การยิงถูกฝ่ายเดียวกันในสงครามโลก อุบัติเหตุจากการสื่อสารที่ผิดพลาด

สนามเพลาะของทหารเยอรมนีที่เมือง Aisne ในฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1914

“กระสุนมันไม่มีตา มันแยกแยะไม่ได้ว่าใครเป็นมิตรเป็นศัตรู เมื่อมันพุ่งไปหาใคร ความตายย่อมมาเยือนคนที่ขวางทางมัน” 

นี่เป็นคำพูดที่จริงแท้และอธิบายให้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ในประวัติศาสตร์การทำสงครามของมนุษย์มีหลายครั้งที่อาวุธของฝ่ายตนเอง ซึ่งตั้งใจจะสังหารผลาญชีวิตทหารฝ่ายตรงข้าม แต่มันกลับสร้างความสูญเสียให้แก่ฝ่ายเดียวกันโดยไม่ได้ตั้งใจ การอยู่ผิดที่ ผิดเวลา ที่เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญน่าขนลุก ได้นำความสูญเสียที่ไม่น่าเกิดขึ้นให้บังเกิดกับฝ่ายตนเอง แม้อาวุธจะถูกพัฒนาไปมากเท่าใดแต่เหตุการณ์เหล่านี้ก็มักจะเกิดขึ้นเสมอ ๆ ในสงคราม

สงครามโลกทั้งสองครั้ง แม้อาวุธจะถูกพัฒนาไปมากทั้งในเรื่องของอำนาจการทำลายและความแม่นยำ แต่เหตุการณ์ยิงถูกพวกเดียวกันในสงครามก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง มีความพยายามอย่างมากที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียของกำลังพลโดยน้ำมือฝ่ายเดียวกัน แต่บางครั้งก็ไม่สามารถหยุดยั้งเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นเหล่านี้ได้ นี่คือเรื่องราวของเหตุการณ์การยิงถูกฝ่ายเดียวกันเองในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2

สงครามโลกครั้งที่ 1

สมรภูมิโบลิมอฟ (Battle of Bolimow)

วันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1915 กองทัพที่ 9 ของเยอรมนีเปิดฉากการโจมตีขนานใหญ่ด้วยปืนใหญ่กระสุนแก๊สพิษเป็นครั้งแรก ต่อกองทัพที่ 2 ของรัสเซียในโปแลนด์ ยิงถล่มด้วยกระสุนแก๊สพิษจำนวนกว่า 18,000 นัด ทว่าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น สายลมกลับพัดพาแก๊สพิษที่ควรจะสังหารทหารรัสเซีย ถูกพัดพากลับเข้าไปหาทหารเยอรมัน

นั่นจึงทำให้ทหารเยอรมันบาดเจ็บล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ยอดการสูญเสียจากลมเปลี่ยนทิศในครั้งนี้สูงกว่าในช่วงการรบฤดูหนาว นั่นจึงทำให้แผนการโจมตีต่อแนวรบรัสเซียของเยอรมนีถูกยกเลิก และกลับทำให้ฝ่ายรัสเซียฉวยโอกาสนี้รุกโต้ตอบด้วยการยิงถล่มจากปืนใหญ่และส่งทหารราบรุกเข้าตีแนวรบเยอรมนีพร้อมทั้งขับไล่และยึดพื้นที่ของเยอรมนีได้บางส่วน

สนามเพลาะของทหารเยอรมนีที่เมือง Aisne ในฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1914

สมรภูมิเมืองลอส (Battle of Loos)

วันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1915 ในการโจมตีด้วยแก๊สครั้งแรกของกองทัพอังกฤษ โดยหวังจะใช้แก๊สพิษทำลายแนวรับเยอรมนีและส่งทหารราบบุกเข้าตีซ้ำเพื่อยึดที่มั่นเยอรมนีให้ได้ กองทัพอังกฤษใช้แก๊สคลอรีนประมาณ 140 ตัน (140,000 กิโลกรัม) ปล่อยออกไปหวังให้ลมพัดพาแก๊สพวกนี้ลอยไปยังแนวรบเยอรมนี

