ผู้เขียน | KruBen WarHistory |
---|---|
เผยแพร่ |
ฮานส์ สชาฟ (Hanns Scharff) อดีตเซลส์แมนขายผ้า ไม่ได้มีชื่อปรากฏอย่างโดดเด่นในทำเนียบนายทหารเยอรมันยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะจอมพล นายพล และนายทหารคนอื่น ๆ ได้สร้างชื่อเสียงจากผลงานการวางแผนการรบ และการรบไว้มากมาย เกินกว่าจะมีชื่อของเขาเข้าไปร่วมอยู่ได้ จ่าอากาศตรี ฮานส์ สชาฟ ไม่ใช่ทหารที่รบอยู่ในแนวหน้าสุดของยุทธภูมิต่าง ๆ เพราะหน้าที่เขาอยู่ในแนวหลัง และงานของเขาคือสิ่งที่ทหารฝ่ายตรงข้ามต่างพากันเกรงกลัวที่สุด เพราะเขาคือผู้สอบปากคำเชลยทหารพันธมิตร
ฮานส์ สชาฟ เกิดที่ราสเทนแบร์ก ปรัสเซียตะวันออก ใน ค.ศ. 1907 เป็นบุตรคนที่ 2 จากทั้งหมด 3 คน พ่อของเขาเป็นนายทหารในกองทัพ และเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1917 โชคดีที่สถานะการเงินของครอบครัวจัดอยู่ในฐานะที่มั่นคงพอสมควร แม้พ่อจะเสียชีวิตในสงคราม แต่แม่ก็มีธุรกิจสิ่งทอที่ดำเนินธุรกิจสืบต่อมาจากคุณตา
เยอรมนียุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือสิ่งที่บีบให้ทุกคนต้องปากกัดตีนถีบ เมื่อสชาฟเรียนจบ และโตพอจะช่วยงานได้ เขาก็มาร่วมช่วยเหลืองานในธุรกิจครอบครัวด้วยการเสนอขายสิ่งทอที่โรงงานเขาผลิต เขาเรียนรู้เรื่องการจัดการ การผลิต และการขายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งดูแล้วชีวิตของเขาก็ไม่น่าจะมาข้องเกี่ยวอะไรกับกองทัพหรือการทำสงคราม เขาควรดูแลกิจการและขยายธุรกิจครอบครัวต่อไป
โชคดีที่ธุรกิจของครอบครัวเขาไปได้ดี นั่นจึงทำให้มีการเปิดสาขาที่เมืองโยฮานเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ ด้วยเหตุนี้หนุ่มสชาฟจึงเดินทางไปที่นั่นเพื่อดูแลธุรกิจ เขาอยู่ที่นี่นานถึง 10 ปี จนพบรักกับสาวชาวอังกฤษ คือ มากาเร็ต สโตรก บุตรสาวของนายทหารอากาศอังกฤษ เรืออากาศเอกคลาว สโตรก นักบินของรอยัลแอร์ฟอร์ซ ที่ประจำการอยู่ในโรดีเซีย
ช่วงฤดูร้อนปี 1939 เขาพาครอบครัวเดินทางกลับไปเยี่ยมญาติที่เยอรมนี และนั่นเองที่ทำให้เขาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาถูกเกณฑ์เข้าร่วมในกองทัพบกเยอรมนี และเข้าค่ายฝึก จนกระทั่งปี 1941 เขาจะต้องถูกส่งไปรบกับกองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียต
การมาเที่ยวเยอรมนีในครั้งนี้ จึงกลับกลายเป็นการจากลาภรรยาและลูกน้อยทั้ง 3 ซึ่งตอนนั้นแนวรบด้านตะวันออกทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกขณะ นั่นเป็นสิ่งที่ มากาเร็ต สโตรก ภรรยาสุดที่รักของเขาทนไม่ได้ที่จะเห็นสามีของเธอตายอยู่ในดินแดนอันห่างไกลของโซเวียต
คุณนายสโตรกรวบรวมเงินและความกล้า เดินทางไปที่กรุงเบอร์ลินเพื่อขอเข้าพบนายพลเยอรมันคนสำคัญที่ดูแลรับผิดชอบการรบในโซเวียต เธอใช้เงินติดสินบนนายทหารติดตามของนายพลเหล่านั้นเพื่อขอเข้าพบ เธอพูดโน้มน้าวให้ย้ายสามีของเธอไปทำหน้าที่อื่น ๆ ในกองทัพที่ไม่ใช่การรบในแนวหน้า ด้วยเหตุผลว่า สามีของเธอสามารถฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และเขาสามารถช่วยเหลือกองทัพได้ดีจากความรู้ด้านภาษาของเขา ด้วยเหตุผลและของขวัญพิเศษในการเข้าพบนายทหารของกองทัพเยอรมนี ก็ช่วยทำให้สามีของเธอถูกย้ายไปทำหน้าที่ “ล่าม” ที่เมืองไมนส์ในที่สุด
