โฉเฉ : ความงามที่มีเหตุผล

โฉเฉ หรือโฉงเฉง เป็นภาชนะช้อนปลา มีรูปทรงสะดุดตา มีลายสานสะดุดใจ ดูเหมือนว่าความงามจะเด่นชัดกว่าประโยชน์ใช้สอย และเหมือนว่าถ้าจะใช้สอย ก็ไม่น่าจะใช้จับปลา

โฉเฉสานจากผิวไผ่ อธิบายง่ายๆ ว่าสานคล้ายชะลอม แต่สานด้านบนเป็นคอคอดคล้ายคอขวด ที่ปากคอขวดเป็นขดไม้ซึ่งใช้หวายรัดให้แน่น หวายที่รัดนี้เมื่อโดนน้ำจะยิ่งรัดแน่น หากใช้ตอก ตอกมักจะกรอบ

Advertisement

โฉเฉเป็นเครื่องมือทางเลือกแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านมีเครื่องมือหลากหลายและเลือกใช้ในสถานการณ์ที่เหมาะสม

เครื่องมืออย่างโฉเฉใช้ในช่วงหน้าแล้งหรือหน้าฝนก็ได้ แต่ต้องใช้ยามที่ปลามีปัญหาช่วงปรับตัวกับสภาพแวดล้อม กับใช้เมื่อผู้คนสร้างสถานการณ์จับปลา

ช่วงหน้าแล้งราวๆ เดือนเมษายนถึงมิถุนายน น้ำจะลดงวด หนองบึงมีหญ้ารก ชาวบ้านจะฟันหญ้าให้เป็นวงกว้างราวๆ 6-7 เมตร นำหญ้าขึ้นมากองตามขอบ ใช้เท้าเหยียบย่ำให้แน่น ปลาจะอยู่ภายในวงหญ้า แล้วจึงใช้โฉเฉช้อนปลา ถ้าไม่อยากก้มบ่อยๆ บางคนจะเสริมด้ามไม้ใช้สะดวกสบายขึ้น

ปลาที่ช้อนได้มักเป็นปลาค้าว ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาดุก ปลาช่อน เป็นต้น

มีเครื่องมือจับปลายอีกหลายชนิดที่น่าจะใช้ในนสภาพการณ์นี้ได้ แต่ชาวบ้านก็เลือกที่จะใช้โฉเฉ อธิบายได้ว่าโฉเฉคือการช้อน ส่วนสุ่มคือการครอบแล้วใช้มือควาน ซึ่งบ่อยครั้งที่ควานสุ่มแล้วได้งูเห่า การช้อนจึงปลอดภัยกว่าการสุ่ม เครื่องมือด้ามยาวมีเหล็กแหลมแทงปลาอย่างฉมวกก็ดี อย่างกรบก็ดี ก็สะดวกดี แต่ได้ปลามีแผลเต็มตัว หรือได้ปลาตายต้องรีบทำกิน แล้วกรบมักใช้แทงปลาขนาดใหญ่ที่ต้องออกแรงมากกว่า

การใช้ตาข่ายหรือสวิงช้อนปลาในแอ่งหญ้ารกฟันใหม่ๆ มักทำให้ข่ายหรือสวิงข่าย กระทั่งอีโหงเครื่องมือที่ใกล้เคียงโฉเฉที่สุดก็ไม่นำมาใช้

อีโหงสานตาถี่ จับช้อนส่ายไปมาในน้ำจนปลามึนงง แล้วช้อนปลาขึ้น ลายสานถี่ทำให้ได้ปลาเล็กปลาน้อยดังที่ตั้งใจ ส่วนโฉเฉต้องการปลาขนาดใหญ่กว่าจึงสานช่อใหญ่กว่า ซึ่งการสานห่างจะต้านน้ำน้อยกว่าการสานถี่ ทำให้ได้เครื่องมือถึงตัวปลาได้เร็ว ชาวบ้านอธิบายว่าปลาไม่ทันรับแรงกระเพื่อมของน้ำ ก็ถูกช้อนตัวไปแล้ว

choche-2โฉเฉใช้ต่อเนื่องไปจนถึงหน้าฝน ใช้โดยที่ผู้คนไม่ต้องไปสร้างสถานการณ์ดักจับ แต่ใช้ได้เลยเพราะปลาต้องปรับตัวกับช่วงต้นฤดูฝน

ปลายเดือนมิถุนายนต้นเดือนกรกฎาคมฝนเริ่มตก น้ำเริ่มท่วมหญ้าตายหญ้าเน่า น้ำในแหล่งน้ำต้นฤดูจึงขุ่นฝ้า ชาวบ้านอธิบายว่านี่คือน้ำเน่าต้นฝน สังเกตว่าปลาจะลอยหัวเพื่อขึ้นหายใจ จึงใช้โฉเฉช้อนปลาได้ง่ายกว่าปกติ

การช้อนปลาในแหล่งน้ำที่ลึกขึ้น มักพายเรือสวนปลา แล้วใช้โฉเฉหรือโฉเฉมีด้าม ในบางคนที่พัฒนาเครื่องมือเพื่อเพิ่มความสะดวก จะเจาะก้นโฉเฉแล้วเอาตาข่ายรูปทรงกรวยมาสวมไว้ เมื่อช้อนปลาได้ปลาจะไปอยู่ในตาข่าย เมื่อได้หลายตัวแล้วจึงเทปลาออกตรงก้นตาข่ายที่ทำเป็นปากหูรูดเปิด-ปิดได้

แหล่งน้ำลึกแต่แคบไม่ต้องพายเรือก็ได้ โดยใช้หยวกกล้วย 2 ต้น เสียบไม้แหลมจากต้นหนึ่งไปอีกต้นเพื่อเชื่อมกัน มีพื้นที่พอนั่งสบายและหยวกกล้วยคู่จะไม่พลิกเหมือนการใช้ต้นเดียว ถ้าให้นั่งถนัดขึ้นให้หากระดานไม้วางพาดหยวกกล้วยไว้ใช้เท้าแกว่งน้ำย้ายเรือหยวกไปทีละหน่อย ช้อนปลา แล้วย้ายที่ไปเรื่อยๆ

เมื่อหมดช่วงที่ปลาปรับตัวกับน้ำต้นฤดู เครื่องมืออย่างโฉเฉก็ไม่ค่อยได้ใช้งาน มักนำมาล้างหรือใช้ใยมะพร้าวขัดทำความสะอาดผึ่งลมแล้วแขวนเก็บที่ร่ม

ยามน้ำหลากเครื่องมืออย่างอื่นก็ถูกนำมาใช้ จนกว่าจะถึงวัฏจักรแห่งฤดูกาล เมื่อแล้ง เมื่อต้นฝนโฉเฉจึงมีประโยชน์อีกครั้ง

รูปทรงคอคอดทำให้ปลาขดตัวหากกระโจจะติดคอขวด ลายสานแบบชะลอมมีมุมรอบด้าน ทำให้ปลาหลุดลอดยากกว่าลายขัดปกติ เหล่านี้คือความงามที่มีเหตุมีผล และบอกเล่าอะไรได้มากมาย


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2559