แต่โชคกลับไม่เข้าข้างฝ่ายอังกฤษ ลมที่กำลังพัดพาแก๊สลอยไปกลับเปลี่ยนทิศทาง และพัดมันย้อนกลับมาที่สนามเพลาะของอังกฤษ ตอกย้ำความซวยด้วยความไร้ประสิทธิภาพของหน้ากากป้องกันแก๊สพิษที่ฝ่ายอังกฤษใช้งาน หน้ากากกันแก๊สกลับทำให้ทหารหลายนายหายใจไม่ออก ทหารหลายนายจึงถอดมันออก ทหารอังกฤษกว่า 30 นายเสียชีวิตทันที และอีกกว่า 2,000 นายบาดเจ็บจากแก๊สที่ตนเองหวังใช้เล่นงานข้าศึก

สมรภูมิแวร์เดิง (Battle of Verdun)

วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1916 ป้อมปราการดูมองท์ (Douaumont) ของฝรั่งเศสถูกทหารราบเยอรมันยึดเอาไว้ได้ เมื่อการรบยุติลงทหารราบเยอรมันเข้าไปในป้อมและหยุดพักทำอาหารอยู่ภายใน หนึ่งในทหารเยอรมันคนหนึ่งที่จุดไฟประกอบอาหาร บังเอิญสะเก็ดไฟโดนเข้ากับถังน้ำมันเชื้อเพลิงจนก่อให้เกิดไฟลุกขึ้นไปทั่วบริเวณทันที และมันยังไปจุดชนวนให้ลังกระสุนระเบิดขึ้นตามด้วย ทหารเยอรมันหลายร้อยนายเสียชีวิตทันทีในเปลวเพลิง

แต่สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้รอดชีวิตและบาดเจ็บถูกไฟลวกตามร่างกายจนตัวดำและพยายามกระเสือกกระสนกลับไปยังแนวรบเดิมของฝ่ายตนเอง ช่างโชคร้ายที่พวกเขาถูกทหารฝ่ายเดียวกันระดมยิงใส่เพียงเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นทหารชาวแอฟริกันของกองกำลังอาณานิคมฝรั่งเศส นั่นจึงทำให้ทหารเยอรมันทั้งหมด 679 นายเสียชีวิตในกองเพลิงและถูกฝ่ายเดียวกันยิงใส่ในครั้งนี้

เรือดำน้ำอังกฤษ HMS G9

ท่ามกลางสภาพอากาศอันเลวร้ายของคืนวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1917 เรือดำน้ำอังกฤษเรือหลวงจี 9 (HMS G9) ถูกเข้าใจผิดโดยเรือพิฆาตของฝ่ายเดียวกันคือเรือหลวงแพสลีย์ ซึ่งคิดว่าเรือหลวงจี 9 เป็นเรือดำน้ำเยอรมัน และกำลังจะโจมตีด้วยตอร์ปิโดต่อเรือหลวงแพสลีย์ กัปตันเรือหลวงแพสลีย์พุ่งชนเรือดำน้ำลำนี้อย่างเต็มกำลัง แรงปะทะทำให้เรือหลวงจี 9 ขาดออกเป็นสองท่อนและจมลงอย่างรวดเร็ว กว่าที่จะรู้ว่าเป็นเรือฝ่ายเดียวกันก็สายไปเสียแล้ว มีลูกเรือของเรือหลวงจี 9 เพียงคนเดียวเท่านั้นที่รอดชีวิตมาได้

เรอดำน้ำ HMS G9 ของกองทัพเรืออังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1

กองพันที่หายไป

วันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1918 ทหารราบจำนวน 9 กองร้อย จากกองทหารราบที่ 77 ของกองทัพสหรัฐฯ เคลื่อนพลรุกเข้าสู่ชาร์เลอโว (Charlevaux) ในการรบครั้งนี้ก็ให้เกิดวีรกรรมที่กลายเป็นที่รู้จักในฐานะ “กองพันที่หายไป” หรือ “Lost Battalion” หลังจากโอบล้อมโดยทหารเยอรมัน พวกเขายังถูกระดมยิงจากปืนใหญ่ของฝ่ายเดียวกันเองเป็นเวลาหลายชั่วโมง เนื่องจากพิกัดในการยิงปืนใหญ่ที่ไม่ถูกต้อง ผู้บังคับกองพันพันตรีชาร์ล วิธเทิลซีย์  ใช้นกพิราบตัวสุดท้ายของเขาชื่อเชอร์ แอมมี่ (Cher Ami) เพื่อส่งข้อความกลับไปบอกให้ปืนใหญ่หยุดยิง