สงครามทางอากาศเหนือแผ่นดินเยอรมนี ในปี 1943 ทวีความดุเดือดมากยิ่งขึ้น เมืองต่าง ๆ ของเยอรมนี และพื้นที่ในเขตยึดครองถูกทิ้งระเบิด ซึ่งแน่นอนว่ามีเครื่องบินพันธมิตรทั้งของอเมริกาและอังกฤษถูกยิงตกไปเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาก็คือ เหล่าบรรดาเชลยศึกทหารอากาศพันธมิตรที่ถูกจับได้ ซึ่งก่อนจะถูกส่งไปค่ายเชลยศึก พวกเขาจะต้อง “ถูกสอบปากคำ” เสียก่อน
การสอบปากคำเชลยศึกเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความอดทน กว่าที่บรรดาเชลยเหล่านี้จะปริปากพูดบางอย่างที่อาจเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเรื่องโกหก เชลยสงครามมักจะพูดประโยคเดิม ๆ ด้วยการบอกเพียงแค่ชื่อกับยศของตัวเองเท่านั้น
บ่อยครั้งที่การสอบปากคำ เริ่มต้นด้วยการนั่งคุยกัน แต่มันกลับจบลงด้วยเลือดที่นองอยู่บนพื้น หรือเชลยที่เข้ามาถูกหามออกไป อันเป็นผลมาจากการทรมานเพื่อให้พูดในสิ่งที่ผู้สอบปากคำต้องการจะรู้ และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากเชลยศึกที่เข้ามาในห้องนี้จะเข้ามาแบบมีชีวิต และออกไปจากห้องโดยหมดลมหายใจ สนธิสัญญาใด ๆ มันไร้ความหมาย เมื่อวินาทีของความเป็นความตายระหว่าง “คนถามและคนตอบ” ในห้องสี่เหลี่ยมแห่งโชคชะตานี้เริ่มขึ้น
กองทัพอากาศเยอรมนีทำหน้าที่สอบปากคำเชลยสงครามจำนวนมาก พวกเขามีเชลยศึกเข้ามาทุกวัน แต่บุคลากรที่มีอยู่นั้นก็น้อยมาก ถึงแม้กองกำลังเอสเอสจะพยายามเข้ามาเสนอตัวช่วยในการสอบปากคำเชลยสงคราม แต่พวกเอสเอสก็มักจะทำเสียเรื่องมากกว่าได้เรื่อง เพราะอุดมการณ์ของพวกเขาเอง นั่นจึงทำให้มีการเสนอชื่อ ฮานส์ สชาฟ มาทำหน้าที่นี้ เขาถูกย้ายจากทหารบกมาเป็นทหารอากาศ และติดยศใหม่เป็น “จ่าอากาศตรี“
ฮานส์ สชาฟ ทำหน้าที่แปลภาษาร่วมกับนายทหารที่ทำหน้าที่สอบปากคำ เขาเฝ้าดูวิธีการและขั้นตอนที่ทหารเยอรมันสอบปากคำเชลยสงคราม และทำให้เขารู้ว่าแม้ทหารพันธมิตรจะยอมอ้าปากพูดบางอย่างออกมาหลังจากถูกทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ แต่มันคือการพูดเพื่อให้ยุติความเจ็บปวด และฝ่ายเยอรมนีเองก็จะเสียเวลาไปกับการทรมานคนเพื่อให้ได้ยินเรื่องโกหก
เขาเสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีสอบปากคำใหม่ทั้งหมด และทำให้การสอบปากคำกลายเป็น “การสนทนาแบบผ่อนคลายระหว่างคนสองคน“ สชาฟจึงกลายมาเป็นล่ามและผู้สอบปากคำ โดยไม่เคยได้รับการฝึกฝนเรื่องการสอบปากคำจากที่ใดมาก่อนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทุกอย่างที่เขากำลังทำคือสิ่งที่เขาเฝ้าดู เฝ้าจดจำ และประเมินมันด้วยตัวเองทั้งสิ้น
เทคนิคในการสอบปากคำของเขาก็คือ จะไม่มีการทำร้ายร่างกาย การบังคับขู่เข็ญดูหมิ่นใด ๆ ทั้งสิ้น จนทำให้หลายคนสงสัยและกังขาว่า เขากำลังใจอ่อนต่อข้าศึกจนเกินไปหรือเปล่า? เพียงเพราะภรรยาของเขาเป็นคนเชื้อชาติของศัตรู เลยทำให้เขาเกิดความสงสารและเห็นใจคนพวกนี้หรือ?
