ผู้เขียน | ปัญญาณัฏฐ์ ณัธญาธรนินน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เหตุการณ์พักรบวันคริสต์มาส ปี 1914 จากจดหมาย และบันทึกของทหารในสนามรบ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้น มันดึงคนหนุ่มนับล้านจากทั่วโลก ให้เข้ามาประสบชะตากรรมสยองในสมรภูมิอันหฤโหด สงครามที่พวกเขาคิดว่ามันจะจบลงอย่างรวดเร็วและคงสิ้นสุดก่อนวันคริสต์มาสกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดผิด เพราะมันไม่มีทีท่าว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะจบลงได้ในเร็ววัน นอกจากการประหัตประหารระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันแล้ว สภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายกำลังคร่าชีวิตทหารหาญในสนามรบแทบทุกวัน อากาศที่อับชื้นและหนาวเย็นของสนามเพลาะ รวมทั้งสุขอนามัยที่แทบไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต บั่นทอนขวัญกำลังใจและสร้างความหดหู่ให้แก่ทุก ๆ คนที่จำใจต้องอยู่ที่นั่น
ช่วงปลายปี ค.ศ. 1914 การรุกของทั้งฝ่ายพันธมิตรและฝ่ายมหาอำนาจกลางหยุดชะงักลงเพราะสภาพอากาศที่หนาวเย็นและมีหิมะตกไปทั่วสนามรบ ทหารทั้งสองฝ่ายตั้งมั่นอยู่ในสนามเพลาะของตนเองและรอให้ฤดูหนาวนี้ผ่านพ้นไป ก่อนที่จะรุกรบกันใหม่อีกครั้ง วันคืนผ่านไปอย่างช้า ๆ ความทุกข์ทรมานทั้งกายใจก็เช่นกัน ทั้งบรรยากาศและช่วงเวลาทำให้ทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสนามเพลาะหวนคิดถึงบ้านและคนรักซึ่งจากมา เมื่อปีที่แล้วพวกเขานั่งผิงไฟอันอบอุ่นอยู่ภายในบ้าน แวดล้อมไปด้วยคนในครอบครัวและอาหารร้อน ๆ ภายในบ้านและในชุมชุนที่พวกเขาอยู่อาศัยก็ประดับประดาไปด้วยทุก ๆ สิ่งที่เกี่ยวกับ “วันคริสต์มาส” เทศกาลแห่งความสุขที่ทหารทุกคนในสนามรบต่างถวิลหา ในสถานที่ซึ่งมีแต่ความตายอยู่เบื้องหน้า
ในตอนนี้ จดหมายหรือพัสดุจากทางบ้าน คือสิ่งที่ปลอบประโลมทหารที่อ่อนล้าเหล่านี้ให้ยิ้มทั้งน้ำตาได้ เรื่องราวของคนทางบ้านซึ่งเรียงร้อยเป็นข้อความในจดหมายถูกส่งถึงมือทหารที่แนวหน้า ในยามที่พวกเขามีสมาธิจดจ่อกับการอ่านข้อความเหล่านี้ ดูจะเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาแทบจะอยู่คนละมิติกับสภาพความเป็นจริงที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ และจดหมายที่ถูกส่งมาช่วงวันคริสต์มาสก็แทบไม่ต่างจากของขวัญของซานตาคลอสที่มาส่งให้พวกเขาถึงสนามรบ
