ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อประชาชนทั่วไปในประเทศ

ตลาดจังหวัดสุพรรณบุรี ราว 70-80 ปีมาแล้ว ถนนยังเป็นดิน (ภาพจาก “ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ” สนพ.มติชน)

สงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) ชื่อก็บอกว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก แล้วประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวกับสงครามโดยตรง ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไรบ้าง มนัส โอภากุล นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี อธิบายเรื่องนี้ไว้พอสรุปได้ดังนี้

ในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จังหวัดต่างๆ กำลังเตรียมจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญที่จะมีในตอนค่ำเช่นทุกปี วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ก็ประกาศว่า ทหารญี่ปุ่นบุกขึ้นบกตามจังหวัดชายทะเลทางภาคใต้ ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา มาจนถึงจังหวัดสมุทรปราการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งพร้อมสู้ หากตกค่ำท่าทีของรัฐบาลก็เปลี่ยนไป และแจ้งข่าวผ่านวิทยุประเทศไทย ว่าญี่ปุ่นไม่ได้ประสงค์จะยึดประเทศไทย เพียงแค่ขอเป็นทางผ่านไปตีมลายูและสิงคโปร์กับพม่าและอินเดียเท่านั้น

ก่อนเกิดสงครามนั้นชีวิตมีความเป็นอยู่ดี โดยมนัส โอกากุลเล่าว่า “ราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 20 บาท ทองคำหนัก 1 บาท 20 บาท ข้าวสวยใส่ชามตราไก่ 1 สตางค์ มี 3 สตางค์รับประทานข้าวต้มได้หนึ่งอิ่ม ข้าวแกงราดหน้าจานละ 5 สตางค์ ก๋วยเตี๋ยวน้ำชามละ 3 สตางค์ บะหมี่ต้มยำใส่หมูบะช่อโปะหน้า พร้อมตั้งฉ่ายและหนวดปลาหมึกชามละ 5 สตางค์ น้ำแข็งกดราดน้ำหวานสีแดง-เขียว 1 สตางค์ ยาขัดกีวีตลับละ 5 สตางค์ สูทเสื้อนอกกางเกงผ้าปาล์มบีชอย่างดีในสมัยโน้นชุดละ 4.50 สตางค์ เสื้อเชิ้ตตัวละ 35 สตางค์ น้ำมันใส่ผมยี่ห้อยาร์ดเล่ย์และน้ำหอมของฝรั่งเศส คนไทยสมัยโน้นใช้ของนอกทั้งนั้น เพราะพระคุณของชาวนาที่ส่งข้าวออกไปขายต่างประเทศ”

เมื่อเกิดสงครามเกิดขึ้น ไทยก็ขาดแคลนสิ่งของเหล่านั้น เพราะเป็นฝ่ายอักษะ ส่วนญี่ปุ่นมีปัญหาทางการเงิน ก่อนจะตัดสินใจพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เองเรียกว่าแบงก์ “กงเต็ก” ซึ่งทำให้ค่าเงินของไทยตกอย่างหนักทันที ราคาสินค้าต่างๆ ถีบตัวสูงขึ้น เช่น ยาแอสไพรินเม็ดละ 1 สตางค์ เพิ่มเป็นเม็ดละ 1 บาท, ข้าวเปลือกเกวียนละ 20 บาท ราคาเพิ่มเป็นเกวียนละ 400-500 บาท, ทองคำบาทละ 20 บาท ราคาเพิ่มเป็นบาทละ 400 บาท ฯลฯ

ต่อมาเมื่อการตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นติดต่อกับอังกฤษและอเมริกาเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ก็มีการระดมครูประชาบาลจังหวัดสุพรรณบุรีนับร้อยคนเข้าป่าเมืองกาญจน์ ฝึกอาวุธยิงปืน และหมอบคลาน เพื่อกำหนดจะเข้าโจมตีกองทหารญี่ปุ่นที่เมืองกาญจน์ (หากญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม จากการอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ เสียก่อน)

