหมายห้ามขาย ห้ามผลิต และการขนส่งแอลกอฮอล์ในประเทศ ซึ่งมีผลในช่วงปี 1920-1933 ในทางปฏิบัติ กฎหมายห้ามนำไปสู่การเติบโตของอิทธิพลของมาเฟียอเมริกัน รวมถึงการทุจริตในวงกว้างในหน่วยงานตุลาการและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี หลังจากปี 1933 โรงเบียร์ก็เริ่มฟื้นตัวทีละน้อย แต่การผลิตที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีต่อมา เมื่อสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
นักเคลื่อนไหวพยายามรณรงค์ต่อต้านแอลกอฮอล์อีกครั้ง แต่ประธานาธิบดี แฟรงคลิน รูสเวลต์ ที่ยกเลิกกฎหมายห้าม ร่วมกับที่ปรึกษาทางทหารของเขา ตัดสินใจว่า แอลกอฮอล์จะดีต่อขวัญกำลังใจทหาร ไม่เพียงแต่ที่แนวหลัง แต่ยังอยู่ที่แนวหน้าอีกด้วย นี่คือจุดที่ผู้ผลิตเบียร์ได้ประโยชน์ ตามข้อตกลงกับรัฐบาล พวกเขาต้องจัดหาผลิตภัณฑ์ 15% ให้กับทหารอเมริกันสัมปทาน เพียงอย่างเดียวที่รูสเวลต์ทำก็คือ ปริมาณแอลกอฮอล์ในเบียร์ที่แจกจ่ายให้ทหารต้องไม่เกิน 3.2%
ดังนั้น เบียร์อเมริกัน 3.2% จึงกลายเป็นเบียร์หลักของกองทัพสหรัฐฯ และรัฐบาลประกาศว่า การผลิตเบียร์เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในช่วงสงคราม
นี่เป็นนาทีทองของผู้ผลิตเบียร์ จากศัตรูของประชาชนเมื่อวานนี้ พวกเขาได้กลายเป็นต้นแบบของความรักชาติ ผู้ผลิตเปิดตัวแคมเปญโฆษณาจำนวนมาก เพื่อยกย่องวีรบุรุษสงครามและเพื่อชัยชนะ รวมถึงการจ่ายภาษีเพื่อสนับสนุนการผลิตสงคราม และในที่สุดพวกเขาก็มีลูกค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่ทหารหนุ่มที่กลับมาจากสงคราม
ความเป็นมืออาชีพของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งพวกเขาพยายามปันส่วนเบียร์ให้กับทหาร ไม่เพียงแต่ในแนวรบของยุโรปเท่านั้น แต่ยังอยู่ในมุมที่ห่างไกลที่สุดของมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้วย และหลังจากปรึกษากับกองทัพแล้ว ผู้ผลิตหลายรายก็เริ่มทาสีกระป๋องเบียร์ด้วยสีเทามะกอก เพื่อพรางกระป๋องเบียร์อีกด้วย
กองทัพฝรั่งเศส
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นที่นิยมดื่มในกองทัพฝรั่งเศสคือ ไวน์ ในตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพฝรั่งเศสเกิดคำถามที่ว่า พวกเขาควรจัดหาไวน์ให้กับทหารหรือไม่นั้น ไม่ได้ถูกกล่าวถึงเลยด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลก็สงวนแท็งก์ของรถไฟภายในประเทศจำนวนถึง 1 ใน 3 เพื่อขนส่งไวน์ไปยังแนวหน้า และเมื่อพวกเยอรมนีโจมตีฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม 1940 มีรถบรรทุกไวน์จำนวนกว่า 3,500 คัน ลำเลียงไวน์จากสถานีรถไฟไปส่งให้ทหารที่แนวหน้าจำนวนกว่า 2 ล้านลิตรต่อวัน
แต่เมื่อกองทัพเยอรมันยึดครองฝรั่งเศสภายใน 2 เดือน ทัศนคติต่อไวน์ก็เปลี่ยนไป เกิดความคิดในหมู่ประชาชนที่มองว่า มันทำให้ทหาร “อ่อนเกินไป” จนมาถึงจุดที่วีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ 1 จอมพลฟิลิป แปแตง ซึ่งก่อนหน้านี้เชื่อว่าไวน์กอบกู้เอกราชของฝรั่งเศส ก็ได้เริ่มพูดถึงความมึนเมาซึ่งเป็น “บ่อนทำลายเจตจำนงของกองทัพสู่ชัยชนะ” นอกจากนี้ เขายังเข้าข้างพวกเยอรมัน และเป็นหัวหน้ารัฐบาลวิชี ซึ่งเป็นรัฐหุ่นเชิดของนาซีเยอรมันอีกด้วย
ด้วยความคิดริเริ่มของเขา จึงมีการสั่งให้จำกัดและควบคุมการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นครั้งแรก โดยแปเตงสั่งให้ออกกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี
ภูมิภาคของฝรั่งเศสที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ ได้แก่ เบอร์กันดี, บอร์โด และแชมเปญ ต่างได้รับผลกระทบจากการถูกยึดครอง ผู้ผลิตบางรายจำต้องเปลี่ยนฉลากบนขวดไวน์ที่แพงที่สุด หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนไวน์ในขวดเป็นน้ำเปล่า แต่มันก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะพวกเยอรมันขนเอาไวน์และแชมเปญจากชาวฝรั่งเศสไป ทั้งการซื้อแบบกดราคา และการปล้นสะดมซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด
ปฏิบัติการเหล่านี้ของทหารเยอรมัน ได้รับคำสั่งตรงจากหนึ่งในผู้นำนาซีที่เป็นปีศาจสุรานามว่า จอมพลอากาศแฮร์มันน์ เกอริง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน ในห้องใต้ดินของบ้านพักตากอากาศของเขา มีไวน์ แชมเปญ และวิสกี้ ที่ยึดมาจากฝรั่งเศส และที่อื่น ๆ จำนวนกว่าหมื่นขวด
อย่างไรก็ตาม คำสั่งซื้อและการเข้าไปปล้นของพวกเยอรมันนี้ก็มีประโยชน์สำหรับเหล่านักสู้กองกำลังใต้ดินของฝรั่งเศส พวกเขาสังเกตว่า ทุกครั้งที่มีคำสั่งซื้อหรือเข้ามาปล้นชิงจำนวนมากจากภูมิภาคแชมเปญ ไม่นานหลังจากนั้น มักจะตามมาด้วยกองทัพเยอรมันเปิดฉากการบุกขนานใหญ่แทบทุกครั้ง ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถทำนายจุดเริ่มต้นการบุกของเยอรมันในแอฟริกาเหนือ และส่งต่อข้อมูลนี้ไปยังหน่วยข่าวกรองของอังกฤษ ซึ่งเป็นประโยชน์และส่งเสริมชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรในแอฟริกา
กองทัพเยอรมัน
สำหรับกองทัพเยอรมัน ในตอนแรกทหารเยอรมันได้รับอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อส่งเสริมขวัญกำลังใจ แต่ทัศนคตินี้เปลี่ยนไป หลังจากการยึดครองฝรั่งเศส ท่านผู้นำ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งไม่ดื่มสุรา ได้ออกแถลงการณ์ว่า “ผมคาดหวังว่าทหารหาญแห่งกองทัพเยอรมัน ที่ประพฤติตนเป็นทาสสุรา และได้ก่อคดีอาญาอันเนื่องมาจากการดื่มสุราจะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง”
ช่วงที่รัฐบาลนาซีเยอรมันเถลิงอำนาจปกครองประเทศ นโยบายของชาติที่อิงจากความต้องการของตัวท่านผู้นำ ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อบังคับให้ชาวเยอรมันต้องปฏิบัติตาม มีทั้งการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในเยอรมัน และสั่งให้มีการจำกัดการผลิตและการจำหน่ายอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มบทลงโทษในกฎหมาย ในคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นขณะมึนเมา ให้มีโทษถึงประหารชีวิต
โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วทั้งเยอรมัน ได้รับคำสั่งให้นำผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังเข้ารับการรักษา และต้องมีการประเมินอาการว่าผู้ป่วยนั้นหายเป็นปกติ แต่ถ้าหากว่าพวกเขายังไม่หาย หรือหายแล้วแต่กลับไปติดสุราเช่นเดิม พวกเขาจะถูกจับและส่งไปยังค่ายกักกัน
ทว่ากฎหมายที่แสนเคร่งครัดเรื่องนี้กลับบังคับใช้แค่ในเยอรมันเท่านั้น ขณะที่ทหารในแนวหน้าสุดของการรบ และพื้นที่ยึดครองต่าง ๆ ของเยอรมัน ยังภักดีต่อแอลกอฮอล์มิเสื่อมคลาย เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังเป็นสิ่งสร้างขวัญกำลังใจทหารต่อไป และพวกเขาได้มันมาทั้งจากการซื้อ การมอบให้จากชาวบ้านในท้องที่ การยึดได้จากข้าศึก หรือการปล้นชิง