แต่วันคริสต์มาสในปี ค.ศ. 1914 ที่แนวรบด้านตะวันตกของสงครามโลกครั้งที่ 1 กลับสร้างตำนานของการยุติการฆ่าฟันลงชั่วคราว และนำสันติสุขมาสู่ทุกชีวิตในสนามรบ อันเนื่องในวันสำคัญวันนี้ ทหารฝ่ายพันธมิตรและมหาอำนาจกลาง เดินมาพบกันในบริเวณพื้นที่ไร้การครอบครอง หรือ No man’s land มันคือ วันหยุดพักรบคริสต์มาส แห่งปี ค.ศ. 1914 หรือ Christmas truce of 1914 อันเป็นตำนาน และนี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านทางจดหมายของทหารที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์วันนั้น
ร้อยตรีบรูซ เบนฟาเธอร์ สังกัด กรมรอยัล วาวิเชอร์ (Royal Warwickshire Regiment) ได้เขียนบรรยายถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า
“ผมไม่อยากพลาดวันคริสต์มาสแบบใหม่ที่ช่างแปลกประหลาดนี้ ผมได้พบกับนายทหารเยอรมันคนหนึ่งเขาน่าจะยศร้อยโท ผมนำคีมตัดลวดออกมาตัดลวดสองสามเส้นออกพอเป็นช่องเดินผ่านได้ จากนั้นผมก็แลกสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างกัน เรายิ้มให้กัน จากนั้นหนึ่งในพลปืนกลของผมเขาเคยเป็นช่างตัดผมมาก่อน อาสาจะตัดผมให้ทหารเยอรมันคนนี้ ซึ่งทหารเยอรมันก็ยินดี เขานั่งลงกับพื้นอย่างอดทนโดยมีลูกน้องของผมใช้ปัตตาเลี่ยนตัดผมให้เขาอย่างช้า ๆ”
พลทหารเฮนรี่ วิลเลี่ยมสัน อายุ 19 ปี สังกัด กองพลน้อยอาวุธเบาลอนดอน (London Rifle Brigade) เขียนจดหมายไปเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้แม่ของเขาฟัง
“แม่ครับ ผมกำลังเขียนจดหมายในสนามเพลาะ ตอนนี้เวลา 11 โมงแล้ว ผมนั่งอยู่ข้าง ๆ กองไฟเล็ก ๆ โดยในปากของผมกำลังสูบกล้องยาสูบ แต่ยาสูบที่อยู่ในกล้องยานั้น เป็นยาสูบเยอรมันครับ แม่คงคิดว่าผมคงได้มันมาจากเชลยทหารเยอรมันใช่ไหม เปล่าครับแม่ ทหารเยอรมันให้ผมมาครับ ใช่ครับทหารเยอรมันที่ยังไม่ได้เป็นเชลยสงคราม แม่เชื่อไหมครับ เมื่อวานฝ่ายเราและฝ่ายเยอรมันเดินออกจากสนามเพลาะมาพบกัน เราแลกเปลี่ยนของที่ระลึกและจับมือกัน ตลอดทั้งวันคริสต์มาสครับ แทบไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมครับแม่”
รายงานการรบซึ่งเป็นของร้อยเอกเซอร์เอ็ดเวิร์ด ฮัลส์ ได้รายงานว่า เขาพบทหารเยอรมันกลุ่มหนึ่ง และหนึ่งในทหารเยอรมันคนนี้มาจากเมืองซัฟฟอล์ก ซึ่งเขาจำใจจากแฟนสาวและรถจักรยานยนต์ 3.5 แรงม้าของเขามารบในสงคราม ผู้กองฮัลส์และทหารทุก ๆ คนร่วมร้องเพลงสามมัคคีชุมนุม (Auld lang syne) ในทุกสำเนียงภาษา ทั้ง อังกฤษ สกอต ไอริช ปรัสเซีย เวิธแทมแบร์ก มันช่างน่าเหลือเชื่ออย่างยิ่ง
ร้อยเอกโรเบิร์ต แพททริค ไมล์ สังกัดกองพลน้อยอาวุธเบารอยัลไอริซ (Royal Irish Rifles) ได้เขียนบรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