เครื่องบินลาดตระเวน

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เปิดฉากขึ้น ราชนาวีอังกฤษได้ส่งเครื่องบินออกบินลาดตระเวนในเขตพื้นที่ประเทศฝรั่งเศส เครื่องบินลาดตระเวนนี้เป็นเครื่องบินไม่ติดอาวุธและไม่ได้ทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ใด ๆ ที่ลำตัวเครื่องบินเลย เมื่อมันบินลาดตระเวนผ่านแนวทหารฝรั่งเศสที่อยู่เบื้องล่าง ทหารฝรั่งเศสเข้าใจว่าเครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องบินเยอรมนี

ดังนั้น พวกเขาจึงใช้อาวุธทุกอย่างที่มีทั้งปืนกลและปืนเล็กยาวยิงใส่เครื่องบินลาดตระเวนของอังกฤษ ช่างน่าเศร้าที่นักบินพยายามจะโบกมือและแสดงตนว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน แต่ก็ช้าเกินกว่าห่ากระสุนที่ระดมยิงเข้าใส่ เครื่องบินลาดตระเวนลำนี้ถูกยิงตกและนักบินเสียชีวิต หลังเหตุการณ์นี้กองทัพอังกฤษสั่งให้มีการวาดธงยูเนี่ยนแจ็ค (Union Jack) ลงบนปีกเครื่องบินของพวกเขาทันที เพื่อให้พันธมิตรรู้ว่าไม่ใช่เครื่องบินของเยอรมนี

16 กรกฏาคม ค.ศ. 1918 หนึ่งในยอดเสืออากาศของกองทัพอังกฤษ พันตรี ออดรี้ แวนคอร์ บินลาดตระเวนในบริเวณใกล้ ๆ กับโมนาสเตีย ดิ เตรวิโซ ประเทศอิตาลี เขากลับถูกไล่ล่าและระดมยิงเข้าใส่โดยนักบินอิตาเลียน ซึ่งเข้าใจผิดคิดว่าเครื่องของพันตรี ออดรี้ แวนคอร์ เป็นเครื่องบินเยอรมนี เครื่องบินของพันตรี ออดรี้ถูกยิงตกและเขาก็เสียชีวิต

สงครามโลกครั้งที่ 2

เครื่องบินแบบ Supermarine Spitfire Mk I ของกองทัพอากาศอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2

กองทัพอากาศอังกฤษ

วันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1939 เพียงไม่กี่วันหลังจากการปะทุของสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนีและเตรียมพร้อมทำสงคราม ความหวาดระแวงและความกลัวว่าจะถูกเยอรมนีโจมตีเกิดขึ้นไปทั่วทั้งเกาะอังกฤษ ทหารสามเหล่าทัพและทหารกองหนุนถูกเรียกระดมพลเตรียมพร้อมทำสงคราม

หนึ่งสิ่งที่ทำให้ฝ่ายอังกฤษหวั่นใจอยู่ไม่น้อยนั่นก็คือศักยภาพของกองทัพอากาศเยอรมนี ที่มีความเหนือกว่าทั้งคุณภาพและจำนวน ก่อนหน้านี้เครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมนีแสดงผลงานยอดเยี่ยมในสงครามกลางเมืองสเปนและทำให้โลกได้ประจักษ์แล้วว่า พวกเขาสามรถนำสงครามไปถึงในบ้านของอีกฝ่ายได้และแปรสภาพเมืองให้กลายเป็นเศษซาก

ด้วยเหตุนี้ทัพอากาศอังกฤษจึงเพิ่มการบินลาดตระเวนทั่วทั้งเกาะอังกฤษ ความเครียดและความกดดันของสงครามก็ทำให้เกิดความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เมื่อเครื่องบินแบบสปิตไฟร์จำนวน 3 ลำ จากฝูงบินที่ 74 เข้าโจมตีเครื่องบินแบบเฮอร์ริเคน 2 ลำ กว่าจะรู้ว่ายิงพวกเดียวกันก็สายไปเสียแล้ว แต่เรื่องของการยิงพวกเดียวกันเองกลับยังไม่จบ เพราะเครื่องบินสปิตไฟร์ทั้ง 3 ลำ ขณะกำลังมุ่งหน้ากลับฐานทัพกลับถูกยิงจากปืนต่อสู้อากาศยานที่อยู่เบื้องล่าง ทำให้เครื่องสปิตไฟร์ลำหนึ่งเสียหายและตกลงสู่พื้น โชคดีที่นักบินสามารถกระโดดร่มหนีออกมาได้ทัน

