เกร็ดเรื่อง “เหล้า” น้ำเมากับการเมือง

“แม่โขง” เป็นเหล้าการเมือง!? สุราจากโรงงานบางยี่ขัน ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 อันเป็นปีเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งไทยเข้าร่วมด้วย

มีข้อความบางตอนในประวัติศาสตร์ของ โรงเหล้าบางยี่ขัน ปทุมธานี พิมพ์เป็นข้อความไว้ในปฏิทินฉบับหนึ่ง กล่าวถึงต้นกำเนิดชื่อเหล้า “แม่โขง” อันเลื่องลือว่ามีเค้าความคิดมาจาก เพลงปลุกใจสองเพลงในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่ไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เรื่องฝั่งขวาแม่น้ำโขง (หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน)

เพลงปลุกใจสมัยนั้นแพร่หลายอยู่ในเมืองไทยและมีอิทธิพลต่อจิตสำนึกของคนไทยเป็นอย่างมาก รวมทั้งเพลงรำวงรักชาติ ซึ่งคนไทยร่วมสมัยยังจำได้ดีว่า “จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง เสียงเพลงรำวงดังอยู่ตลอดไม่เคยเงียบ”

เพลงปลุกใจให้รักชาติและเรียกร้องดินแดนครั้งนั้นที่เป็นต้นกำเนิดของชื่อ “แม่โขง” คือ “ข้ามโขงไปสู่แคว้นแดนไทย” และ “สองฝั่งโขงเหมือนฝั่งเดียวกัน” และความรักชาตินั้นก็ปรากฏอยู่ในปฏิทินฉบับเก่าแก่อีกฉบับหนึ่งเช่นกันว่า “การที่สุราแม่โขงขายดีมีกำไร จึงถือเป็นชัยชนะของรัฐบาล เป็นผลประโยชน์ของชาติ ของประชาชนชาวไทย”

ข้อความนี้บ่งบอกได้ถึงความเชื่อมั่นในตนเอง ในการเป็นผู้ผลิตเหล้าที่มียอดขายดีที่สุดในเมืองไทย และเป็นสัญลักษณ์ของความเมามายประจำชาติไปอีกอย่าง


(คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “แกะรอยปฏิทินแม่โขง” เขียนโดย ธรรมศักดิ์ พึ่งตนเพียร ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2533)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2561