“ผมจำได้ถึงความเงียบสงัดที่น่ากลัว ทหารที่เข้ายามกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ เราทุกคนออกไปข้างนอกฟาร์มและกำลังเฝ้าฟังเสียงในสนามรบเบื้องหน้า แน่นอนว่าพวกเราทุกคนคิดถึงบ้าน และรู้สึกเครียดกับสภาพที่เกิดขึ้นความเงียบที่กัดกินจิตใจของเราทำให้หนึ่งในเพื่อนของผมตะโกนออกไปดังๆว่า “สุขสันต์วันคริสต์มาส” แต่ทันใดนั้นก็มีเสียงตอบกลับมาเป็นภาษาอังกฤษว่า “สุขสันต์วันคริสต์มาสหนุ่มอังกฤษ” พวกเราประหลาดใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เรายิ่งประหลาดใจมากขึ้นที่เมื่อมองออกไปทหารเยอรมันออกมาโบกมือให้พวกเรา นั่นจึงทำให้ไม่นานหลังจากนั้น ทหารทั้งสองฝ่าจึงวางอาวุธและเดินมาพบกันในพื้นที่ไร้การครอบครอง และแลกบุหรี่กับขนมกัน วันนั้นทั้งวันไม่มีการยิงต่อสู้กันเลย”
ขณะที่บันทึกของฝ่ายเยอรมันเองก็มีเหตุการณ์นี้เช่นกัน ร้อยตรีคูร์ท เซมิซท์ สังกัด กรมทหารราบแซกซอนที่ 134 (134th Saxons Infantry Regiment) ได้บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ว่า
“ผมสั่งให้ทหารห้ามยิงถ้าหากทั้งแนวรบไม่มีการยิงเกิดขึ้น ตลอดวันคริสต์มาสอีฟ มีทหารอังกฤษคนหนึ่งชูมือขึ้นและเดินออกมาจากสนามเพลาะของเขาพร้อมทั้งโบกมือให้เรา เขาตะโกนออกมาว่า สุขสันต์วันคริสต์มาส และชูขวดไวน์กับบุหรี่ เขาโบกมือให้เราเดินมาหา เราตะโกนตอบกลับไปว่า “ทหารอังกฤษ ทหารอังกฤษ สุขสันต์วันคริสต์มาส” จากนั้นพวกเราก็นำต้นคริสต์มาสออกมาวางเหนือเนินดินของแนวสนามเพลาะฝ่ายเรา ทหารอังกฤษตะโกนออกมาว่า “ถ้าคุณไม่ยิง เราก็ไม่ยิง เดินออกมาเจอกันตรงกลาง” (พื้นที่ไร้การครอบครอง) พวกเราหลายคนเริ่มโผล่หัวออกไปจากสนามเพลาะ ไม่มีการยิงเกิดขึ้น เราทั้งหมดจึงพากันเดินออกมาและตรงไปหากลุ่มทหารอังกฤษที่กำลังเดินเข้ามาหา ทหารทั้งทั้งสองฝ่ายมาพบกันจับมือและส่งยิ้มให้กัน พวกเขาแบ่งบุหรี่ ไวน์ ช็อกโกแลต กาแฟ ให้แก่กัน”
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไปตลอดทั่วทั้งแนวรบของทหารทั้งสองฝ่าย ช่างเหลือเชื่อที่การรบรบราฆ่าฟันกลับยุติลงในวันสำคัญทางศาสนา ทุกคนมีความสุขที่ไม่ต้องจับปืนแต่เปลี่ยนมาส่งยิ้มให้กัน ขณะที่ในแนวรบด้านตะวันออกนั้น เนื่องจากฝ่ายรัสเซียยังใช้ปฏิทินจูเลี่ยนแบบเก่า รวมถึงวันคริสต์มาสในศาสนาคริสต์นิกายออโธด็อกซ์ ช้ากว่าประเทศในยุโรปตะวันตกถึง 13 วัน นั่นจึงทำให้ไม่มีการหยุดพักรบเกิดขึ้น แต่มีรายงานว่าในบางพื้นที่ของแนวรบในพื้นที่ในแนวรบระหว่างฝ่ายออสเตรียฮังการีกับรัสเซีย มีการหยุดรบและพบเจอกันในสนามรบของทหารทั้งสองฝ่าย แต่ในอีก 2 ปีต่อมานั้น วันคริสต์มาสกลับการเป็นการรบแตกหักของกองทัพรัสเซียกับเยอรมนีใกล้ ๆ กับเมืองริก้า (Riga) เมื่อกองทัพรัสเซียอาศัยจังหวะในช่วงนี้เปิดยุทธการเข้าตีแนวรบเยอรมนีอย่างหนักหน่วงรุนแรง มีทหารบาดเจ็บและเสียชีวิตไปในการรบครั้งนี้กว่า 5,000 นาย