กองทัพเรืออังกฤษ

10 กันยายน ค.ศ. 1939 เรือดำน้ำเรือหลวงไทรตันของกองทัพเรืออังกฤษ ยิงตอร์ปิโดจมเรือดำน้ำอังกฤษอีกลำนั่นก็คือเรือหลวงอ็อกซ์ลีย์ อันเนื่องจากการส่งสัญญาณถามรหัสที่ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงทำให้เรือหลวงไทรตันสันนิษฐานว่าเรือดำน้ำลำนี้เป็นเรือเยอรมนี ตอร์ปิโดสองลูกถูกยิงใส่เรือหลวงอ็อกซ์ลีย์จนทำให้เกิดระเบิดอย่างรุนแรง เรือหลวงอ็อกซ์ลีย์เป็นเรือของกองทัพเรืออังกฤษลำแรกที่ถูกยิงจมในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นเรือลำแรกที่จมลงโดยเรือของฝ่ายเดียวกันในสงคราม มีผู้รอดชีวิตเพียง 2 คนจากทั้งหมด 52 คน

เดิมนั้นเรือทั้งสองลำถูกจัดกำลังให้ลาดตระเวนนอกชายฝั่งของนอร์เวย์ และเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสูญเสียเรือหลวงอ็อกซ์ลีย์ ถูกเก็บเป็นความลับจนกระทั่งถูกเผยแพร่แก่สาธารณชนใน ค.ศ. 1950

ทหารเบลเยียมระดมยิง

คืนวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ในระหว่างการรบในเบลเยี่ยม กองพลทหารราบที่ 3 ของอังกฤษในการบังคับบัญชาของนายพลเบอร์นาร์ด ลอว์ มอนท์โกเมอรี่ เคลื่อนพลไปที่แม่น้ำดีเลอะ (Dyle) ใกล้กับเมืองลูฟเวิน (Leuven) เมื่อไปถึงที่นั่นพวกเขาถูกระดมยิงใส่โดยทหารราบเบลเยี่ยม จากกองพลทหารราบที่ 10 ที่รักษาที่มั่นอยู่บริเวณนั้น และการระดมยิงนั้นเกือบสังหารนายพลที่จะกลายมาเป็นแม่ทัพใหญ่ของฝ่ายอังกฤษไปแล้ว 

ยุทธการฮัสกี้

ยุทธการฮัสกี้ (Operation Husky) อันเป็นยุทธการบุกซิซิลีของฝ่ายพันธมิตร ในคืนวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1943 ทหารพลร่มสหรัฐฯ จากกรมทหารพลร่มที่ 504 พร้อมด้วยกองพันปืนใหญ่สนามที่ 376 และกำลังพลจากกองร้อยซี กองพันทหารช่างที่ 307 รวมกำลังพลทั้งหมดที่กระโดดร่มลงสู่พื้นประมาณ 1,900 นาย พวกเขาทั้งหมดเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองพลส่งทางอากาศที่ 82 พวกเขาทั้งหมดถูกลำเลียงไปด้วยเครื่อง C-47 จำนวน 144 ลำ และเครื่องร่อนบางส่วน

เมื่อเครื่องบินขนส่งบินผ่านแนวทหารฝ่ายพันธมิตรไม่นาน ซึ่งประจวบเหมาะกับที่การโจมตีทางอากาศของเยอรมนีพึ่งยุติลง จึงทำให้เรือรบที่ลอยลำอยู่ในทะเลเข้าใจผิดคิดว่าพวกเขาคือฝูงบินทิ้งระเบิดเยอรมนีที่เข้าโจมตีอีกระลอก จึงระดมยิงเข้าใส่ฝูงบินโดยความเข้าใจผิด นั่นจึงทำให้เครื่องบินลำเลียงแบบ C-47 จำนวน 23 ลำถูกยิงตก และอีก 37 ลำเสียหาย มีบางลำต้องบินกลับฐานและร่อนลงฉุกเฉิน มีทหารเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้จำนวน 318 นาย