เมื่อทหารญี่ปุ่นจำนวนมากอยู่ในเมืองไทย เวลากลางคืนราว 3-4 ทุ่ม เครื่องบิน บี. 52 บินทแยง มาจากตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดสุพรรณฯ เข้ากรุงเทพฯ คล้ายตึก 10 ชั้น ลอยอยู่กลางอากาศ มุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ก็คือกรุงเทพฯ นั่นเอง ที่สุพรรณบุรีสมัยนั้นมีหอคอยระวังภัยสูงราว 10-15 เมตร มีหวอคอยให้สัญญาณ เมื่อเครื่องบินผ่าน คืนวันหนึ่ง บี. 52 บินผ่านตลาดจังหวัดสุพรรณฯ คนในตลาดเห็นเครื่องบิน แต่กลับไม่ได้ยินเสียงหวอ จนเครื่องบินเลยไปสักครู่จึงได้ยินเสียงหวอดังขึ้น ชาวตลาดที่เห็นเหตุการณ์หัวเราะ ด้วยรู้ว่ายามที่อยู่บนหอคงหลับยาม

ช่วงเวลานั้นไม่ค่อยมีรถโดยสารวิ่งเท่าใด เพราะไม่มีน้ำมันเบนซิน ต้องใช้ควันของเตาถ่าน โดยต่อถังด้วยสังกะสีเป็นรูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 ฟุตเศษ สูง 1.5 เมตร ติดอยู่ท้ายรถ เอาเตาเผาถ่านวางอยู่ที่ก้นถัง มีพัดลมหมุนด้วยมือ เพื่อให้ควันเดินไปตามท่อเข้าเครื่องยนต์ซึ่งอยู่ด้านหน้า พอเต็มที่สตาร์ทเครื่องยนต์ติด เดินทางระยะ 10 กิโลเมตรได้อย่างสบายๆ

ส่วนเรือแท็กซี่ หรือเรือเครื่องฉุดระหัด ที่เอามาดัดแปลงเป็นเรือรับส่งคนโดยสาร ใช้น้ำมันดีเซล ไม่มีน้ำมันเช่นกัน จึงต้องน้ำมันจากต้นเหียงมาใช้แทน

เมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2488 หลวงวุฒิราชรักษา ข้าหลวงประจำจังหวัดสุพรรณบุรี จัดงานบวงสรวงเจดีย์กลางป่า คืออนุสรณ์ดอนเจดีย์ปัจจุบัน ข้าราชการทั้ง 3 อำเภอเดินทางโดยขี่ม้าไปตั้งแคมป์ล้อมรอบองค์พระเจดีย์

มนัส โอภากุล เล่าถึงการเดินทางงไปร่วมงานว่า “เดินทางโดยเรือยนต์จากจังหวัด 08.00 น. ไปนั่งเกวียนต่อที่บ้านกล้วย อำเภอศรีประจันต์…กว่าจะถึงดอนเจดีย์เป็นเวลาบ่าย 4 โมง…[เมื่อทำพิธีเสร็จ] คณะของเรากำหนดเดินทางกลับไม่มีพาหนะอะไร…จึงต้องเดินเท้ากลับ…เดินตัดเข้าอำเภอเมืองสุพรรณบุรี…พวกเรา 4-5 คนเดินไปตามทางคนเดินแคบๆ เรื่อยไปด้วยแสงจันทร์ส่องสลัวๆ ออกเดินทางดอนเจดีย์ประมาณตี 5 ไปถึงหลังโรงสีบ้านคอยราว 6 โมงเช้า…

พอสว่างจึงเรียกปรากฏว่าเป็นโรงสีของคนรู้จักกัน จึงได้รับการต้อนรับด้วยข้าวต้มมื้อเช้าหนึ่งมื้อ ขอบคุณเจ้าของโรงสีแล้วข้ามฟากเดิน ทางต่อไปเริ่มค่อยๆ มีบ้าน ถามเขาเรื่อยไปว่าทางไปประตูน้ำโพธิ์พระยาไปทางไหน…ราว 4 โมงเย็น วันนั้นถึงตลาดโพธิ์พระยา นั่งเรือแท็กซี่มาตลาดจังหวัดสุพรรณฯ กว่าจะถึงบ้านราว 5 โมงเย็นเศษ”

แต่ไม่ว่าสงครามจะนำความทกุข์ยากมาอย่างไร ระหว่างสงครามการพนันที่เมืองสุพรรณฯ เกลื่อนเมือง ออกหวย ก.ข. กันกลางเมืองเวลาตอนเที่ยง และตั้งวงพนัน ถั่ว โป ไฮโล จับยี่กี

 


ข้อมูลจาก :

มนัส โอภากุล. “‘ข้าพเจ้ามีชีวิตตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 มาอย่างเต็มที่’ ผลกระทบของสงคราม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2564