และอีกหนึ่งตำนานของ เหตุการณ์พักรบวันคริสต์มาส ก็คือ การแข่งฟุตบอลระหว่างทหารอังกฤษกับเยอรมัน มันกลายเป็นเหตุการณ์อันแสนประทับใจที่เกิดขึ้นในวันคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1914 มันคือการแข่งขันนัดกระชับมิตรอย่างแท้จริงเพราะมันเกิดขึ้นในสนามรบ
แต่เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นที่ใด? ตรงบริเวณใดของแนวรบ? และการแข่งขันฟุตบอลที่เกิดขึ้นเป็นการแข่งกันระหว่างทหารอังกฤษและทหารเยอรมันหน่วยใด?
“หลักฐานมีความคลุมเครือเกินกว่าจะพูดด้วยความมั่นใจว่ามันเกิดขึ้นที่ใด” ศาสตราจารย์ มาร์ค คอนเนลลี จากมหาวิทยาลัยเคนท์กล่าว นอกจากนี้ศาสตราจารย์คอนเนลลี ใช้เวลาหลายปีค้นคว้าเหตุการพักรบคริสมาสต์ ผ่านบันทึกและเอกสารในช่วงสงคราม รวมทั้งเอกสารที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สงคราม และสิ่งที่ได้จากการค้นคว้าของเขาคือ ไม่สามารถหาหลักฐานสรุปได้ว่ามีการแข่งขันฟุตบอลเกิดขึ้นจริง
ขณะที่ ทาฟ กิลลิงแฮม นักประวัติศาสตร์ทหารผู้เป็นที่ปรึกษาในการสร้างโฆษณา 100 ปี การพักรบวันคริสต์มาสของ เซนต์เบอรี่ (Sainsbury’s) เมื่อปี ค.ศ. 2014 มันซาบซึ้งกินใจคนทั้งโลกที่ได้ชมโฆษณานี้ กิลลิงแฮมกล่าวว่า “มีหลักฐานใหม่ที่ถูกค้นพบในปีนี้ มันพิสูจน์ว่ามีการแข่งฟุตบอลในระหว่างการหยุดพักรบ” เขายังกล่าวถึงการค้นพบว่า
“จนถึงปีนี้ผมก็เหมือนกับศาสตราจารย์คอนเนลลีที่เชื่อว่ามีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมไม่เพียงพอที่จะบอกว่ามีการแข่งฟุตบอลเกิดขึ้นในวันนั้น และเราจำเป็นต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น ‘การแข่งขัน’ อย่างไรก็ตาม หลายเดือนก่อนที่ผมจะเริ่มทำงานกับเซนต์เบอรี ผมได้รับการติดต่อจากเพื่อนเก่าที่เป็นนักประวัติศาสตร์ของกรมนอร์โฟล์ค (Norfolk Regiment) ที่ส่งเอกสารมาให้เขาเขาคิดว่ามันน่าจะใช้ได้”
มันคือจดหมายที่เขียนโดยสิบโทอัลเบิร์ต ไวแอตต์ ทหารในสังกัดกรมนอร์โฟล์ค ซึ่งถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในปี ค.ศ. 1915 โดยเขาได้เขียนบอกว่า เขาได้เล่นฟุตบอลในเมือง วูลเวอเกม (Wulverghem) ประเทศเบลเยียม นอกจากนี้ยังมีจดหมายที่ส่งโดยจ่าสิบเอกแฟรงก์ นาเดน จากกองร้อยที่ 1 กองพันที่ 6 เชสไชน์ (Cheshires 1 / 6th) เขาเขียนบอกกับทางบ้านว่าเขาเล่นฟุตบอลในวันคริสต์มาส แต่หลักฐานที่ได้มานั้นเพียงแต่บอกว่า มีการเล่นฟุตบอลในวันคริสต์มาสจริงแต่ไม่ได้บอกว่าพวกเขาเล่นกับทหารเยอรมัน