แต่ความมึนเมาด้วยฤทธิ์สุรา กลายเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการสังหารผลาญชีวิตชาวยิวในค่ายมรณะ บุคลากรของเอสเอส ที่ดูแลการรมแก๊ส หรือควบคุมชาวยิว ได้รับการปันส่วนแอลกอฮอล์เพิ่มเติม และเอสเอสถือว่าการดื่มของพวกเขาในระหว่างการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติงาน หนึ่งในผู้ที่รอดชีวิตจากค่ายเทปบลิงก้า เล่าว่า “ในทุก ๆ วัน ผมเห็นเจ้าหน้าที่ในค่าย มือข้างซ้ายถือปืน ส่วนมือข้างขวาถือขวดเหล้า”
กองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียต
ก่อนหน้าที่โซเวียตจะเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคคอมมิวนิสต์ได้ออกกฎหมายควบคุมการผลิต จำหน่าย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่แล้วมันก็ถูกยกเลิกในปี 1940 เมื่อสหภาพโซเวียตรุกรานฟินแลนด์ หลังจากนั้น จึงมีกฎให้พลทหารและนายทหารได้รับอนุญาตให้ดื่มวอดก้าได้ 100 กรัมต่อวัน เนื่องจากความหนาวเย็นของภูมิภาคและฤดูกาล
หลังจากที่กองทัพเยอรมันยกพลบุกสหภาพโซเวียต ทหารโซเวียตก็เริ่มได้รับการแจกจ่ายวอดก้า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1941 พรรคคอมมิวนิสต์จำต้องใช้มันเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจให้ทหารในสนามรบ ซึ่งวอดก้าเป็นตัวเลือกเดียวที่หาง่าย และประหยัดงบประมาณ ขณะเดียวกัน การปันส่วนก็มีความแตกต่างจากกองทัพอื่น ๆ ทหารโซเวียตได้รับอนุญาตให้ดื่มก่อนการโจมตี ไม่ใช่หลังจากการรบจบลง เพื่อผ่อนคลายและบรรเทาความเครียด
ทหารราบโซเวียตคนหนึ่ง บอกเล่าถึงวอดก้าในสนามรบว่า
“ผมออกรบมาตั้งแต่ปี 1942 และจำได้ว่าวอดก้าถูกแจกจ่ายให้ดื่มก่อนการเข้าตีเท่านั้น สหายหัวหน้าหน่วยเดินเข้ามาในสนามเพลาะ พร้อมกับเหยือกที่เต็มไปด้วยวอดก้า และใครก็ตามที่ต้องการดื่ม ก็จะรินมันใส่แก้วหรือภาชนะต่าง ๆ และดื่มมัน โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ดื่มก็จะเป็นทหารหนุ่มอายุน้อย ซึ่งดื่มมันราวกับดื่มน้ำเปล่า หลังจากนั้นพวกเขาก็จะหมอบคลานไปกับพื้นดินด้วยความกลัว และถูกคมกระสุนปลิดชีพ คนที่รอดชีวิตหลังจากการรบจบลง ก็จะดื่มวอดก้าอย่างพิถีพิถันอย่างยิ่ง”
ตลอดช่วงปี 1944 หลังยุทธการบรากาติออนของกองทัพแดงเริ่มขึ้น กองทัพเยอรมันล่าถอยออกจากทุกแนวรบในสหภาพโซเวียต และพวกเขาพยายามขัดขวางการเคลื่อนพลของกองทัพแดงด้วยทุกวิธีที่มี ทั้งการทำลายถนน สะพาน และทางรถไฟ รวมทั้งการทิ้งสุราและเบียร์จำนวนมากเอาไว้ โดยพวกเขาหวังว่า เมื่อพวกโซเวียตมาถึง ทหารจะพากันดื่มจนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเคลื่อนพลและการรบ
ทว่ากองทัพเยอรมันกลับประเมินขีดความสามารถในการดื่มของทหารโซเวียตต่ำเกินไป พวกเยอรมันหารู้ไม่ว่า พวกอีวานเคลื่อนพลด้วยสุรา เพราะทหารโซเวียตได้รับอนุญาตให้ดื่มก่อนการโจมตีเสมอ ไม่ใช่หลังจากการรบจบลง นอกจากนี้ สุราและเบียร์ที่ยึดได้กลับทำให้ทหารโซเวียตเมามายจนขาดสติและวินัย อันส่งผลให้เกิดการปล้นชิงทรัพย์สิน และข่มขืนสตรีตลอดเส้นทางการรุกอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ฮานส์ สชาฟ อดีตเซลส์แมนขายผ้า ผู้พลิกกลยุทธ์สอบปากคำเชลยทหารพันธมิตร
- ฮิตเลอร์รื้อ-สร้างการศึกษา ปลูกฝัง “ยุวชนฮิตเลอร์” สู่พลเมืองนาซีที่ภาคภูมิชาติอารยัน
- เหตุการณ์พักรบวันคริสต์มาส ปี 1914 จากจดหมายและบันทึกของทหารในสนามรบ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://warontherocks.com/2015/06/a-farewell-to-sobriety-part-two-drinking-during-world-war-ii/
https://justbeerapp.com/article/alcohol-during-war
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2566