ทหารพลร่มสหรัฐฯ จากกรมทหารพลร่มที่ 504 เตรียมพร้อมในการบุกเกาะซิซิลี ในยุทธการฮัสกี้ (Operation Husky) ค.ศ. 1943

ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานกรุงเบอร์ลิน

17-18 สิงหาคม ค.ศ. 1943 กองร้อยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่มีฐานยิงอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ได้รับคำสั่งให้ยิงเครื่องบินกว่า 200 ลำที่บินข้ามกรุงเบอร์ลินในช่วงกลางคืน แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่าเครื่องบินกว่า 200 ลำที่กำลังบินอยู่เหนือกรุงเบอร์ลินนั้นคือเครื่องบินของกองทัพอากาศเยอรมนี ซึ่งถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษ ที่บินแยกฝูงบินทิ้งระเบิดออกมาหลังจากจู่โจมทางอากาศครั้งใหญ่ในเขตเพเนมุนเด (Peenemunde) มีเครื่องบินของเยอรมนีถูกยิงตกโดยพวกเดียวกันเองในครั้งนี้

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อ แฮรมัน เกอริ่ง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมนี และเรียกร้องความรับผิดชอบต่อกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศเยอรมนี นั่นจึงทำให้ ฮันส์ เยซชอเนค ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศเยอรมนีลงมือปลิดชีพตนเองเพื่อรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เกาะคิสก้า อะแลสกา

ในระหว่างปฏิบัติการของกองกำลังพันธมิตรบนเกาะคิสก้า หนึ่งในหมู่เกาะสำคัญของอะแลสกา สหรัฐฯ ในคราวนั้นกองกำลังฝ่ายแคนาดาเข้าใจผิดว่าทหารสหรัฐฯ เป็นทหารญี่ปุ่น จึงเปิดฉากยิงใส่นั่นจึงทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายที่ควรจะอยู่ฝ่ายเดียวกันยิงต่อสู้กันอย่างดุเดือด เมื่อการรบจบลง มีทหารอเมริกัน 28 นายและทหารแคนาดา 4 นายเสียชีวิต มีทหารบาดเจ็บกว่า 50 นาย ซึ่งกำลังทหารทั้งสองฝ่ายยังไม่ทราบว่าทหารญี่ปุ่นที่เคยอยู่บนเกาะแห่งนี้เมื่อ 2 ปีก่อนได้ถอนกำลังออกไปจนหมดแล้ว

รถไฟขนเชลยศึก

28 มกราคม ค.ศ. 1944 ขบวนรถไฟขนเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวน 800 นาย ถูกโจมตีเมื่อข้ามสะพานที่ปอนเต้ ปาเลีย (Ponte Paglia) ในเมืองอัลเลโรน่า (Allerona) ประเทศอิตาลี เชลยศึกประมาณ 400 นาย ทั้งอังกฤษ อเมริกันและแอฟริกันถูกสังหา เดิมนั้นฝ่ายเยอรมนีจำต้องเคลื่อนย้ายเชลยศึกในค่ายเชลยต่าง ๆ ที่อยู่ในอิตาลี ส่งไปคุมขังในค่ายเชลยศึกที่อยู่ในประเทศเยอรมนี

พวกเขาถูกคุมตัวขึ้นไปบนรถไฟขนปศุสัตว์ที่ไม่มีการทำเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นเลยว่ามีเชลยสงครามอยู่ภายใน (ปกติรถไฟขนเชลยศึกทหารพันธมิตร ทหารเยอรมันจะทาสีตัวอักษร POW หรือ Prisoner of War ซึ่งหมายถึง เชลยศึก เอาไว้บนหลังคาตู้รถไฟและด้านข้างเพื่อให้เครื่องบินพันธมิตรมองเห็นชัดเจน) เชลยศึกถูกขังอยู่ภายใน

