ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ไซ” เครื่องมือ ดักปลา – สัตว์น้ำ จากภูมิปัญญาชาวบ้าน วิถีชุมชนที่นับวันคนเมืองรู้จักน้อยลงเรื่อย ๆ
เครื่องใช้สำหรับดักหรือจับสัตว์น้ำในบ้านเรามีหลากหลายรูปแบบและวิธีการ ทั้งด้านการผลิตและการใช้งาน บ้างเอาไปวางแช่น้ำไว้ร่วมกับเฝือกหรืออวน เอาไปวางในทางน้ำไหล เอาไปสุ่ม ไปตัก ไปช้อน ไปวิดน้ำออกเพื่อจับสัตว์น้ำก็มี
หนึ่งในวิธียอดนิยมของสังคมเกษตรกรรม ที่มักทำนาเป็นแปลง ๆ คือการ “ดัก” สัตว์น้ำ จากบริเวณช่องน้ำไหลระหว่างคันนา ซึ่งถูกขุด ตัด เจาะ ให้เป็นช่อง เพื่อระบายน้ำจากนาแปลงหนึ่งไปสู่อีกแปลงหนึ่งในช่วงต้นฤดูกาลทำนา ปลาพล่านน้ำใหม่จะออกวางไข่และหากินทั่วผืนน้ำในท้องนานั้น และไม่มีเครื่องมือจับสัตว์น้ำใดจะมีประสิทธิภาพดีเท่า “ไซ” อีกแล้ว
ไซ เป็นเครื่องมือจักรสาน มีหน้าที่ดักสัตว์น้ำขนาดเล็กเช่นเดียวกับ “ลอบ” ทำจากวัสดุท้องถิ่นที่หาได้ทั่วทุกภูมิภาคในไทย คือ ไม้ไผ่ ที่เหลาเป็นเส้นกลม นำมาสานเข้ารูปเป็นทรงกระบอกรียาว ปลายแหลม หน้าตัดกลมสำหรับนำปลาออก รูปทรงคล้ายจรวด
กลางตัวไซจะมีช่องสำหรับให้ปลาเข้าไป เรียกว่า “งาไซ” แบ่งเป็น 2 ช่อง ใน 2 มุมตรงข้ามและเยื้องกัน หน้าที่ของงาไซคือ ทำให้กุ้งหอยปูปลาในท้องนาทั้งหลาย “เข้าได้แต่ออกไม่ได้”
ช่างท้องถิ่นจะใช้วิธีขึ้นรูปไซด้วยไม้จากต้นข่อยหรือเหลาไม้ดัดเป็นวงกลม สำหรับผูกรัดกลางตัวไซให้คงรูปแข็งแรง เว้นแต่ “ไซอีเป็ด” เท่านั้นที่ใช้วิธีตอกแบบสานขึ้นรูป
โดยทั่วไปไซจะมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกรียาว ปากบานเล็กน้อย คอคอด ปลายก้นรวบแหลม แต่ไซทางเหนือเป็นทรงรีคล้ายไข่มดแดง สำหรับภาคกลาง แม้โดยรวมจะดูคล้ายกันไปหมด แต่ก็มีความแตกต่างตามความนิยมในแต่ละท้องที่ เช่น ของนครปฐม ไซจะมีทรงอกเล็ก ก้นป่อง ของสุพรรณบุรีจะเอวคอด อกใหญ่ ก้นป่อง บ้างอกใหญ่ ก้นลีบ ส่วนไซเมืองเพชรฯ จะอกใหญ่ (มาก) และก้นยาว เป็นต้น
คนไทยใช้ไซกันแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ เพราะทางนั้นนิยมใช้ “ซ่อน” (สำเนียงใต้ออกเสียงคล้ายๆ ‘ซ้อน’)
ชาวนานิยมใช้ไซวางดักปลาช่วงฝนใหม่ หลังการปักดำ พวกเขาจะไขน้ำออกจากนาแต่ละแปลงโดยการขุดคันนาเพื่อระบายน้ำ ส่วนการใช้ไซดักปลานั้นง่ายแสนง่าย คือวางตรงช่องน้ำไหลตามคันนาที่ถูกเจาะให้เป็นช่อง ให้ปากไซอยู่ด้านต้นน้ำ หันก้นไซรับกระแสน้ำ ปิดปากไซไม่ให้ปลาออก ตำแหน่งงาไซจะอยู่ด้านซ้าย-ขวาของพื้นดินหรือแนวคันนา
ต่อมาก็ปรับแนวดินบังคับให้ปลาเข้างาไซทั้ง 2 ด้าน ใช้หญ้า ดิน เศษไม้ ปิดทับด้านบน อุดก้นไซไว้ แค่นี้ปลาก็ไม่สามารถเล็ดลอดไปได้แล้ว ไซจึงเหมาะสำหรับปลาพล่านน้ำใหม่ที่หากินขึ้น ๆ ลง ๆ ตามกระแสน้ำ รับรองว่าขึ้นก็เข้าไซ ลงก็เข้าไซ
นอกจากช่วงน้ำใหม่ต้นฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว ช่วงเกี่ยวข้าว ลมหนาวพัดเอื่อย ชาวนาต้องไขน้ำออกให้ท้องนาแห้งพอสำหรับการเก็บเกี่ยว ปลาน้อยใหญ่ก็เตรียมกลับสู่หนองน้ำ ชาวนาก็ใช้ไซดักลัดทางปลาที่จะย้อนกลับหนองน้ำได้อีก
ในสังคมชนบทยังพบการใช้ไซในการดักปลาให้เห็นกันอยู่บ้าง แต่อนาคตจะเป็นอย่างไรไม่อาจทราบได้ เพราะวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเปลี่ยนไป มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาตอบสนองความต้องการของคนยุคนี้ได้ทันใจกว่า แทนที่จะเอาไซไปแช่น้ำแล้วค่อยไปกู้ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ถ้าเอาไฟฟ้าชอร์ตหรือโยนระเบิดลงน้ำตูมเดียว ก็ได้กินปลา (ทั้งบ่อ) ทันที
แม้จะได้กินเพียงหนเดียว ไม่ปล่อยให้ปลาลูกเด็กเล็กแดงได้เติบโตเพื่อกินวันหน้าก็ตาม…
แม้ทุกวันนี้คนเมืองจะพบเห็นการใช้ไซยากเต็มที แต่ดีที่ว่าพวกพ่อค้าแม่ขายยังมีความเชื่อเรื่องไซช่วยดักเงินได้ เหมือนกับที่ ดักปลา ได้ผลดีชะงัดนัก จึงยังพอได้เห็นไซห้อยระโยงระยางตามร้านค้าร้านขายอยู่บ้าง
อ่านเพิ่มเติม :
- โฉเฉ : ความงามที่มีเหตุผล
- คุ-แอ่ว เครื่องจักสานขนาดใหญ่ ของเกษตรกรล้านนา
- ตุ้มปลายอน พรานปลาแห่งลุ่มแม่น้ำมูล กับวิถีที่แปรเปลี่ยนหลังสร้างเขื่อนปากมูล
อ้างอิง :
พยูร ไมสิกรัตน์. ไซ. ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539.
ทำนุ วรธงไชย. (2551). ล่า ดัก จับ กับ ดัก อีสาน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2567