จากข้อมูลที่ยังคลุมเครือทำให้กิลลิงแฮม เขียนบทในโฆษณาของเซนต์เบอรีเน้นไปที่ “ความเป็นพี่น้องกันของเพื่อนมนุษย์” และปรับลดความสำคัญของฉากการเล่นฟุตบอลแต่เน้นไปที่ “การแบ่งปัน” (sharing)
ในความเป็นจริงแล้ว การเตะบอลสนามเล็ก ๆ ในกลุ่มทหารไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทหารอังกฤษจำนวนมากก็ชอบเล่นแบบนี้ บางทีการเล่นฟุตบอลในสนามรบที่เกิดขึ้นในวันพักรบนั้น อาจจะเป็นการแข่งขันกันเองของทหารอังกฤษ โดยมีทหารเยอรมันส่วนใหญ่ยืนชม หรือมีทหารเยอรมันบางคนที่เล่นฟุตบอลเป็นก็ร่วมลงเล่นกับทหารอังกฤษ แต่มันไม่ใช่การแข่งขันโดยตั้งใจตั้งแต่เริ่มแรกของทหารทั้งสองฝ่าย
ไมค์ แดช นักเขียนและนักประวัติศาสตร์อังกฤษ กล่าวว่า “มีหลักฐานที่แสดงว่ามีการเล่นฟุตบอลในวันพักรบคริสต์มาส ส่วนใหญ่เป็นการเล่นกันเองระหว่าง ‘คนสัญชาติเดียวกัน’ และไม่ได้มีแค่การเล่นเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เพียงกลุ่มเดียว แต่มีทหารจับกลุ่มเล่นฟุตบอลกันหลายกลุ่ม แต่มีอย่างน้อยสามหรือสี่กลุ่มที่เป็นการเล่นกันระหว่างทหารทั้งสองฝ่าย”
ไม่ว่าการแข่งขันระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่การหยุดพักรบในวันคริสต์มาส ปี ค.ศ. 1914 คือสิ่งที่แสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่า ในความโหดร้ายของสงครามก็ยังมีบางมุมในสนามรบ กลับมีช่วงเวลาสั้น ๆ ช่วงหนึ่ง ซึ่งประตูแห่งมนุษยธรรมถูกเปิดออก การรบราฆ่าฟันถูกเปลี่ยนเป็นการส่งยิ้มให้กัน ของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ถูกส่งให้กัน ถึงแม้มันจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้กลับกลายตำนานที่เล่าขานจนถึงทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- กระท่อมน้อยในป่าใหญ่ กับการฉลองคริสต์มาสที่ไม่ได้ตั้งใจของทหารอเมริกันและทหารเยอรมัน
- White Christmas เพลงคริสต์มาสยอดนิยมของทหารอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่ 2
อ้างอิง :
https://www.historyextra.com/period/first-world-war/world-war-one-christmas-truce-football-match-really-happen-facts-debate/
https://www.history.com/topics/world-war-i/christmas-truce-of-1914
https://www.britannica.com/event/The-Christmas-Truce
https://www.smithsonianmag.com/history/the-story-of-the-wwi-christmas-truce-11972213/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2564