ขณะที่ขบวนรถไฟแล่นข้ามสะพาน เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-26 จากฝูงบินทิ้งระเบิดที่ 320 ของฝ่ายพันธมิตรบินมาทิ้งระเบิดใส่สะพาน คนขับรถไฟหยุดรถและทหารเยอรมันรีบหนีเอาตัวรอด ปล่อยให้เชลยศึกทั้งหมดถูกขังและรอความตายจากฝ่ายเดียวกันอยู่ภายในนั้น

อาวุธชีวภาพ

ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1942 ทหารญี่ปุ่นกว่า 10,000 นายเข้าร่วมในการรบที่เมืองเจ้อเจียงและเจียงซี ประเทศจีน พวกเขาล้มป่วยและเสียชีวิตราว 1,700 นาย ซึ่งความสูญเสียเหล่านี้มันไม่ได้เป็นผลมาจากโรคที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่โรคเหล่านี้ล้วนมาจากน้ำมือของฝ่ายญี่ปุ่นที่ต้องการแพร่กระจายเชื้อโรคอหิวาตก โรคไทฟอยด์ โรคบิด และโรคระบาดอื่น ๆ เพื่อหวังผลในการโจมตีทหารจีนและพลเรือนในพื้นที่ แม้จะเป็นฝ่ายที่ใช้อาวุธชีวภาพในการโจมตี แต่ทหารของพวกเขาบางส่วนก็ต้องมารับเคราะห์จากอาวุธของฝ่ายตนเองซึ่งไม่สามารถควบคุมมันได้เช่นกัน

สมรภูมินอร์มังดี

เมื่อฝ่ายสหรัฐฯ เปิดฉากยุทธการคอบร้า (Operation Cobra) กองทัพสหรัฐฯ โหมการทิ้งระเบิดใส่แนวรับฝ่ายเยอรมนีเพื่อเปิดยุทธการ แต่ระหว่างการโจมตีระลอกสุดท้ายจากเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางจำนวนกว่า 3,000 ลำ ซึ่งทิ้งระเบิดปูพรมลงไปยังพื้นที่แนวรับของกองกำลังที่เหลืออยู่ของกองพลยานเกราะพันเซอร์เลห์ร

การโจมตีทางอากาศระลอกนี้ส่งผลให้เกิดเรื่องเศร้าแก่ฝ่ายสหรัฐฯ เมื่อมีฝูงบินทิ้งระเบิดฝูงหนึ่งบินเข้ามาทิ้งระเบิดใกล้กับแนวรบของฝ่ายสหรัฐฯ มีลูกระเบิดบางลูกถูกทิ้งลงมาโดนฝ่ายเดียวกัน ส่งผลให้ทหารอเมริกันจำนวน 111 นายเสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 500 นาย

หนึ่งในผู้เสียชีวิตนั้นคือ พลโทแลสลีย์ แมคแนร์ (Lieutenant Genera lLesley McNair) นายทหารผู้มีผลงานหลากหลายและเป็นมันสมองสำคัญให้แก่การทำสงครามของกองทัพสหรัฐฯ หนึ่งในผลงานที่สำคัญคือการผลักดันนโยบายการมีส่วนร่วมของทหารผิวสีและเพิ่มบทบาทในการปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบให้แก่ทหารผิวสีมากกว่าจะทำหน้าที่เพียงการส่งกำลังบำรุงเพียงอย่างเดียว และพลโทแลสลีย์ แมคแนร์ คือนายทหารอเมริกันที่ยศสูงที่สุดที่เสียชีวิตในยุทธภูมิยุโรป

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อประชาชนทั่วไปในประเทศ


อ้างอิง :

Andrew Knighton. (2017). 10 Friendly Fire Incidents From Military History, from https://www.warhistoryonline.com/history/10-friendly-fire-incidents-history.html

Wikipedia. (2019). List of friendly fire incidents, from https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_friendly_fire_incidents#World_War_I

Mark Barnes. (2014). CARIBBEAN VOLUNTEERS AT WAR, from https://www.warhistoryonline.com/reviews/caribbean-volunteers-war-review-mark-barnes.html

Andrew Bomford. (2016). The first ‘friendly fire’ victim of World War One, from https://www.bbc.com/news/magazine-35559589

wikipedia. (2019). Friendly fire, from https://en.wikipedia.org/wiki/Friendly_fire


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2562 จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