เทคนิคของจ่าอากาศตรี ฮานส์ สชาฟ ในการสอบปากคำก็คือ
1. เขาสร้างภาพลวงตาทุกอย่างเพื่อลวงให้เชลยศึกเชื่ออย่างสนิทใจว่า “พวกเรารู้แล้วทุกอย่างเกี่ยวกับพวกคุณ“ นั่นจึงทำให้เชลยส่วนใหญ่มักเชื่อว่า ผู้สอบปากคำรู้ทุกอย่างแล้ว ดังนั้น เขาจึงไม่มีอะไรจะเสียและยอมตอบคำถาม
2. เขาใช้การสนทนาที่เป็นมิตร ทำบรรยากาศให้ผ่อนคลายในการสนทนา และไม่ทำให้เชลยสงครามคิดว่าเขากำลังถูกสอบปากคำ แต่กำลังคุยกับเพื่อนใหม่ชาวเยอรมัน
3. เขาไม่รีบเร่งที่จะถามข้อมูลใด ๆ จากเชลยศึก แต่ปล่อยให้บรรยากาศและความตึงเครียดลดลงก่อน
4. เขารับฟังข้อมูลทุกอย่างจากเชลยศึกเอาไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยมายืนยันในภายหลัง
5. เขามักจะทำทีว่าไม่สนใจเมื่อเชลยศึกพูดเกี่ยวกับข้อมูลการทหารของฝ่ายตนเอง แต่ทำทีเป็นสนใจเรื่องราวชีวิตของเชลยในช่วงก่อนสงคราม
สชาฟพัฒนาเทคนิคหลายอย่างที่ช่วยเขาในการสอบสวน เขาเสนอให้ความช่วยเหลือและให้ในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ในห้องสอบปากคำเชลยที่เขาทำหน้าที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ขวดเหล้า และควันบุหรี่จากการดื่มอย่างเมามายกับเชลยศึก หรือแม้กระทั่งให้โสเภณีเข้ามาบริการเชลยศึกจนเสร็จกิจเสียก่อน แล้วสชาฟจึงกลับมาพูดคุย ไม่เพียงแต่ทหารอากาศของฝ่ายพันธมิตรเท่านั้น เชลยศึกทหารบกก็ถูกส่งมาให้เขาสอบปากคำเช่นกัน
จิตวิทยาของสชาฟ คือการเข้าใจถึงพื้นฐานความเป็นมนุษย์มากที่สุด ทหารที่จากบ้านมาไกล แล้วกลับต้องมาเดียวดายอยู่ในดินแดนข้าศึกเพียงลำพัง ความรู้สึกเดียวที่มีและมันเต็มอยู่ในอกของเชลยศึกพวกนี้ก็คือ “ความกลัว” และชีวิตการเป็นเชลยสงครามที่อยู่ในกำมือของข้าศึกหาความแน่นอนใด ๆ ไม่ได้ เป็นสภาพที่ไม่มีผู้ใดปรารถนา นั่นจึงทำให้สชาฟมองเห็นโอกาสที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์ในการทำให้เชลยบอกข้อมูลต่าง ๆ ที่เขาต้องการ โดยที่ตัวเชลยศึกเองก็ไม่รู้ตัวเช่นกัน
ทักษะเหล่านี้ทำให้เขาสามารถล้วงข้อมูลสำคัญจากเชลยโดยไม่ต้องใช้กำลังหรือการบีบบังคับ นอกจากนี้ เขาเก่งในการปกปิดท่าทีความต้องการของตนเองในการสนทนาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เขาต้องการ เชลยศึกมักเชื่ออย่างสนิทใจว่าพวกเขาไม่ได้พูดหรือบอกข้อมูลใด ๆ กับสชาฟ
เพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเชลยเชื่ออย่างนั้นนั่นก็เพราะว่า เขากำลังคุยกับทหารเยอรมันยศต่ำ เพียงแค่ยศ “จ่าอากาศตรี“ เท่านั้น (สชาฟจะใส่เครื่องแบบทหารเข้าไปสอบปากคำด้วยตนเอง) หาใช่นายทหาร หรือพวกเกสตาโป หรือเอสเอส แต่อย่างใด และภาษาอังกฤษที่พูดออกมาจากปากของเขา สำเนียงของมันชัดเจนราวกับว่าเขาคือคนอังกฤษ
สชาฟไม่ได้ทำงานนี้เพียงลำพัง หนึ่งในบุคคลสำคัญที่สุดที่ทำงานร่วมกับเขาก็คือ สุภาพสตรีนามว่า เฟราท์ บีฮ์เลอร์ เธอเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสอบปากคำของสชาฟ และด้วยข้อมูลที่เธอได้มานั้น ทำให้เยอรมนีทราบได้ว่าเชลยคนนี้เป็นทหารจากประเทศอะไร หน่วยที่ประจำการอยู่ที่ใด ชื่อ นามสกุล, เหรียญตรา, จดหมาย, เอกสารแสดงตนที่ปลอมแปลงขึ้นโดยกองกำลังใต้ดิน, ภาพถ่าย, และอื่น ๆ ที่สำคัญอีกมากมาย พวกเขาสามารถทราบได้ว่าเชลยศึกคนนี้มาจากที่ใด เขาเป็นนักบินขับไล่หรือทิ้งระเบิด รวมทั้งประเภทของเครื่องบิน
หนึ่งในเชลยศึกที่สชาฟเคยสอบปากคำคือ พันโทฟรานซิส เก็บบี้ การเบรสกี้ เสืออากาศอเมริกันคนสำคัญในสมรภูมิยุโรป ก่อนจะมาสอบปากคำนั้นสชาฟรู้เรื่องของยอดนักบินอเมริกันคนนี้ดี เขาแสดงความเคารพและยินดีมากที่ได้พบกับนายทหารอเมริกันคนนี้ นอกจากนี้นายทหารคนอื่น ๆ ของกองทัพสหรัฐฯ ก็เคยผ่านการสอบปากคำจากเขามาแล้ว เช่น พันโทโรเบิร์ต เซมเคอ, พันตรีดอน บีสัน, ร้อยเอกจอน กอดฟรีย์, พันโทชาร์ล สตาร์ก ทั้งหมดเคยถูก “จ่าอากาศตรีเยอรมันหลอกให้พูดโดยไม่รู้ตัว“
ความสามารถของสชาฟจึงกลายเป็นที่เลื่องลือในกองทัพเยอรมนีอย่างมาก เพราะมันเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนตั้งรับการโจมตีทางอากาศของฝ่ายพันธมิตร ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรก็ทราบดีว่าเยอรมันมีเทคนิคในการสอบปากคำ โดยพวกเขาเข้าใจว่านี่คงเป็นหมอด้านจิตวิทยา หรือศาสตราจารย์ด้านนี้โดยตรง จึงสามารถทำให้เชลยยอมปริปากพูดได้
ฝ่ายพันธมิตรย้ำเป็นหนักหนาให้ทหารของตนเองว่า หากจำเป็นต้องสละเครื่องบิน กระโดดร่มลงดินแดนข้าศึก พวกเขาต้องหนี เพราะพวกเยอรมันมีศาสตราจารย์ด้านการสอบปากคำ ที่จะทำให้พวกเขาคายความลับทางทหารได้ โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วเป็นฝีมือของ “จ่าอากาศตรี อดีตเซลส์แมนขายผ้า“
เมื่อสงครามยุติ สชาฟมอบตัวกับทหารอเมริกัน และด้วยวิธีสอบปากคำแบบสบาย ๆ ของเขา ทำให้นายทหารอเมริกันและอังกฤษที่เคยถูกเขาสอบปากคำ ช่วยนำเขาออกมาจากค่ายเชลยสงคราม และทำเรื่องให้เขาได้ไปตั้งรกรากใหม่ที่อเมริกาในปี 1948
ที่นี่เองเขาใช้เวลาเขียนเรื่องราวการทำงานของตนเองในช่วงสงครามลงในนิตยสารที่ชื่อ อาโกซี่ Argosy Magazine ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ทราบเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และเชิญให้เขามาอธิบายถึงวิธีการต่าง ๆ ที่เขาทำ เพื่อเป็นคู่มือในการสอบปากคำของกองทัพอเมริกันต่อไป
ฮานส์ สชาฟ ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างสงบและลาโลกนี้ไปในปี 1992 ด้วยวัย 84 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- แมวศึกจารึกโลก! “กองพลแมวเหมียว” ยุทธปัจจัยการรบสมัยสงครามโลก
- การยิงถูกฝ่ายเดียวกันในสงครามโลก อุบัติเหตุจากการสื่อสารที่ผิดพลาด
- ร่องรอยหลักฐานทหารที่ “รักเพศเดียวกัน” ในสงครามโลก สมรภูมิชีวิตที่จำต้องปิดซ่อน
อ้างอิง :
https://theuijunkie.com/hanns-scharff-interrogation-techniques/
https://www.latimes.com/nation/la-na-fbi-nazi-interrogator-20160610-snap-story.html
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2565